Contents
ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt
โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt (ชื่อเดิม E-Refund) หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า “ค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ” ใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง (รวม VAT แล้ว) แต่สูงสุดไม่เกิน ฿50,000 เฉพาะการซื้อสินค้าหรือบริการที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากระบบของกรมสรรพากร1
ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt 2567 เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
ผู้ที่จ่ายเงินสำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้ผู้ประกอบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบกิจการขาย หนังสือ (รวมถึง e-book) และสินค้า OTOP ภายในประเทศ ใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน ฿50,000 (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) เฉพาะการซื้อสินค้าหรือบริการที่มีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากระบบของกรมสรรพากร2 หากซื้อสินค้า/บริการแล้วได้รับส่วนลด ให้ลดหย่อนได้ตามราคาที่จ่ายจริงหลังหักส่วนลดแล้ว
ทั้งนี้ คุณสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร etax.rd.go.th
ในกรณีสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีรายได้ ต่างฝ่ายสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดคนละ ฿50,0003
ทั้งนี้ ถ้ามีค่าซื้อสินค้าหลายรายการ คุณสามารถรวมค่าซื้อสินค้าย่อยๆ ทุกจำนวนมาหักลดหย่อนได้แต่เมื่อรวมแล้วจะนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน ฿50,000
เงื่อนไขการรับสิทธิ
คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนค่าลดหย่อน Easy E-Receipt สูงสุด ฿50,000 ได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้
- เป็นการซื้อสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นระหว่าง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567
- เป็นสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเป็นสินค้าประเภทหนังสือ (รวมถึง e-book) และ สินค้า OTOP
อนึ่ง แม้เป็นบุคคลต่างชาติ แต่ถ้าต้องยื่นภาษีในไทยก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt ได้
สินค้าและบริการที่ลดหย่อนภาษีได้
1. สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
โดยปกติสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีใบกำกับภาษีออกมาพร้อมกันด้วย ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt จะต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่ปรากฏชื่อและข้อมูลผู้ซื้อด้วยเท่านั้น4 (ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีแบบกระดาษได้)
ตัวอย่างสินค้าหรือบริการที่ลดหย่อน Easy E-Receipt 2567 ได้ เช่น เติมน้ำมันรถยนต์ คอมพิวเตอร์ เสื้อผ้าแบรนด์เนม ของใช้ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
2. หนังสือ (รวมถึง e-book)
หนังสือ และ e-book ในที่นี้ รวมถึงนิตยสารและหนังสือพิมพ์ โดยผู้ขายต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่านั้น (เจ้าของร้านหนังสือเป็นบุคคลธรรมดาใช้ลดหย่อนไม่ได้) ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt จะต้องใช้ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Receipt) ที่ปรากฏชื่อและข้อมูลผู้ซื้อด้วยเท่านั้น5
3. สินค้า OTOP
สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ลดหย่อนภาษีได้จะต้องเป็นสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว และต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Receipt) ตามมาตรฐานของกรมสรรพากร โดยจะเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ แต่ผู้ขายต้องระบุข้อความในใบเสร็จฯ ที่แสดงว่าสินค้านั้นเป็นสินค้า OTOP ในแต่ละรายการสินค้า หรือจัดทำเครื่องหมายแสดงในแต่ละรายการสินค้าที่เป็นสินค้า OTOP และมีข้อความที่แสดงว่าเครื่องหมายนั้น เป็น สินค้า OTOP เช่น “OTOP” “โอทอป” หรือ “One Tambon One Product” หรือข้อความอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน67
ตัวอย่างรายการสินค้า และบริการ ที่ลดหย่อน Easy E-Receipt 2567 ได้ (สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567)
คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์
Studio7 (✓ ออก e-Tax invoice ได้) | |
AIS (✓ ออก e-Tax invoice ได้) | |
BaNANA (✓ ออก e-Tax invoice ได้) | |
Toshiba Thailand Shopping (✓ ออก e-Tax invoice ได้) |
เสื้อผ้า แฟชั่น
New Central Online (✓ ออก e-Tax invoice ได้) | |
True Shopping (✓ ออก e-Tax invoice ได้) |
ของใช้ในบ้าน
OfficeMate (✓ ออก e-Tax invoice ได้) | |
Tops Online (✓ ออก e-Tax invoice ได้) | |
Big C (✓ ออก e-Tax invoice ได้) |
หนังสือ และ e-book
นายอินทร์ (✓ ออก e-Tax invoice ได้) | |
SE-ED (✓ ออก e-Tax invoice ได้) | |
B2S (✓ ออก e-Tax invoice ได้) |
หมายเหตุ: หากคุณกด link และซื้อสินค้าจากร้านค้าเหล่านี้ ทาง iTAX อาจได้รับส่วนแบ่งตามมูลค่าสินค้าที่คุณสั่งซื้อ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถให้บริการต่อไปได้
สินค้าและบริการที่ไม่ได้รับสิทธิลดหย่อน
สินค้าและบริการต่อไปนี้ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับสิทธิลดหย่อน Easy Receipt แม้ผู้ประกอบการจะสามารถออก E-tax invoice หรือ E-receipt ได้ก็ตาม8
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลัง 15 กุมภาพันธ์ 2567 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ก็ตาม
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
นอกจากนี้ สินค้าและบริการต่อไปนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์ใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt ได้
- ทองคำแท่ง
- ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าทำศัลยกรรม
- ผักผลไม้สด
- เนื้อสัตว์สด
- หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์
- บัตรของขวัญ (Gift Voucher) ที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้า
ข้อสังเกตเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ใช้สิทธิลดหย่อน ‘Easy E-Receipt’ ได้
- หากร้านค้านั้นไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) สินค้าและบริการที่ร้านนั้นขายจะไม่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ยกเว้น เป็นการขายหนังสือ, e-book หรือเป็นสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนเท่านั้น
- หากร้านค้านั้นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แม้จะขายในรูปแบบบริการอย่างเดียว หากบริการนั้นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สปา คาราโอเกะ อาบอบนวด ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ค่าธรรมเนียมเทรดหุ้น และค่าธรรมเนียมซื้อกองทุนรวม (Front-end fee) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนรวม (Management fee) ลดหย่อนภาษีไม่ได้
- ค่าซื้อทองรูปพรรณ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะส่วนที่เป็นค่ากำเหน็จหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ตัวทองคำเองไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
- ยารักษาโรค อาหารเสริม ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ค่าบริการทางแพทย์ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม โดยปกติจะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
- ค่าที่พักในโรงแรมไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ค่าอาหารและเครื่องดื่มในโรงแรม (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้
- ค่าซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการ และนำบัตรไปใช้บริการในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ ค่าบริการเช่ารถยนต์ ค่าซ่อมรถ/เปลี่ยนยางรถยนต์ที่รับบริการและแล้วเสร็จในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ถ้ารับบริการก่อนหรือหลังช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่สามารถลดหย่อนได้
- อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน เช่น iPhone, iPad, MacBook ไม่ว่าจะซื้อราคาเต็ม หรือซื้อจาก Outlet ก็สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้
- สินค้าที่ซื้อจากร้าน Duty Free หากเป็นสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและออก e-Tax invoice ได้ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้
- รายการที่ซื้อจะสะสมหลายใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีหลายใบ หรืออยู่ในใบเดียวกันก็ได้ แต่ถ้ายอดซื้อเกิน 50,000 บาท (รวม VAT แล้ว) จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท
- การซื้อของออนไลน์ เช่น ซื้อผ่าน Shopee, Lazada หรือร้านค้าออนไลน์ต่างๆ จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ ถ้าซื้อจากร้านที่ออกใบกำกับภาษีได้ โปรดตรวจสอบกับผู้ขายให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ
- ในกรณีที่รายการสินค้ามีทั้งเสีย VAT และไม่เสีย VAT อยู่ในใบกำกับภาษีเดียวกัน คุณจะได้สิทธิลดหย่อนเฉพาะสินค้าที่เสีย VAT เท่านั้น เช่น ถ้าซื้อทั้งนมช็อกโกแลต (เสีย VAT) และนมจืด (ไม่เสีย VAT) จะได้สิทธิลดหย่อนเฉพาะนมช็อกโกแลต (เสีย VAT) เท่านั้น
- การซื้อสินค้าและบริการจะจ่ายด้วยเงินสด พร้อมเพย์ บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตก็ได้ขอให้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีลงวันที่ภายใน 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และมีรายละเอียดครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
- ค่าซ่อมรถ สามารถนำมาหักลดหย่อน Easy E-Receipt ได้ หากเป็นการซ่อมและจ่ายค่าซ่อมระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออก e-Tax Invoice ได้
- การซื้อทองรูปพรรณ สามารถนำมาหักลดหย่อน Easy E-Receipt ได้เฉพาะค่ากำเหน็จ (ตามมูลค่าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม) และผู้ประกอบการต้องสามารถออก e-Tax Invoice ได้ด้วย
- ค่าซื้อแพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศ สามารถนำมาหักลดหย่อน Easy E-Receipt ได้ หากเป็นการใช้แพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวระหว่าง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออก e-Tax Invoice ได้
- ค่าที่พักโรงแรม สามารถนำมาหักลดหย่อน Easy E-Receipt ได้หากเป็นการเข้าพักระหว่าง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออก e-Tax Invoice ได้
หลักฐานที่ต้องใช้
1. ซื้อสินค้าและบริการทั่วไป ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเฉพาะแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณ (เลขบัตรประชาชน 13 หลัก) รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย
2. ซื้อหนังสือ (รวมถึง e-book) ใบเสร็จรับเงินเฉพาะแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณ (เลขบัตรประชาชน 13 หลัก) รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย
3. ซื้อสินค้า OTOP ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป/ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice & e-Receipt) ที่ระบุรายการสินค้า OTOP, ข้อมูลผู้ขาย และระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของคุณ (เลขบัตรประชาชน 13 หลัก) รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย
ทั้งนี้ การระบุชื่อที่อยู่ของผู้ซื้อในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี จะระบุตามที่อยู่ตามบัตรประชาชนหรือที่อยู่ปัจจุบันก็ได้ แต่ถึงแม้จะระบุที่อยู่ไม่ถูกต้องก็ยังสามารถใช้หักลดหย่อนได้อยู่ดี หากใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีนั้นมีข้อความอื่นๆ ครบถ้วนถูกต้องแล้ว
ใบเสร็จรับเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ (กรณีซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จด VAT)
หากคุณซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีข้อความครบถ้วนตามนี้
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
- ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย
- เลขลำดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน
- วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
- ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ
- ชนิด ชื่อ จำนวน และราคาสินค้าที่ซื้อ
- จำนวนเงิน
ช่องทางตรวจสอบว่าผู้ประกอบการสามารถออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้
เนื่องจากปัจจุบัน กรมสรรพากรมีระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ 2 แบบ ได้แก่ ระบบ e-Tax invoice & e-Receipt และระบบ e-Tax invoice by Time Stamp ดังนั้น คุณจึงมีช่องทางตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการฯ 2 ช่องทาง ดังนี้
- ผู้ประกอบการ e-Tax invoice & e-Receipt – https://etax.rd.go.th/etax_staticpage/app/#/index/registered%23top
- ผู้ประกอบการ e-Tax invoice by Time Stamp – https://interapp3.rd.go.th/signed_inter/publish/register.php
เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย
- หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt สามารถขอรับเป็นเงินสดคืนได้ที่ร้านค้าเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการขอใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt จะต้องทำโดยการ ยื่นภาษีประจำปี 2567 ให้ กรมสรรพากรในช่วงต้นปี 2568 ได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น
- หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt ฿50,000 คือ เงินคืนภาษีจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม7% (VAT 7% Refund) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะค่าลดหย่อน Easy E-Receipt ฿50,000 นี้เป็นสิทธิที่นำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt ต้องใช้ค่าสินค้าหรือบริการก่อนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ความจริงแล้วสิทธิลดหย่อนจะเป็นตัวเลขค่าสินค้า/บริการที่รวม VAT แล้ว
- ถ้าคุณมีรายได้เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน ฿25,833.33 (หรือเงินได้สุทธิทั้งปีไม่เกิน ฿150,000) คุณไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวเพื่อขอใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปก็ได้ เพราะคุณอยู่ในเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ต่อให้ใช้สิทธิลดหย่อนEasy E-Receipt ก็ไม่ช่วยให้ประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น
- ถ้ามีคุณมีคู่สมรสที่ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ คุณทั้งคู่ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt ได้สูงสุดคนละ ฿50,000 (รวม 2 คนได้สิทธิ ฿50,000) ไม่ว่าจะแยกยื่นภาษีหรือยื่นภาษีร่วมกันก็ตาม
- ถ้าในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีเดียวกันมีรายการทั้งสินค้าที่เข้าเกณฑ์และไม่เข้าเกณฑ์ลดหย่อน คุณจะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเฉพาะค่าสินค้าเข้าเกณฑ์ลดหย่อนเท่านั้น
- หากไม่มั่นใจว่าให้ระบุที่อยู่ผู้ซื้อตามบัตรประชาชนหรือที่อยู่ปัจจุบันดี จะใช้ที่อยู่ใดก็ได้ไม่มีปัญหา แต่ถึงแม้ในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีจะเขียนชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิดหรือมีการแก้ไขสามารถ ก็ยังสามารถใช้หักลดหย่อนได้อยู่ หากใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีนั้นมีข้อความเกี่ยวกับผู้ขาย รายละเอียดสินค้าหรือบริการ และองค์ประกอบอื่นๆ ครบถ้วนแล้ว
- หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อน Easy E-Receipt ฿50,000 คือ เงินคืนภาษีจากรัฐ ฿50,000 เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวน เงินได้ และ อัตราภาษี ของแต่ละคนด้วย
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี | สิทธิได้เงินคืนภาษีสูงสุด |
---|---|---|
≤฿150,000 | ยกเว้น | ฿0 |
>฿150,000 – ฿300,000 | 5% | ฿2,500 |
>฿300,000 – ฿500,000 | 10% | ฿5,000 |
>฿500,000 – ฿750,000 | 15% | ฿7,500 |
>฿750,000 – ฿1,000,000 | 20% | ฿10,000 |
>฿1,000,000 – ฿2,000,000 | 25% | ฿12,500 |
>฿2,000,000 – ฿5,000,000 | 30% | ฿15,000 |
>฿5,000,000 | 35% | ฿17,500 |
เช็กสิทธิประโยชน์ เงื่อนไขการรับสิทธิ์ Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษีแล้ว อย่าลืมคำนวณเงินที่จะใช้เพื่อการช้อปปิ้งและเงินที่จะได้จากการลดหย่อนภาษีให้ดี หรือหากคุณรู้สึกว่า มาตรการ Easy E-Receipt ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการลดหย่อนภาษีของคุณ
คุณสามารถค้นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ iTAX shop
แอป iTAX คำนวณภาษีและวางแผนภาษี
ตัวช่วยคำนวณภาษีเพื่อเงินคืนภาษีสูงสุด โหลดฟรี!
อ้างอิง
- ^
ข้อ 1 กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566)
- ^
ข้อ 1 กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566)
- ^
ข้อ 3(3)(ก) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 443)
- ^
ข้อ 1 กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566)
- ^
ข้อ 2 (1) และ (2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566)
- ^
ข้อ 4 (3) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 443)
- ^
ข้อ 2 (3) กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566)
- ^
ข้อ 3 กฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566)