Contents

ค่าลดหย่อนคู่สมรส

151,614 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ค่าลดหย่อนคู่สมรส ใช้เป็นค่าลดหย่อน แบบเหมา ฿60,000 ต่อปี สำหรับผู้ที่ดูแลคู่สมรสที่ไม่มีรายได้1 และแม้คู่สมรสจะเสียชีวิตระหว่างปีก็ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีสำหรับ ปีภาษี ที่เสียชีวิตได้อยู่

ค่าลดหย่อนคู่สมรสเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


วิธีกรอกค่าลดหย่อนคู่สมรสบนแอป iTAX

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนคู่สมรส สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ค่าลดหย่อน – คู่สมรส’
  3. กรอก วัน เดือน ปีเกิด
  4. ที่หัวข้อ ‘คู่สมรสมีรายได้มั้ย?’ » เลือก ไม่มี
  5. ตอบคำถามเกี่ยวกับสถานะพิการ/ทุพพลภาพ
  6. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนคู่สมรสแล้วให้อัตโนมัติ

หมายเหตุ: ผู้มีสิทธิรับค่าลดหย่อนคู่สมรส จำกัดเฉพาะผู้ที่ตั้งค่าสถานภาพสมรสเท่านั้น โดยสามารถตรวจสอบสถาพภาพที่กรอกไว้ในแอป iTAX ได้ ในเมนู ‘ค่าลดหย่อน – ส่วนตัว’

วิธีแก้ไขสถานภาพให้เป็น ‘สมรส’ บนแอป iTAX

หากต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนคู่สมรส ต้องแก้ไขสถานภาพให้เป็นสมรสก่อน โดย 

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ค่าลดหย่อน – ส่วนตัว’
  3. กด
  4. ที่หัวข้อ ‘สถานภาพ’ » เลือกคำตอบเป็น ‘สมรส’
  5. เลือกปีที่จดทะเบียนสมรส
  6. กด Done

จากนั้นตัวเลือก ‘ค่าลดหย่อน – คู่สมรส’ จะแสดงในรายการค่าลดหย่อน


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

คนที่ดูแลคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถนำคู่สมรสไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้แบบเหมา ฿60,000 ต่อปี ทั้งนี้กฎหมายให้สิทธิหักลดหย่อนสำหรับคู่สมรสได้สูงสุดเพียงคนเดียว

ทั้งนี้ แม้คู่สมรสจะเสียชีวิตระหว่างปีก็ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีสำหรับ ปีภาษี ที่เสียชีวิตได้อยู่

เงื่อนไขการรับสิทธิ

คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนคู่สมรสได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้

  • คู่สมรสของคุณไม่มีรายได้เลย
  • อย่างน้อยต้องมีคู่สมรสหรือตัวคุณเองคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น

คำถามที่พบบ่อย2

Q. ภริยาไม่มีเงินได้ สามีให้เงินภริยาเป็นรายเดือน สามียังสามารถนำภริยามาลดหย่อนภาษีได้อยู่ไหม?
  • กรณีนี้ยังไม่ถือว่าภริยามีเงินได้ จึงยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามีนำภริยาไปลดหย่อนภาษีได้อยู่
Q. ภริยามีเงินได้ แต่สามีไม่มีเงินได้ หักลดหย่อนอย่างไร ต้องแจ้งว่ารวมยื่นหรือแยกยื่น?
  • ภริยาหักลดหย่อนฐานะผู้มีเงินได้ ฿60,000 และหักลดหย่อนสามีได้อีก ฿60,000 รวมเป็น ฿120,000 ส่วนตอนยื่นแบบให้แจ้งสถานะคู่สมรสไม่มีเงินได้
Q. ภริยามีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไว้แล้ว สามีจะนำภริยามาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้อยู่ไหม?
  • ได้ กรณีภริยามีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากโดยได้เสียภาษีไว้แล้ว 15% ภริยาเลือกว่ายื่นภาษีร่วมกับสามีแล้วเลือกปล่อยให้ดอกเบี้ยถูกภาษี ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายแล้วจบไปเลย สามีก็จะสามารถนำภริยามาหักลดหย่อนในฐานะคู่สมรสของผู้มีเงินได้จำนวน ฿60,000
Q. ภริยามีเงินได้จากเงินปันผลถูกบริษัทหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ไว้แล้ว สามีจะนำภริยามาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีได้อยู่ไหม?
  • ได้ กรณีภริยามีเงินได้จากเงินปันผล โดยได้เสียภาษีไว้แล้ว 10 % ภริยาเลือกว่ายื่นภาษีร่วมกับสามีแล้วเลือกปล่อยให้เงินปันผลถูกภาษี ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายแล้วจบไปเลย สามีก็จะสามารถนำภริยามาหักลดหย่อนในฐานะคู่สมรสของผู้มีเงินได้จำนวน ฿60,000
Q. นาย ก. และ น.ส. ข. แต่งงานกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จะหักลดหย่อนคู่สมรสได้ไหม?
  • ไม่ได้ สามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสถือว่าสถานภาพในการยื่นแบบแสดงรายการ “โสด” ไม่สามารถหักลดหย่อนคู่สมรสได้
Q. สามีมีเงินได้ แต่ภริยาไม่มีเงินได้ สามีได้นำภริยามาหักค่าลดหย่อน ฿60,000 ในฐานะคู่สมรส บุตรมีเงินได้ได้นำมารดามาหักค่าลดหย่อนอีก ฿30,000 กรณีนี้ทั้งสามีและบุตรจะสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนในฐานะคู่สมรสและฐานะมารดาพร้อมกันได้หรือไม่?
  • สามีสามารถหักลดหย่อนภริยาได้ ฿60,000 ในฐานะคู่สมรสของผู้มีเงินได้ และบุตรสามารถหักลดหย่อนมารดาได้อีก ฿30,000 ในฐานะมารดาของผู้มีเงินได้
Q. ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานบริษัทในไทยเกิน 180 วัน มีเงินได้ประเภทเงินเดือน ภริยา บุตร บุพการี อยู่ต่างประเทศไม่มีเงินได้ บุตรเรียนหนังสือที่ต่างประเทศและบุพการีอายุเกิน 60 ปี มีสิทธิหักลดหย่อนภริยา บุตร และบุพการี ได้หรือไม่?
  • ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยเกิน 180 วัน ถือว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย สามารถหักลดหย่อนภริยาได้ ไม่ว่าภริยาจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศ โดยหักลดหย่อนภริยาได้จำนวน ฿60,000 และสามารถหักลดหย่อนบุตรได้ ไม่ว่าบุตรจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศโดยหักลดหย่อนบุตรได้อีกคนละ ฿30,000

Q. ภริยาอาศัยและทำงานอยู่ในไทย มีเงินได้จากเงินเดือน แต่สามีเป็นชาวต่างชาติไม่ได้อยู่ในไทย และไม่มีเงินได้ในไทย ภริยายื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องการลดหย่อนคู่สมรสจะต้องทำอย่างไร?

  • ในการกรอกแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ และเป็นผู้ที่มิได้อยู่ในไทย และไม่มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในไทย ให้เลือกสถานะการยื่นแบบฯ ของคู่สมรส ไม่มีเงินได้ เลือก ต่างด้าว กรอกข้อมูลเลขที่หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญคนต่างด้าว และระบุสัญชาติ แต่ในกรณีไม่ทราบเลขที่หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญคนต่างด้าว ให้ผู้มีเงินได้ยื่นแบบกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา3

ดังนั้น ก่อนเริ่มต้นใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีคู่สมรส คุณจะต้องศึกษาเงื่อนไขการใช้สิทธิ์ให้ดีก่อน และเพื่อให้การคำนวณภาษีและการวางแผนภาษีของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถดาวน์โหลด iTAX application เพื่อคำนวณภาษีได้ฟรี!

นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้ iTAX หาแผนลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้อีก ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี, ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี, กองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี รู้แบบนี้แล้วจะช้าอยู่ทำไม? ค้นหาพร้อมรับคำปรึกษาจากทีมงานมืออาชีพได้ที่ แล้วเราจะทำให้เรื่องภาษีง่ายขึ้น!

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 47(1)(ข) ประมวลรัษฎากร, พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560

  2. ^

    ร้อยเรื่องลดหย่อน ปีภาษี 2560 ศูนย์สารสนเทศสรรพากร www.rd.go.th

  3. ^

    Clear Cut ประเด็นเด็ดเกร็ดลดหย่อน, กรมสรรพากร