Contents

เงินบริจาคพรรคการเมือง

24,533 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เงินบริจาคพรรคการเมือง ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ฿10,0001 โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป

เงินบริจาคพรรคการเมือง ฿10,000 นี้เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

หมายเหตุ: ระวังสับสนกับการใช้สิทธิเลือกให้เงินภาษีสูงสุด ฿500 ไปอุดหนุนแก่พรรคการเมืองตอนยื่นภาษีประจำปี


วิธีกรอกค่าลดหย่อนเงินบริจาคพรรคการเมืองบนแอป iTAX

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนเงินบริจาคพรรคการเมืองสามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘บริจาคพรรคการเมือง’
  3. กรอกจำนวนเงินที่เงินบริจาคให้พรรคการเมืองที่จ่ายตลอดทั้งปี
  4. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนเงินบริจาคพรรคการเมืองแล้วให้อัตโนมัติ


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ผู้บริจาคเงินให้พรรคการเมืองสามารถนำเงินบริจาคหรือการสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองไปใช้เป็นค่าลดหย่อน ได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน ฿10,0002

ทั้งนี้ ถ้าบริจาคให้หลายพรรค คุณสามารถรวมเงินบริจาคย่อยๆ ทุกจำนวนจากทุกพรรคมาหักลดหย่อนได้ แต่เมื่อรวมแล้วจะนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน ฿10,0003

เงื่อนไขการรับสิทธิ

คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนเงินบริจาคพรรคการเมืองได้สูงสุด ฿10,000 ได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้

  • มีสัญชาติไทย4
  • ถ้าบริจาคด้วยเงินสามารถทำได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าบริจาคด้วยทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เงิน จะต้องบริจาคสนับสนุนเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุนเท่านั้น5

ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ที่ลดหย่อนภาษีได้

การบริจาคด้วยทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินจะต้องบริจาคสนับสนุนเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุนเท่านั้น6 ซึ่งทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ที่นำไปลดหย่อนภาษีได้จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย สามารถนำไปลดหย่อนบริจาคพรรคการเมืองได้หากสนับสนุนในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุน โดยการคำนวณมูลค่าให้ถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น7

  • รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย

รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย สามารถนำไปลดหย่อนบริจาคพรรคการเมืองได้หากสนับสนุนในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุน โดยการคำนวณมูลค่าให้ใช้ราคาประเมินราคารถสำหรับปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ในการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายรถดังกล่าวที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้คำนวณมูลค่าตามราคาเฉลี่ยระหว่างราคาประเมินสูงสุดและราคาประเมินต่ำสุดของราคาประเมินรถนั้น

แต่ถ้าไม่มีมูลค่าตามราคาประเมิน ให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคล หรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น8

  • เรือหรือเครื่องบิน

เรือหรือเครื่องบิน สามารถนำไปลดหย่อนบริจาคพรรคการเมืองได้หากสนับสนุนในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุน โดยการคำนวณมูลค่าให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคล หรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้น9

  • สินค้า

สินค้าไม่ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตเองหรือซื้อมาเพื่อขาย สามารถนำไปลดหย่อนบริจาคพรรคการเมืองได้หากสนับสนุนในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุน โดยการคำนวณมูลค่าให้ถือเอามูลค่าต้นทุนของสินค้า ดังกล่าวที่มีหลักฐานสามารถพิสูจน์ได้เป็นมูลค่าของสินค้าท่ีผู้มีเงินได้มีสิทธินามาหักลดหย่อน แต่มูลค่าดังกล่าว ต้องไม่เกินราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ให้สินค้าเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง10

  • ทรัพย์สินอื่น

ทรัพย์สินอื่นต้องเป็นทรัพย์สินที่ซื้อมาในปีเดียวกับปีภาษีท่ีใช้สิทธิหักลดหย่อน จึงจะสามารถนำไปลดหย่อนบริจาคพรรคการเมืองได้หากสนับสนุนในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุน โดยการคำนวณมูลค่าให้ถือมูลค่าตามหลักฐานการได้มาของทรัพย์สินเป็นมูลค่าที่ผู้มีเงินได้มีสิทธินำมาหักลดหย่อน แต่มูลค่าดังกล่าวต้องไม่เกินราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ให้ทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง11

  • การให้บริการเช่าหรือใช้พื้นที่อาคารหรือสถานที่

การให้บริการเช่าหรือใช้พื้นที่อาคารหรือสถานที่ใดๆ สามารถนำไปลดหย่อนบริจาคพรรคการเมืองได้หากสนับสนุนในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุน และต้องเป็นประโยชน์ที่เป็นการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง โดยการคำนวณมูลค่าให้ถือราคาหรือ
ค่าอันพึงมีในวันที่พรรคการเมืองได้ใช้บริการนั้น12

  • การให้บริการใช้ยานพาหนะ

การให้บริการใช้ยานพาหนะ สามารถนำไปลดหย่อนบริจาคพรรคการเมืองได้หากสนับสนุนในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุน และต้องเป็นประโยชน์ที่เป็นการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง โดยการคำนวณมูลค่าให้ถือราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่พรรคการเมืองได้ใช้บริการนั้น13

หลักฐานที่ต้องใช้

1. บริจาคเป็นเงิน : ใบเสร็จรับเงิน (แบบ พ.ก. 11) ที่ออกโดยพรรคการเมือง14

2. สนับสนุนในช่วงระยะเวลาที่พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุนด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เงิน ใบเสร็จรับเงิน (แบบ พ.ก. 9) ที่ออกโดยพรรคการเมือง15 และ

  • กรณีสนับสนุนด้วยอสังหาริมทรัพย์ หลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เช่น สัญญาโอนทรัพย์สิน โฉนดที่ดิน หรือเอกสารสิทธิ16
  • กรณีสนับสนุนด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ หรือเครื่องบิน หลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เช่น หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ หลักฐานการจดทะเบียนเรือ หรืออากาศยาน17
  • กรณีสนับสนุนด้วยสินค้า หลักฐานแสดงมูลค่าต้นทุนของสินค้าที่พิสูจน์ได้18
  • กรณีสนับสนุนด้วยทรัพย์สินอื่น หลักฐานแสดงการได้มาของทรัพย์สินที่ระบุจำนวน มูลค่า และวัน เดือน ปี ที่ได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้น19
  • กรณีสนับสนุนด้วยผลประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือเงิน หลักฐานที่แสดงหรือพิสูจน์ถึงมูลค่าของการให้บริการซึ่งเป็นประโยชน์อื่นใดนั้น เช่น ใบแจ้งราคาค่าบริการตามปกติทางการค้าหรือหลักฐานที่พิสูจน์ถึงมูลค่าหรืออัตราค่าบริการในช่วงระยะเวลาที่ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง เป็นต้น20

เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 47(ฏ) ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    ข้อ 3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  3. ^

    ข้อ 3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  4. ^

    ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  5. ^

    ข้อ 2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  6. ^

    ข้อ 2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  7. ^

    ข้อ 4 (1) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  8. ^

    ข้อ 4 (2) (ก) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  9. ^

    ข้อ 4 (2) (ก) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  10. ^

    ข้อ 4 (3) (ข) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  11. ^

    ข้อ 4 (3) (ก) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  12. ^

    ข้อ 5 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  13. ^

    ข้อ 5 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  14. ^

    ข้อ 6 (1) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  15. ^

    ข้อ 6 (2) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  16. ^

    ข้อ 6 (2) (ก) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  17. ^

    ข้อ 6 (2) (ก) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  18. ^

    ข้อ 6 (2) (ข) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  19. ^

    ข้อ 6 (2) (ข) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)

  20. ^

    ข้อ 6 (2) (ค) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 357)