Contents
ค่าลดหย่อน (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)
915,611 views
โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
แอป iTAX คำนวณภาษี 2567
ตัวช่วยคำนวณภาษี รองรับค่าลดหย่อนทุกรายการ โหลดฟรี!
คุณมีสิทธิลดหย่อนอะไรบ้าง?
ให้ iTAX ช่วยเปรียบเทียบตัวเลือกลดหย่อนภาษีที่ดีที่สุดให้คุณได้เลย!
ค่าลดหย่อน คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลงเมื่อ คำนวณภาษี หรืออาจช่วยให้ได้เงินคืนภาษีเพิ่มขึ้น
ประมวลรัษฎากร เปิดช่องให้เราสามารถหักลดหย่อนภาษี ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับสถานะโดยรวมของเราแต่จะไม่เกี่ยวข้องกับเงินได้ที่เราหามาได้ เช่น มีครอบครัวรึยัง ทำประกันชีวิตไว้ไหม กู้เงินซื้อบ้านรึเปล่า เป็นต้น
ค่าลดหย่อนต่างๆ ไม่ได้อยู่แค่ในประมวลรัษฎากรเท่านั้น แต่จะกระจายอยู่ในกฎหมายลูกหลานอื่นๆ ด้วย เช่น กฎกระทรวง ประกาศอธิบดี ฯลฯ
รวม ค่าลดหย่อน ปีภาษี 2567
รายการที่ลดหย่อนได้ | อัตราค่าลดหย่อน |
---|---|
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว | ฿60,000 |
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส | คนละ ฿60,000 และกฎหมายอนุญาตให้มีได้สูงสุด 1 คน |
3. ค่าลดหย่อนบุตร | คนละ ฿30,000 – ฿60,000 |
4. ค่าลดหย่อนบิดามารดา | คนละ ฿30,000 |
5. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ | คนละ ฿60,000 |
6. ค่าฝากครรภ์และทำคลอด | ตามที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินท้องละ ฿60,000 |
7. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป/เงินฝากแบบมีประกันชีวิต | ตามที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน ฿100,000 (คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿10,000) |
8. เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿15,000 |
9. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿25,000 และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน ฿100,000 |
10. กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน / กบข. | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน กรณี กบข. ได้สูงสุด 30% ของเงินเดือน และเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน ฿500,000 |
11. ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับข้อ 10. แล้วไม่เกิน ฿500,000 |
12. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน ฿200,000 และเมื่อรวมกับข้อ 10. และ RMF แล้วต้องไม่เกิน ฿500,000 |
13. เงินประกันสังคม | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿9,000 |
14. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿30,000 และเมื่อรวมกับ ข้อ 10. และ RMF และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน ฿500,000 |
15. ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน ฿200,000 และเมื่อรวมกับข้อ 10. และ RMF และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ และ กอช. แล้วต้องไม่เกิน ฿500,000 |
16. ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿100,000 |
17. เงินบริจาคพรรคการเมือง | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿10,000 |
18. เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿100,000 |
19. ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt 2567 | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿50,000 |
20. ค่าซื้อกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน ฿300,000 |
21. ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง 2567 (รอประกาศเป็นกฎหมาย) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿15,000 |
22. ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568 | ฿10,000 ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุกหนึ่งล้านบาท แต่รวมแล้วไม่เกิน ฿100,000 |
23. ค่าซ่อมแซมบ้านน้ำท่วม 2567 | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿100,000 |
24. ค่าซ่อมแซมรถน้ำท่วม 2567 | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿30,000 |
25. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ | 2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนตั้งแต่ ข้อ 1. ถึง 24. |
26. เงินบริจาคทั่วไป | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนตั้งแต่ ข้อ 1. ถึง 25. |
รายการยกเว้นภาษีแบบพิเศษ
- เครดิตภาษีเงินปันผล ใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล
- สิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้ยกเว้นเงินได้ ฿190,000 แรก
รวม ค่าลดหย่อน ปีภาษี 2568
รายการที่ลดหย่อนได้ | อัตราค่าลดหย่อน |
---|---|
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว | ฿60,000 |
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส | คนละ ฿60,000 และกฎหมายอนุญาตให้มีได้สูงสุด 1 คน |
3. ค่าลดหย่อนบุตร | คนละ ฿30,000 – ฿60,000 |
4. ค่าลดหย่อนบิดามารดา | คนละ ฿30,000 |
5. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ | คนละ ฿60,000 |
6. ค่าฝากครรภ์และทำคลอด | ตามที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินท้องละ ฿60,000 |
7. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป/เงินฝากแบบมีประกันชีวิต | ตามที่จ่ายจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน ฿100,000 (คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿10,000) |
8. เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿15,000 |
9. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿25,000 และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน ฿100,000 |
10. กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน / กบข. | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือน กรณี กบข. ได้สูงสุด 30% ของเงินเดือน และเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน ฿500,000 |
11. ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับข้อ 10. แล้วไม่เกิน ฿500,000 |
12. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน ฿200,000 และเมื่อรวมกับข้อ 10. และ RMF แล้วต้องไม่เกิน ฿500,000 |
13. เงินประกันสังคม | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿9,000 |
14. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿30,000 และเมื่อรวมกับ ข้อ 10. และ RMF และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน ฿500,000 |
15. ดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿100,000 |
16. เงินบริจาคพรรคการเมือง | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿10,000 |
17. เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿100,000 |
18. ค่าซื้อกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน ฿฿300,000 |
19. ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568 | ฿10,000 ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุกหนึ่งล้านบาท แต่รวมแล้วไม่เกิน ฿100,000 |
20. ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt 2.0 (2568) | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ฿50,000 |
21. เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ | 2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนตั้งแต่ ข้อ 1. ถึง 20. |
22. เงินบริจาคทั่วไป | ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนตั้งแต่ ข้อ 1. ถึง 21. |
รายการยกเว้นภาษีแบบพิเศษ
- เครดิตภาษีเงินปันผล ใช้ยกเว้นภาษีได้ตามสัดส่วนที่ได้รับจากเงินปันผล
- สิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ได้ยกเว้นเงินได้ ฿190,000 แรก
เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย
- หลายคนเข้าใจผิดว่าค่าลดหย่อนเมื่อจ่ายไปแล้วจะเสียภาษีน้อยลงตามจำนวนที่จ่ายไป เช่น ใช้สิทธิลดหย่อน ฿1,000 แล้วจะได้เสียภาษีถูกลง ฿1,000 เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะเสียภาษีน้อยลงหรือได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากขึ้นอยู่กับจำนวน เงินได้ และ อัตราภาษี ของแต่ละคนด้วย
- หลายคนมักเข้าใจผิดว่าค่าลดหย่อนภาษี คือ เงินคืนภาษีที่จะได้รับเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะแม้ค่าลดหย่อนภาษีจะช่วยประหยัดภาษีได้จริง แต่จะได้เงินคืนภาษีมากหรือน้อยเท่าไหร่นั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนรายได้และอัตราภาษีของแต่ละคนด้วย เช่น ถ้ามีเงินได้สุทธิเกิน 5 ล้านบาทต่อปี จะเสียภาษีในอัตรา 35% แสดงว่าถ้าได้รับค่าลดหย่อน ฿1,000 จะประหยัดภาษีเพิ่มได้ ฿350 แต่ถ้ามีเงินได้สุทธิไม่เกิน ฿150,000 จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แบบนี้ต่อให้ได้รับค่าลดหย่อน ฿1,000 ก็ไม่ช่วยให้ประหยัดภาษีเพิ่มแต่อย่างใด เพราะไม่ได้เสียภาษีแต่แรกอยู่แล้ว
- หลายคนมักเข้าใจผิดว่า สิทธิประโยชน์ภาษีจำนวน ฿190,000 ของผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปหรือผู้พิการนั้นเป็น “ค่าลดหย่อน” แต่ความจริงแล้วกฎหมายระบุ ว่าสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเป็นการยกเว้นรายได้ให้ผู้มีเงินได้อายุ 65 ปีหรือผู้พิการสำหรับรายได้ ฿190,000 แรก ดังนั้น สิทธิประโยชน์นี้จึงควรเรียกว่า “เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี” มากกว่า
- หลายคนสับสนระหว่างคำว่า ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อน ว่าเป็นคำเดียวกัน แต่ความจริงแล้วสองคำนี้มีความหมายต่างกัน กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายคือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายมอบให้โดยขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ที่คุณได้รับ เช่น มีรายได้จากงานประจำจะหักค่าใช้จ่ายได้แบบนึง แต่ถ้ามีรายได้จากดอกเบี้ยจะหักค่าใช้จ่ายไม่ได้เลย ในขณะที่ ค่าลดหย่อน คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายมอบให้ โดยขึ้นอยู่กับสถานภาพและภาระของตัวผู้เสียภาษีคนนั้นๆ เช่น มีภาระดูแลพ่อแม่ มีภาระจ่ายดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัย หรือ จ่ายเบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น
แอป iTAX คำนวณภาษี 2567
ตัวช่วยคำนวณภาษี รองรับค่าลดหย่อนทุกรายการ โหลดฟรี!