Contents

ดอกเบี้ยบ้าน

143,215 views

โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ดอกเบี้ยบ้าน หรือที่เรียกชื่อเต็มว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ใช้เป็น ค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ ฿100,000 สำหรับคนที่กู้เงินซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย1 ซึ่งจะเป็นบ้านเดี่ยว, คอนโด, ห้องชุด หรืออาคาร ก็ได้

ดอกเบี้ยบ้าน เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


วิธีกรอกค่าลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านบนแอป iTAX

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านสามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ดอกเบี้ยบ้าน’
  3. กรอกจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยบ้านที่จ่ายตลอดทั้งปี
  4. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านแล้วให้อัตโนมัติ


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

คนที่กู้เงินซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยสามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้นั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน ฿100,000 ทั้งนี้อาจเป็นการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่งก็ได้

อนึ่ง ถ้ามีคนร่วมกู้กับคุณด้วย (เช่น พี่ เพื่อน หรือคู่สมรสที่แยกยื่นภาษี) สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะเฉลี่ยตามจำนวนคนที่ร่วมกู้ เช่น จ่ายดอกเบี้ยบ้านไปจริง ฿100,000 และมีคนกู้ร่วมกัน 2 คน แต่ละคนจะมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านได้คนละ ฿50,000 (ดอกเบี้ยบ้าน ฿100,000 ÷ 2 คน) โดยไม่สนใจว่าผู้กู้ร่วมจะมีเงินได้หรือไม่หรือจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านนี้หรือไม่2

แต่การมีคนร่วมกู้กับคุณด้วย ไม่ว่าจะจ่ายดอกเบี้ยจริงเท่าใด สิทธิประโยชน์ที่ได้รับเมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน ฿100,000 อยู่ดี

เช่น จ่ายดอกเบี้ยบ้านไปจริง ฿120,000 และมีคนกู้ร่วมกัน 2 คน สิทธิ์หักลดหย่อนจะถูกจำกัดไว้ไม่เกิน ฿100,000 ดังนั้น แต่ละคนจึงมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านได้เพียงคนละ ฿50,000 (ดอกเบี้ยบ้าน ฿100,000 ÷ 2 คน)3

เงื่อนไขการรับสิทธิ

คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี

  • คุณนำบ้านไปจำนองเพื่อค้ำประกันหนี้ ค่าซื้อหรือสร้างบ้านหลังดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นบ้านใหม่หรือบ้านมือสอง (หนี้ในที่นี้รวมถึงเงินกู้ก้อนใหม่ที่คุณกู้มาเพื่อเคลียร์หนี้ที่อยู่อาศัยก้อนเดิมด้วย)
  • คุณต้องอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นว่านายจ้างสั่งให้คุณไปประจำอยู่ที่อื่นหรือมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้อยู่อาศัยบ้านนั้นไม่ได้จริงๆ เช่น ไฟไหม้ ภัยธรรมชาติ
  • เจ้าหนี้จำนองต้องเป็นสถาบันการเงิน หรือผู้ที่กฎหมายอนุญาต เช่น ธนาคาร, นายจ้างที่มีกองทุนสวัสดิการให้กู้ซื้อบ้าน, กองทุน กบข. เป็นต้น
  • ระยะเวลาจำนอง ต้องเท่ากับระยะเวลากู้ยืมด้วย
  • ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป คุณต้องแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบด้วยว่าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน4

หลักฐานที่ต้องใช้

  • สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน และ
  • หนังสือรับรองหลักฐานการจ่ายดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยจากเจ้าหนี้จำนอง

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • ถ้าสามีไม่ได้มีชื่อเป็นผู้กู้ร่วมกับภรรยา หลายคนเข้าใจผิดว่าสามียังมีสิทธิลดหย่อนด้วย เพราะความเป็นจริงแล้วสามีจะไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยบ้านของภรรยามาหักลดหย่อนภาษีได้
  • ถ้าสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ แล้วทำสัญญากู้ซื้อบ้านร่วมกับน้องชาย (กู้รวม 3 คน) หลายคนเข้าใจผิดว่าต่างคนต่างได้สิทธิลดหย่อนเต็มจำนวน แต่ความจริงแล้วทั้ง 3 คนจะต้องเฉลี่ยค่าลดหย่อนตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ที่กู้ร่วม (หาร 3)  รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เช่น ดอกเบี้ยบ้าน 120,000 บาท กู้ร่วม 3 คน จะใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยคนละ 33,333.33 บาทเท่านั้น
  • แม้สามีจะจ่ายดอกเบี้ยบ้านจริงๆ มากกว่าภริยา หลายคนเข้าใจผิดว่าสามีสามารถหักลดหย่อนมากกว่าภริยาได้ เพราะความจริงแล้วกฎหมายให้สามีใช้สิทธิหักลดหย่อนจะได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
  • การกู้เงินเพื่อนำมาซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้าน ไม่ใช่ค่าซื้อหรือสร้างบ้าน จึงไม่สามารถนำดอกเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้

อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 47(1)(ซ) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(52),(53),(59) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  2. ^

    ข้อ 2(7) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 165), ข้อ 2(7) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166), ข้อ 2(7) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 167)

  3. ^

    ข้อ 2(7) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 165), ข้อ 2(7) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166), ข้อ 2(7) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 167)

  4. ^

    ข้อ 4 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86)