Contents

เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป

88,345 views

โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน ฿100,000 สำหรับคนที่ทำประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ตัวเอง1 เช่น ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์/สะสมทรัพย์, ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term), ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ รวมถึง เงินฝากแบบมีประกันชีวิต ด้วย

ส่วนเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปสำหรับประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน ฿10,0002

เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีหลักเกณฑ์การลดหย่อนแตกต่างจากเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ


ซื้อประกันชีวิตตัวไหนดี?

มาตรวจสอบผลประโยชน์ของประกันชีวิตยี่ห้อต่างๆ กันไหม?

เปรียบเทียบแบบประกัน


วิธีกรอกค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปบนแอป iTAX

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ประกันชีวิตทั่วไป’
  3. กรอกจำนวนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ที่จ่ายตลอดทั้งปี
  4. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วให้อัตโนมัติ


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ประกันชีวิตของตัวเอง

คนที่ทำประกันชีวิตให้ตัวเองสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตจากกรมธรรม์ทุกฉบับไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ไม่เกิน ฿100,000

เช่น ถ้าคุณจ่ายเบี้ยประกันชีวิตไป ฿200,000 คุณจะนำเบี้ยประกันชีวิตไปหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน ฿100,000 เท่านั้น

ประกันชีวิตของคู่สมรส

ส่วนคนที่ทำประกันชีวิตให้คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ไม่เกิน ฿10,000 โดยคุณจะต้องเป็นคู่สมรสกันตลอดทั้งปี (ไม่ได้พึ่งแต่งงานกันในปีภาษีนี้)

เช่น ถ้าคุณจ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้คู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ไป ฿200,000 คุณจะนำเบี้ยประกันชีวิตไปหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแค่ไม่เกิน ฿10,000 เท่านั้น

หมายเหตุ: หากทั้งคุณและคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีรายได้ คู่สมรสสามารถใช้สิทธินำเบี้ยประกันชีวิตส่วนของตัวเองไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ฿100,000 

เงื่อนไขการรับสิทธิ

เราจะสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตของเรามาหักลดหย่อนได้ ถ้าเข้าครบเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้

  • กรมธรรม์ประกันชีวิตมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  • ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย
  • ถ้ามีการจ่ายเงินคืนเงินปันผลหรือผลตอบแทนระหว่างสัญญา จะต้องได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี (ถ้าได้รับเงินคืนตามช่วงระยะเวลา เช่น จ่ายคืนทุก 3 ปี หรือ 5 ปี ยอดเงินคืนจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลา)
  • แจ้งบริษัทประกันชีวิตว่าต้องการนำเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี (ดูช่องทางแจ้งขอใช้สิทธิของแต่ละบริษัท)

อนึ่ง ถ้าทำผิดเงื่อนไข เช่น เลิกสัญญาฯ หรือเวนคืนกรมธรรม์ก่อนจะถือครบ 10 ปี (ไม่ว่าจะโดยความตั้งใจหรือเหตุสุดวิสัยอื่น เช่น ทุพพลภาพ) คุณจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนจากเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ฉบับนั้นได้อีกและมีผลย้อนหลังไปถึงการใช้สิทธิลดหย่อนในอดีตด้วย

กล่าวคือ คุณต้องกลับไปคำนวณภาษีในทุกๆ ปีภาษีที่มีการใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตนั้นใหม่อีกครั้ง เสมือนว่าไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนดังกล่าวในปีนั้นๆ เพื่อเสียภาษีส่วนต่างเพิ่มเติม พร้อม เงินเพิ่ม (ดอกเบี้ยทางภาษี) เพิ่มเติมอีกด้วย

ข้อสังเกตสำหรับสัญญาตะกาฟุล กรณีเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม

ผู้นับถือศาสนาอิสลามได้ทำสัญญาตะกาฟุล มีระยะเวลา 10 ปี ขึ้นไป สามารถนำมาหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรมดาได้ หากมีลักษณะเช่นเดียวกับสัญญาประกันชีวิต โดยบริษัทประกันชีวิตสามารถใช้ข้อความและคำศัพท์ที่แตกต่างไปจากการประกันชีวิต แต่มีความหมายเหมือนกับการประกันชีวิตระบุลงในกรมธรรม์ประกันชีวิตและเอกสารอื่นๆ เช่น ใบเสร็จรับเงินสมทบตะกาฟุล เป็นใบเสร็จเบี้ยประกันชีวิต ซึ่งสามารถนำมาเป็นหลักฐานหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้3

หลักฐานที่ต้องใช้

  • ใบเสร็จหรือหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกัน

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • หลายคนมักเข้าใจผิดว่า เบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายให้คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะความจริงแล้วเบี้ยประกันของคุณพ่อคุณแม่ที่คุณสามารถนำไปลดหย่อนได้มีเพียง เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา เท่านั้น
  • โฆษณาประกันชีวิตมักจะบอกว่า คุณสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด ฿300,000 แต่ความเป็นจริงแล้วเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปจะหักลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ ฿100,000 เท่านั้น ส่วนอีก ฿200,000 น่าจะมาจากการหักลดหย่อน เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ตามจริงและไม่เกิน 15% ของรายได้ ซึ่งหมายความว่า คุณต้องมีรายได้ตลอดทั้งปีอย่างน้อยประมาณ ฿1,333,333 หรือตกเดือนละประมาณ ฿111,111
  • การทำประกันชีวิตที่ธนาคารบังคับให้ผู้กู้ทำแบบคุ้มครองสินเชื่อของธนาคารและผู้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ตามภาระหนี้สินที่ผูกพัน (เช่น ทำประกันชีวิตแบบคุ้มครองสินเชื่อค่าซื้อบ้าน) จะไม่สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตส่วนนี้มาลดหย่อนภาษีได้ เพราะประกันแบบคุ้มครองสินเชื่อเป็นความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมที่ไม่ใช่ประกันชีวิตทั่วไป ดังนั้น หากต้องการให้เบี้ยประกันชีวิตสามารถลดหย่อนภาษีได้ต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป และเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมแยกออกจากกัน และผู้เสียภาษีจะใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะจำนวนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปเท่านั้น
  • เบี้ยประกันชีวิตของพ่อแม่และบุตร กฎหมายยังไม่อนุญาตให้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะกฎหมายให้สิทธิที่เกี่ยวกับการทำประกันให้พ่อแม่เฉพาะเบี้ยประกันสุขภาพเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายสำหรับทำประกันชีวิตให้ตัวเองหรือคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้อยู่ ส่วนประกันชีวิตและประกันสุขภาพของบุตรไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ในทุกกรณี
  • ในกรณีที่บริษัทซื้อประกันชีวิตให้พนักงานหรือกรรมการบริษัท เบี้ยประกันที่บริษัทจ่ายไปจะกลายเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีของพนักงานหรือกรรมการในทุกกรณี แม้ว่าในกรมธรรม์ดังกล่าวจะกำหนดให้ผู้รับประโยชน์เป็นตัวบริษัทเองก็ตาม4 แต่พนักงานหรือกรรมการสามารถนำใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทรับประกันชีวิตออกให้นั้น มาใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้ในปีที่มีการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตนั้นได้อยู่แม้ว่าบริษัทจะเป็นผู้จ่ายให้ก็ตาม5

หากคุณต้องการจะใช้สิทธิ์ประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตสำหรับตนเอง ประกันชีวิตสำหรับคู่สมรส หรือ ประกันชีวิตสำหรับพ่อ-แม่ คุณจะต้องให้ความสำคัญกับเงื่อนไขของประกันชีวิตควบคู่ไปด้วย และคุณสามารถค้นหาแผนประกันชีวิตที่มีครบทั้งความคุ้มครองและสิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ที่ iTAX shop


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 47 (1) (ง) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2 (61) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  2. ^

    มาตรา 47 (1) (ง) ประมวลรัษฎากร

  3. ^

    Clear Cut ประเด็นเด็ดเกร็ดลดหย่อน, กรมสรรพากร

  4. ^

    ข้อหารือ เลขที่ กค 0706/4227 ลว. 30 เมษายน 2547

  5. ^

    ข้อหารือ เลขที่ กค 0706/5334 ลว. 22 มิถุนายน 2549