Contents

เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง

68,931 views

โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ใช้เป็นลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริง สำหรับคนที่ทำประกันสุขภาพให้ตัวเอง แต่ต้องไม่เกิน ฿25,000 และเมื่อรวมกับ เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป และ เงินฝากแบบมีประกันชีวิต แล้วจะต้องไม่เกิน ฿100,000 ด้วย1

เบี้ยประกันชีวิตสุขภาพตนเอง เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีหลักเกณฑ์การลดหย่อนแตกต่างจากเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแต่มีความเกี่ยวพันกันเนื่องจากต้องใช้เพดานสิทธิ์ลดหย่อน ฿100,000 ร่วมกัน


วิธีกรอกค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพตนเองบนแอป iTAX

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพตนเอง สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ประกันชีวิตสุขภาพ – ตนเอง’
  3. กรอกจำนวนเบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ที่จ่ายตลอดทั้งปี
  4. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพตนเองแล้วให้อัตโนมัติ


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ที่จ่ายไปตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ได้สูงสุดปีละไม่เกิน ฿25,000 และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปและเงินฝากแบบมีประกันชีวิต จะต้องไม่เกิน ฿100,000 ด้วย

เงื่อนไขการรับสิทธิ

เราจะสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพตนเองมาหักลดหย่อนได้ ถ้าเป็นการคุ้มครองการประกันสุขภาพที่รับประกันโดยบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในไทยที่คุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่2

  • การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  • การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลการทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  • การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
  • การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป คุณต้องแจ้งความประสงค์กับบริษัทประกันด้วยว่าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี3 เนื่องจากบริษัทประกันเองก็มีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลการใช้สิทธิของคุณให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 7 มกราคมของทุกปีด้วยเช่นกัน4 (ดูช่องทางแจ้งขอใช้สิทธิของแต่ละบริษัท)

สามารถดูรายชื่อประกันสุขภาพที่ลดหย่อนภาษีได้ที่ iTAX shop

หลักฐานที่ต้องใช้

  • ใบเสร็จหรือหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ระบุข้อความต่อไปนี้
  • ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้มีเงินได้และจ่ายเบี้ยประกันจากเงินได้นั้น
  • ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทประกัน
  • จำนวนเบี้ยประกันสำหรับการประกันสุขภาพ
  • จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • บริษัทประกันบางแห่ง แจ้งกับลูกค้าว่าการขอหนังสือรับรองการชำระเบี้ยสุขภาพต้องขออนุมัติจากสำนักงาน คปภ. ก่อน จึงจะได้สิทธิลดหย่อนภาษี  ซึ่งเรื่องนี้สำนักงาน คปภ. ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง สำหรับปีภาษี 2560 นี้ เพียงแต่มีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการยื่นภาษีก็เพียงพอแล้ว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 11865
  • สำหรับการใช้สิทธิลดหย่อนปีภาษี 2561 เป็นต้นไป แม้กฎหมายจะกำหนดให้ต้องแจ้งความประสงค์การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้บริษัทประกันทราบเพื่อส่งข้อมูลเบี้ยประกันสุขภาพให้แก่กรมสรรพากรอีกที แต่กระบวนการมีเพียงแค่แจ้งความประสงค์ตามแบบฟอร์มที่ได้รับจากบริษัทประกันก็พอแล้ว ซึ่งจะช่วยให้เวลายื่นภาษีจริงไม่ต้องใช้หลักฐานประกอบการยื่นขอลดหย่อนภาษีอีก

หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ต้องการซื้อประกันสุขภาพ และต้องการใช้ ประกันสุขภาพเพื่อการลดหย่อนภาษี อย่าลืมแจ้งบริษัทประกันว่าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย และหากคุณไม่แน่ใจว่า ประกันสุขภาพจากบริษัทไหนดีที่สุด หรือ กำลังมองหาแผนประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี แต่ไม่รู้ว่าจะต้องเลือกแบบไหนดี? คุณสามารถค้นหาแผนประกันสุขภาพที่เหมาะกับคุณได้ที่ iTAX shop ที่ๆ จะทำให้คุณได้เจอแผนประกันที่ตรงความต้องการ และตัวแทนมืออาชีพอย่างแน่นอน เรารับประกัน!

ซื้อประกันสุขภาพตัวไหนดี?

มาตรวจสอบผลประโยชน์ของประกันสุขภาพยี่ห้อต่างๆ กันไหม?

เปรียบเทียบแบบประกัน


อ้างอิง

  1. ^

    กฎกระทรวงฉบับที่ 365 (พ.ศ. 2563) และ ข้อ 2(97) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  2. ^

    ข้อ 2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 315)

  3. ^

    ข้อ 3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 315)

  4. ^

    ข้อ 4 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 315)

  5. ^

    ข่าวประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) www.oic.or.th