Contents

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

187,480 views

โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีประเภทหนึ่งตาม ประมวลรัษฎากร โดยมี บุคคลธรรมดา เป็น ผู้เสียภาษี เมื่อตัวเองมีรายได้ ยิ่งมีเงินได้มาก อัตราภาษีจะยิ่งสูงแบบขั้นบันได ซึ่งปัจจุบัน อัตราภาษี สูงสุดอยู่ที่ 35% โดยมี กรมสรรพากร เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบการจัดเก็บ


แหล่งเงินได้

ผู้มีแหล่งเงินได้ในไทย

ถ้าคุณรายได้ในประเทศไทย เช่น ทำงานในไทย หรือมีกิจการในไทย หรือมีทรัพย์สินในไทย จะต้องเสียภาษีให้ประเทศไทยด้วย ไม่ว่าเงินนั้นจะจ่ายในประเทศหรือนอกประเทศ และไม่ว่าคุณจะเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม1

ผู้มีแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ

หลักถิ่นที่อยู่ (อัพเดทล่าสุด 2567)

หลักถิ่นที่อยู่ 2567 จะปรับใช้สำหรับรายได้จากต่างประเทศที่นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป2

ถ้าคุณมีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ เช่น ทำงานต่างประเทศ หรือลงทุนอยู่ที่ต่างประเทศ อาจต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ประเทศไทยด้วยถ้าเข้าองค์ประกอบต่อไปนี้

1) อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วัน (เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย)ในปีภาษีนั้น (ปีปฏิทิน นับตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. ของปีนั้น) และ

2) นำรายได้จากต่างประเทศนั้นเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่ารายได้นั้นจะนำเข้ามาในปีภาษีเดียวกันกับปีที่มีรายได้ด้วยหรือไม่ก็ตาม 3

ดังนั้น หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น เงินได้จากต่างประเทศดังกล่าวจะไม่ต้องเสียภาษีในไทยเลย เช่น ปีใดที่ผู้มีเงินได้อยู่ในไทยไม่ถึง 180 วัน แม้จะมีเงินได้จากต่างประเทศในปีดังกล่าว หากภายหลังนำเข้ามาในประเทศไทยก็ไม่ต้องนำมายื่นภาษี เป็นต้น

ทั้งนี้ หากนำรายได้จากต่างประเทศนั้นเข้ามาในประเทศไทย ให้นำมายื่นภาษีปีนั้น4 ส่วนรายได้จากต่างประเทศที่เกิดขึ้นภายในปี 2566 หรือก่อนหน้านั้น แม้จะนำเข้ามาในประเทศไทยในปี 2567 เป็นต้นไป จะยังได้รับยกเว้นไม่ต้องเข้าเกณฑ์ใหม่แต่อย่างใด5

อย่างไรก็ตาม อนุสัญญาภาษีซ้อน ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนระหว่างประเทศได้เช่นกัน

หากคุณไม่แน่ใจว่ารายได้ที่คุณมีในปีภาษีนั้นๆ เป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่? ต้องเสียภาษีมากน้อยแค่ไหน? เราแนะนำให้คุณเริ่มต้นคำนวณภาษีแต่เนิ่นๆ เพื่อเป็นการเตรียมตัวและจะได้มีเวลาสำหรับวางแผนลดหย่อนภาษีที่ดีมากพอ และหากคุณไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นคำนวณภาษีได้ที่ไหน สามารถเริ่มต้นคำนวณภาษี คำนวณภาษีได้ฟรีในรูปแบบ Application ทั้งบนระบบ iOS และ Android


เรื่องที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 41 วรรคสองและวรรคท้าย ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    ข้อ 3 คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566

  3. ^

    มาตรา 41 วรรคสองและวรรคท้าย ประมวลรัษฎากร, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566

  4. ^

    ข้อ 1 คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566

  5. ^

    คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.162/2566