Contents

เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

157,612 views

เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกเหนือจากค่าจ้างทั่วไป ซึ่งกรณีลูกจ้างทำงานมาแล้วครบ 5 ปี นายจ้างจะต้องคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ด้วยวิธีพิเศษ ส่วนฝ่ายลูกจ้างก็สามารถเลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ ได้ ซึ่งมักจะช่วยให้เสียภาษีน้อยกว่าวิธีคำนวณภาษีแบบปกติ (แต่ยังต้องยื่นภาษีพร้อมกับการยื่นภาษีประจำปี (ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91) อยู่ เพราะไม่สามารถปล่อยให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเป็นภาษีสุดท้ายทันทีได้) หรือลูกจ้างจะเลือกเสียภาษีเหมือนค่าจ้างและโบนัสทั่วไปก็ได้

แต่ถ้าลูกจ้างทำงานยังไม่ครบ 5 ปี เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานจะถูกภาษี ณ ที่จ่ายด้วยวิธีปกติ และลูกจ้างต้องเสียภาษีเหมือนค่าจ้างและโบนัสทั่วไป

รูปแบบของเงินก้อนที่นายจ้างจะจ่ายให้เพราะเหตุออกจากงาน

เมื่อมีเหตุให้ลูกจ้างออกจากงาน ลูกจ้างมักจะได้รับเงินก้อนในรูปแบบ ดังต่อไปนี้

1. เงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

เงินค่าชดเชยเป็นเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมายแรงงานเนื่องจากถูกเลิกจ้าง ไล่ออก เกษียณอายุ หรือหมดสัญญาจ้าง โดยที่ลูกจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิด

อัตราค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานจะคิดตามอายุที่ทำงานกับนายจ้างรายนี้และใช้อัตราเงินเดือนล่าสุดสำหรับการคำนวณค่าชดเชย สรุปเป็นตารางได้ดังนี้1

อายุงาน อัตราค่าชดเชยขั้นต่ำ
ไม่ถึง 120 วัน ไม่มีสิทธิได้รับ
120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 30 วัน (ประมาณ 1 เดือน)
1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 90 วัน (ประมาณ 3 เดือน)
3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 180 วัน (ประมาณ 6 เดือน)
6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 240 วัน (ประมาณ 8 เดือน)
10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 300 วัน (ประมาณ 10 เดือน)
ตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป ได้เท่ากับค่าจ้าง 400 วัน (ประมาณ 13 ⅓ เดือน)

หมายเหตุ: อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างลาออกเองด้วยความสมัครใจ หรือถูกไล่ออกเพราะลูกจ้างทำความผิดร้ายแรงบางประการ ลูกจ้างจะไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้างได้

1.1 ได้รับค่าชดเชยเพราะถูกเลิกจ้าง (ไล่ออก)

หากเป็นกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยเพราะถูกเลิกจ้าง (ไล่ออก) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ค่าชดเชยที่ได้รับส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง 400 วันสุดท้าย (ช่วง 13 ⅓ เดือนล่าสุด) แต่ไม่เกิน 600,000 บาท จะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี2 แต่ค่าชดเชยส่วนที่ได้รับเกินจากนั้นจะต้องเสียภาษีตามปกติ

เช่น ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 800,000 บาท และลูกจ้างรายนี้คำนวณค่าจ้าง 400 วันสุดท้ายได้ 800,000 บาทเช่นกัน

ค่าชดเชยที่ลูกจ้างรายนี้ได้รับในส่วน 600,000 บาทแรกจะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เหลือ 200,000 บาทยังต้องนำมาเสียภาษีอยู่

1.2 ได้รับค่าชดเชยเพราะเกษียณหรือหมดสัญญาจ้าง

ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยเพราะเกษียณอายุการทำงาน (เช่น ข้อบังคับบริษัทให้เกษียณอายุตอน 55 ปี) หรือหมดสัญญาจ้าง (เช่น ทำสัญญาจ้างแรงงานแบบมีกำหนดเวลาแล้วนายจ้างตัดสินใจไม่ต่อสัญญา) ค่าชดเชยดังกล่าวจะต้องนำมาเสียภาษีทั้งจำนวน จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเหมือนกรณีถูกเลิกจ้าง

2. เงินก้อนอื่นๆ

นอกจากค่าชดเชยแล้ว เงินที่นายจ้างจ่ายให้เพราะเหตุออกจากงาน รวมถึงเงินได้ต่อไปนี้ด้วย

  • เงินบำเหน็จ
  • เงินเกษียณก่อนกำหนด (Early Retire)
  • เงินก้อนอื่นๆ ที่นายจ้างจ่ายให้เป็นก้อนสุดท้ายเพราะออกจากงาน

3. เงินก้อนที่เข้าข้อยกเว้นไม่เป็นเงินที่ให้เพราะเหตุออกจากงาน

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีลูกจ้างอาจได้รับเงินลักษณะต่อไปนี้จากนายจ้างเมื่อออกจากงาน แต่เงินต่อไปนี้ไม่จัดว่าเป็นเงินที่ได้รับจากนายจ้างเพราะเหตุออกจากงาน เพราะแท้จริงแล้วคือเงินค่าจ้างที่ยังไม่ได้จ่ายให้ลูกจ้างเฉยๆ ไม่ใช่เงินก้อนพิเศษแต่อย่างใด

  • ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี (วันลาพักร้อน) ที่ไม่ได้ใช้
  • เงินเดือนค้างจ่าย
  • สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (ได้รับในกรณีถูกเลิกจ้างทันทีโดยไม่ได้บอกให้ลูกจ้างเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 รอบค่าจ้าง)
  • ค่าเสียหายที่ลูกจ้างเรียกร้องจากการถูกเลิกจ้าง

เหตุออกจากงาน

โดยทั่วไป การออกจากงานสามารถเกิดได้จาก 3 เหตุ ดังต่อไปนี้

1. สมัครใจลาออกเอง

สมัครใจลาออกเองเป็นกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายสมัครใจขอลาออกจากงานเอง ซึ่งโดยปกติแล้ว นายจ้างจะไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินก้อนใดๆ ให้ลูกจ้าง

อย่างไรก็ตาม นายจ้างบางรายอาจกำหนดสวัสดิการให้สำหรับลูกจ้างที่อยู่ทำงานครบจำนวนปีที่กำหนด (เช่น ทำงานครบ 10 ปี) ให้ได้รับเงินก้อนเมื่อออกจากงาน แม้ว่าจะเป็นการสมัครใจลาออกก็ตาม

เงินที่นายจ้างจ่ายให้เพราะลาออก จึงมักอยู่ในรูปแบบดังนี้

  • เงินก้อนสุดท้ายที่นายจ้างเต็มใจจ่ายให้แม้ลูกจ้างลาออกโดยสมัครใจ
  • เงินบำเหน็จ
  • เงินเกษียณก่อนกำหนด (Early Retire)
  • ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้

2. ถูกเลิกจ้าง (ไล่ออก)

โดยปกติหากลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานโดยคำนวณตามอายุงานและฐานเงินเดือนที่ได้รับจากนายจ้าง

เงินที่นายจ้างจ่ายให้เพราะถูกเลิกจ้าง จึงมักอยู่ในรูปแบบดังนี้

  • เงินค่าชดเชยเพราะถูกเลิกจ้าง (ได้ยกเว้นภาษีสำหรับส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง 400 วันล่าสุด สูงสุดไม่เกิน 600,000 บาท)3
  • สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
  • เงินบำเหน็จ
  • ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้
  • เงินเดือนค้างจ่าย

3. เกษียณหรือหมดสัญญาจ้าง

กรณีหมดเกษียณอายุหรือหมดสัญญาจ้าง ลูกจ้างก็อาจมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานโดยคำนวณตามอายุงานและฐานเงินเดือนที่ได้รับจากนายจ้าง

เงินที่นายจ้างจ่ายให้เพราะเกษียณหรือหมดสัญญจ้าง จึงมักอยู่ในรูปแบบดังนี้

  • เงินค่าชดเชยเพราะถูกเลิกจ้าง (ไม่ได้ยกเว้นภาษี)
  • เงินบำเหน็จ
  • ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้

วิธีเสียภาษีสำหรับเงินก้อนที่ได้รับเมื่อต้องออกจากงาน

1) ทำงานครบ 5 ปีแล้ว

หากทำงานครบ 5 ปีแล้ว (นับตั้งแต่วันที่เริ่มงานจนถึงวันที่ออกจากงาน) ลูกจ้างสามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินก้อนที่ได้รับนี้มารวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นๆ หรือจะแยกคำนวณภาษีต่างหากก็ได้4 แต่การแยกคำนวณภาษีสำหรับกรณีนี้จะใช้วิธีที่แตกต่างจากวิธี ยื่นภาษี ปกติทั่วไป

การยื่นภาษีกรณีนี้จำเป็นต้องใช้แบบฟอร์ม “ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ” ด้วย (ดูตัวอย่างด้านล่าง) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการแยกคำนวณภาษีสำหรับกรณีนี้มักจะช่วยให้ลูกจ้างเสียภาษีถูกกว่าการนำไปรวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่นๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายได้และค่าลดหย่อนของแต่ละบุคคลด้วย

ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91
ตัวอย่างใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษี หากทำงานครบ 5 ปีแล้ว การนับอายุงานจะนับเป็นจำนวนเต็มปี โดยปัดเศษของอายุงานส่วนเกินตั้งแต่ 183 วัน ให้ถือเป็น 1 ปี5  เช่น

  • อายุงาน 5 ปี 184 วัน จะถือว่าอายุงาน 6 ปี
  • อายุงาน 5 ปี 183 วัน จะถือว่าอายุงาน 6 ปี
  • อายุงาน 5 ปี 182 วัน จะถือว่าอายุงาน 5 ปี
  • อายุงาน 4 ปี 183 วัน จะยังไม่ถือว่าอายุงานครบ 5 ปี

2) ทำงานยังไม่ครบ 5 ปี

หากคุณทำงานกับนายจ้างรายนี้ยังไม่ครบ 5 ปี (นับตั้งแต่วันที่เริ่มงานจนถึงวันที่ออกจากงาน) กฎหมายกำหนดให้คุณต้องนำเงินที่ได้รับจากเหตุออกจากงานทั้งหมดไปคำนวณภาษีเป็นรายได้จากงานประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1) (และต้องคำนวณภาษีรวมกับรายได้ประเภทอื่นๆ ด้วย (ถ้ามี)) โดยไม่สามารถแยกคำนวณเหมือนกรณีทำงานครบ 5 ปีได้

เงินก้อนที่ได้จากการถอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

แท้จริงแล้วเงินที่จ่ายจาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ลูกจ้าง ไม่ใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้เมื่อลูกจ้างออกจากงาน เนื่องจากตัวกองทุนฯ เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ไม่ใช่นายจ้าง ดังนั้น นายจ้างจึงไม่สามารถบังคับให้สถานะสมาชิกกองทุนฯ ของลูกจ้างรายใดสิ้นสุดลงเพื่อให้จ่ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทันทีได้ ลูกจ้างจึงมีสิทธิคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ก่อนหรือขอรับเงินจากกองทุนได้เช่นกัน โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ทั้งกรณีลาออกด้วยความสมัครใจ เกษียณ หมดสัญญาจ้าง หรือถูกเลิกจ้าง โดยเงินที่จะได้รับจะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานด้วยเช่นกัน6

แต่อย่างไรก็ดี หากลูกจ้างถอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาเป็นเงินสด จะแบ่งได้เป็น 4 ส่วน ได้แก่

  1. เงินสะสมของคุณเองที่ถูกหักออกจากเงินเดือนก่อนหน้านี้
  2. ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม*
  3. เงินสมทบจากนายจ้าง*
  4. ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง*

หากลูกจ้างถอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินสดออกมา โดยปกติกฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างต้องนำเงินที่ได้จาก “2. ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม”, “3. เงินสมทบจากนายจ้าง” และ “4. ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง” มาเสียภาษีด้วย โดยจะคิดเสมือนเป็นเงินเดือนและโบนัสที่ได้รับจากนายจ้าง ส่วน “1. เงินสะสมของคุณเองที่ได้รับคืนมา” ไม่ต้องนำไปเสียภาษีแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ถ้าลูกจ้างขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปก่อน7 หรือขอโอนย้ายเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 8 แทนก็ยังไม่นับว่ามีการถอนเงินสดออกมา ลูกจ้างจึงยังไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้

กรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปี แต่ขายก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ยังต้องเสียภาษี แต่สามารถเลือกแยกคำนวณภาษีออกจากเงินได้ประเภทอื่นได้

หากเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปีแล้ว ลูกจ้างสามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินส่วนที่เป็น “ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม” “เงินสมทบจากนายจ้าง” และ “ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง” ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นๆ หรือจะแยกคำนวณภาษีต่างหากก็ได้9

การยื่นภาษีกรณีนี้จำเป็นต้องใช้แบบฟอร์ม “ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ” ด้วย (ดูตัวอย่างด้านล่าง) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการแยกคำนวณภาษีสำหรับกรณีนี้มักจะช่วยให้ลูกจ้างเสียภาษีถูกกว่าการนำไปรวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่นๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายได้และค่าลดหย่อนของแต่ละบุคคลด้วย

ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91
ตัวอย่างใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ

กรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบยังไม่ครบ 5 ปี

หากคุณเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังไม่ครบ 5 ปี กฎหมายกำหนดให้คุณต้องนำเงินส่วนที่เป็น “ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม” “เงินสมทบจากนายจ้าง” และ “ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง” ไปคำนวณภาษีเป็นรายได้จากงานประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1) (และต้องคำนวณภาษีรวมกับรายได้ประเภทอื่นๆ ด้วย (ถ้ามี)) โดยไม่สามารถแยกคำนวณเหมือนกรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปีได้

ยกเว้นภาษีกรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปี และขายเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

หากลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปีแล้ว10 และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ด้วย เงินที่ลูกจ้างถอนออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี11


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 118 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

  2. ^

    ข้อ 2 (51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 394 (พ.ศ.2567)

  3. ^

    ข้อ 2 (51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 394 (พ.ศ.2567)

  4. ^

    ข้อ 2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)

  5. ^

    มาตรา 48(5) วรรคสี่ ประมวลรัษฎากร

  6. ^

    ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)

  7. ^

    มาตรา 23/3 พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530

  8. ^

    มาตรา 23/4 พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530

  9. ^

    ข้อ 2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)

  10. ^

    ข้อ 3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 188)

  11. ^

    ข้อ 2(36) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)