Contents

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

193,710 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เงินสะสมเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของ ค่าจ้าง และไม่เกิน ฿500,000 เฉพาะเงินส่วนที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพ1

เงินสะสมเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


วิธีกรอกค่าลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บนแอป iTAX

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’
  3. กรอกจำนวนเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จ่ายตลอดทั้งปี
  4. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วให้อัตโนมัติ


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

คนที่จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพสามารถนำเงินส่วนที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสม (ไม่รวมเงินส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบให้) ไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ไม่เกินจำนวนที่น้อยกว่าระหว่าง 15% ของค่าจ้าง หรือ ฿500,000 ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่ากันให้หักลดหย่อนได้ตามนั้น เช่น

ถ้าได้รับเงินเดือนตลอดทั้งปีเป็นเงิน ฿1,000,000 แล้วจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป ฿200,000 จะหักได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน ฿150,000 เท่านั้น (15% x ฿1,000,000)

แต่ถ้าได้รับเงินเดือนตลอดทั้งปีเป็นเงิน ฿4,000,000 แล้วจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป ฿600,000 แม้ว่าเงินที่จ่ายสะสมนั้นจะไม่เกิน 15% ของค่าจ้างแต่ก็หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน ฿500,000 เท่านั้น เพราะติดเพดานหักลดหย่อนสูงสุด ฿500,000 ไปแล้ว

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • เงินสมทบของนายจ้าง ใช้ลดหย่อนภาษีไม่ได้

หลายคนเข้าใจผิดว่าเงินสมทบส่วนของนายจ้างก็นำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากกฎหมายยอมให้เฉพาะเงินสะสมของเราเท่านั้นที่ทำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ส่วนเงินสมทบของนายจ้างไม่สามารถนำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้

  • ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการคำนวณเพดานสิทธิ์ลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

หลายคนเข้าใจผิดว่าการคำนวณเพดานสิทธิ์ลดหย่อนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ RMF เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เช่น ถ้ามีเงินได้ ฿1,000,000 และเพดานสิทธิ์ 15% แปลว่า สิทธิลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน ฿150,000 ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

เพราะที่ถูกต้องคือ กฎหมายให้คำนวณเพียงว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องไม่เกิน 15% ของเงินเดือนและกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี โดยทั้ง 2 รายการรวมกันแล้วต้องไม่เกิน ฿500,000 ไม่ใช่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแบบที่เข้าใจผิดกันแต่อย่างใด

ดังนั้น ปลายปีนี้ก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี เราอยากให้คุณเช็กสิทธิ์ลดหย่อนภาษีที่คุณสามารถใช้ได้ให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อที่คุณจะได้วางแผนสำหรับซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีให้ได้ผลประโยชน์สูงสูด และไม่ต้องเผชิญกับการลงทุนที่มากเกินไป และเรารวมกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดมาให้คุณแล้ว อยากรู้ว่า ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีที่ iTAX ลดหย่อนภาษีได้มากกว่าที่อื่นอย่างไร ปรึกษาทีมที่ปรึกษาการเงินมืออาชีพ iTAX invest หรือติดต่อผ่าน LINE: @itaxinvest

เงินก้อนที่ได้จากการถอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องเสียภาษี

แท้จริงแล้วเงินที่จ่ายจาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ลูกจ้าง ไม่ใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้เมื่อลูกจ้างออกจากงาน เนื่องจากตัวกองทุนฯ เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ไม่ใช่นายจ้างดังนั้น นายจ้างจึงไม่สามารถบังคับให้สถานะสมาชิกกองทุนฯ ของลูกจ้างรายใดสิ้นสุดลงเพื่อให้จ่ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทันทีได้ ลูกจ้างจึงมีสิทธิคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ก่อนหรือขอรับเงินจากกองทุนได้เช่นกัน โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ทั้งกรณีลาออกด้วยความสมัครใจ เกษียณ หมดสัญญาจ้าง หรือถูกเลิกจ้าง โดยเงินที่จะได้รับจะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานด้วยเช่นกัน2

แต่อย่างไรก็ดี หากลูกจ้างถอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาเป็นเงินสด จะแบ่งได้เป็น 4 ส่วน ได้แก่

  1. เงินสะสมของคุณเองที่ถูกหักออกจากเงินเดือนก่อนหน้านี้
  2. ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม*
  3. เงินสมทบจากนายจ้าง*
  4. ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง*

หากลูกจ้างถอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินสดออกมา โดยปกติกฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างต้องนำเงินที่ได้จาก “2. ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม”, “3. เงินสมทบจากนายจ้าง” และ “4. ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง” มาเสียภาษีด้วย โดยจะคิดเสมือนเป็นเงินเดือนและโบนัสที่ได้รับจากนายจ้าง ส่วน “1. เงินสะสมของคุณเองที่ได้รับคืนมา” ไม่ต้องนำไปเสียภาษีแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ถ้าลูกจ้างขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปก่อน3 หรือขอโอนย้ายเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 4 แทนก็ยังไม่นับว่ามีการถอนเงินสดออกมา ลูกจ้างจึงยังไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้

กรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปี แต่ขายก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ยังต้องเสียภาษี แต่สามารถเลือกแยกคำนวณภาษีออกจากเงินได้ประเภทอื่นได้

หากเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปีแล้ว ลูกจ้างสามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินส่วนที่เป็น “ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม” “เงินสมทบจากนายจ้าง” และ “ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง” ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นๆ หรือจะแยกคำนวณภาษีต่างหากก็ได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับกรณีได้เงินก้อนจากเหตุออกจากงาน 5

การยื่นภาษีกรณีนี้จำเป็นต้องใช้แบบฟอร์ม “ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ” ด้วย (ดูตัวอย่างด้านล่าง) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการแยกคำนวณภาษีสำหรับกรณีนี้มักจะช่วยให้ลูกจ้างเสียภาษีถูกกว่าการนำไปรวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่นๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายได้และค่าลดหย่อนของแต่ละบุคคลด้วย

ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91
ตัวอย่างใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ

กรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบยังไม่ครบ 5 ปี

หากคุณเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังไม่ครบ 5 ปี กฎหมายกำหนดให้คุณต้องนำเงินส่วนที่เป็น “ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม” “เงินสมทบจากนายจ้าง” และ “ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง” ไปคำนวณภาษีเป็นรายได้จากงานประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1) (และต้องคำนวณภาษีรวมกับรายได้ประเภทอื่นๆ ด้วย (ถ้ามี)) โดยไม่สามารถแยกคำนวณเหมือนกรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปีได้

การคงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้หลังออกจากงานแล้ว

1. คงเงินไว้หลังออกจากงานเพราะเกษียณอายุ

กรณีออกจากงานเพราะเกษียณอายุ (เช่น เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์) หากสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกษียณอายุแจ้งขอคงเงินไว้ในกองทุน โดยที่ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดให้สมาชิกที่ขอคงเงิน (หมายถึงสมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพเพราะ เหตุออกจากงาน และขอคงเงินที่สมาชิกมีสิทธิได้รับทั้งหมดไว้ในกองทุน) สามารถคงเงินทั้งหมดที่สมาชิกมีสิทธิได้รับไว้ในกองทุนได้เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง (เช่น ขอคงเงินได้เป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ออกจากงาน)  หากลูกจ้างได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และได้รับผลประโยชน์เพิ่มที่เกิดในช่วงระยะเวลาที่คงเงินไว้ใน (เช่น ได้ผลประโยชน์งอกเงยจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่คงเงินไว้เพิ่มอีก 100,000 บาท) ลูกจ้างจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลจากเงินกองทุนฯ และผลประโยชน์ส่วนเพิ่มนั้นอยู่ หากการเกษียณอายุตามข้อบังคับของนายจ้างนั้นพนักงานมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาโดยตลอดและต้องเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ต่อเนื่องกัน6

2. คงเงินไว้หลังออกจากงานเพราะออกจากงาน

กรณีออกจากงานก่อนเกษียณอายุ (เช่น ลาออกก่อนถึงอายุเกษียณ 60 ปีบริบูรณ์) หากสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกษียณอายุแจ้งขอคงเงินไว้ในกองทุน โดยที่ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดให้สมาชิกที่ขอคงเงิน (หมายถึงสมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพเพราะ เหตุออกจากงาน และขอคงเงินที่สมาชิกมีสิทธิได้รับทั้งหมดไว้ในกองทุน) สามารถคงเงินทั้งหมดที่สมาชิกมีสิทธิได้รับไว้ในกองทุนได้เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง (เช่น ขอคงเงินได้เป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ออกจากงาน)  หากลูกจ้างได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และได้รับผลประโยชน์เพิ่มที่เกิดในช่วงระยะเวลาที่คงเงินไว้ใน (เช่น ได้ผลประโยชน์งอกเงยจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่คงเงินไว้เพิ่มอีก 100,000 บาท) ลูกจ้างอาจมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลจากเงินกองทุนฯ และผลประโยชน์ส่วนเพิ่มนั้นอยู่ หากเข้าเงื่อนไขว่าการเกษียณอายุตามข้อบังคับของนายจ้างนั้นพนักงานมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาโดยตลอดและต้องเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ต่อเนื่องกัน7

ยกเว้นภาษีกรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปี และขายเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

หากลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปีแล้ว8 และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ด้วย เงินที่ลูกจ้างถอนออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี9

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 47(1)(ช) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(35) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  2. ^

    ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)

  3. ^

    มาตรา 23/3 พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530

  4. ^

    มาตรา 23/4 พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530

  5. ^

    ข้อ 2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)

  6. ^

    ข้อหารือ เลขที่ กค 0702/6896 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2555

  7. ^

    ข้อหารือ เลขที่ กค 0702/6896 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2555

  8. ^

    ข้อ 3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 188)

  9. ^

    ข้อ 2(36) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)