Contents

ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2567

597,799 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษี ซึ่งแม้จะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีแต่ก็อาจจะมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีอยู่ดี โดยเป็นการแสดงรายได้ของเราที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาในปีภาษี และโดยปกติจะยื่นภาษีประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ระหว่าง 1 มกราคม – 31 มีนาคมของทุกปี (และหากยื่นผ่านระบบออนไลน์ของกรมสรรพากรจะขยายเวลายื่นภาษีได้ถึง 8 เมษายนของทุกปี) 1 ยกเว้นบางกรณีอาจจะต้องยื่นภาษีครึ่งปีตอนช่วงกลางปีก่อนครั้งนึงด้วย

กำหนดการยื่นภาษี

ยื่นภาษีเงินได้ประจำปี

กำหนดการยื่นภาษี

โดยปกติบุคคลธรรมดาจะ ยื่นภาษี กันเพียงปีละครั้งเท่านั้น คือระหว่าง 1 มกราคม – 31 มีนาคม โดยเป็นการสรุปรายได้และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีภาษีที่ผ่านมา

  • ถ้ามีเงินได้จากเงินเดือน เพียงอย่างเดียวจะใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 91
  • ถ้ามีเงินได้จากอื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือนด้วยจะใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90

ทั้งนี้ ตอนยื่นภาษีเงินได้ประจำปี คุณสามารถเลือกได้ด้วยว่าต้องการ บริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมือง หรือไม่ ซึ่งไม่ทำให้คุณได้เงินคืนภาษีน้อยลงแต่อย่างใด

ยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี

กำหนดการยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี

การยื่นภาษีครึ่งปีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณมี เงินได้ประเภทที่ 5, 6 , 7 และ 8 รวมกันแล้วเกิน ฿60,000 เท่านั้น (กรณีสถานภาพโสด) ซึ่งจะยื่นกันช่วงกลางปี คือระหว่าง 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน โดยเป็นการสรุปรายได้และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา โดยที่ ค่าลดหย่อน บางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งนึงด้วย เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว จะลดลงจาก ฿60,000 เหลือ ฿30,000

ทั้งนี้ เมื่อยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปีไปแล้ว สุดท้ายก็ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีประจำปีอยู่ดี โดยสรุปเงินได้ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ไม่ใช่ เฉพาะแค่เงินได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

การยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปีจะใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 94

การยื่นภาษีเมื่อคู่สมรสมีรายได้

หากคู่สมรสมีรายได้ คุณสามารถเลือกนำรายได้ของคู่สมรสมารวมคำนวณและยื่นภาษีร่วมกันก็ได้ หรือต่างฝ่ายต่างเลือกแยกยื่นภาษีก็ได้ แล้วแต่ผู้เสียภาษีจะเลือก2 โดยคู่สมรสอาจเพิ่งจดทะเบียนสมรสกันระหว่างปีภาษีหรือจดทะเบียสมรสก่อนหน้านี้เต็มปีแล้วก็ได้  ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากทั้งคุณและคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีรายได้ การแยกยื่นภาษีจะช่วยให้ภาระภาษีรวมของทั้งคู่ต่ำกว่าการยื่นภาษีร่วมกัน3

อย่างไรก็ดี การเลือกรวมยื่นหรือแยกยื่นกับคู่สมรสสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกปีตามสถานการณ์ของผู้เสียภาษี

คณะบุคคล/ห้างหุ้นส่วนสามัญต้องทำบัญชียื่นด้วย

ถ้าเป็นการยื่นภาษีของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จากนี้ไปจะมีหน้าที่ต้องทำบัญชียื่นพร้อมกับตอนยื่นแบบภาษี ภ.ง.ด. 90/91 ด้วย โดยจะมีผลตั้งแต่ปีภาษี 2557 ที่จะยื่นตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ซึ่งการทำบัญชีที่ว่ามีรายละเอียดดังนี้4

  • ทำเป็นบัญชีหรือรายงานแสดงยอดเงินคงเหลือยกมา มีรายละเอียด จำนวนรวมของยอดรายได้และยอดรายจ่ายที่ได้มีการรับมาหรือจ่ายไปในระหว่างปีภาษี และยอดเงินคงเหลือยกไป
  • จัดทำเป็นภาษาไทย (ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศไว้ก็ให้มีภาษาไทยกำกับด้วย)

ขอเงินคืนภาษี

อ่านเพิ่มเติม การขอเงินคืนภาษี

ในกรณีที่จ่ายภาษีไว้เกินกว่าที่ตัวเองมีหน้าที่ แล้วมานึกได้ทีหลังก็ยังสามารถขอเงินภาษีที่จ่ายเกินนั้นได้โดยวิธี ยื่นภาษี (หรือยื่นภาษีเพิ่มเติมย้อนหลัง) แต่ต้องรีบขอคืนภายใน 3 ปีนับจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดยื่นภาษี5

ทั้งนี้ กรมสรรพากรมีหน้าที่ต้องคืนเงินภาษีภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ยื่นแบบฯ หรือวันที่ยื่นเอกสารประกอบการขอเงินคืนภาษีเพิ่มเติม หากกรมสรรพากรคืนภาษีล่าช้า คุณมีสิทธิได้รับเงินคืนภาษีพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือนจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน โดยเริ่มคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป6

เลขประจำตัวผู้เสียภาษี

สำหรับตัวผู้เสียภาษีเอง ปัจจุบันเราสามารถใช้ เลขบัตรประชาชน 13 หลักเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ได้เลย

ส่วนกรณีกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลักของผู้จ่ายเงินได้ ให้ใช้เลขประจำตัวนิติบุคคล/ผู้เสียภาษีของผู้จ่ายเงินก้อนนั้นๆ เช่น เลขประจำตัวนิติบุคคลของนายจ้าง เป็นต้น ซึ่งโดยปกติมักจะปรากฏอยู่บนหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) อยู่แล้ว

หากภายในปีภาษี มีผู้จ่ายเงินประเภทเดียวกันให้คุณมากกว่า 1 ราย เช่น ได้รับเงินค่าจ้าง freelance เป็นต้น ให้เลือกกรอกเลขประจำตัว 13 หลักของผู้ที่จ่ายเงินให้คุณเยอะที่สุด

ยื่นภาษีที่ไหนได้บ้าง?

  • สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง
  • ทาง Internet ผ่านระบบ E-Filing ของกรมสรรพากร (จะได้รับสิทธิขยายเวลายื่นภาษีออกไปได้อีก 8 วัน)7
  • ไปรษณีย์ลงทะเบียน เฉพาะผู้มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยส่งพร้อมแนบเช็ค (ประเภท ข. ค. หรือ ง.) หรือใบธนาณัติตามจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระทั้งจำนวนไปที่ สำนักบริหารการคลังและรายได้ กรมสรรพากร อาคารกรมสรรพากร เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

กรมสรรพากรจะถือเอาวันที่ลงทะเบียนไปรษณีย์เป็นวันรับแบบฯ และชำระภาษี และจะส่งใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ยื่นแบบฯ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

ไม่ยื่นภาษีได้ไหม?

แม้ว่ากฎหมายจะบังคับให้คุณยื่นภาษีเมื่อมีรายได้ แต่ถ้าเป็นกรณีต่อไปนี้ คุณเลือกจะไม่ยื่นภาษีก็ไม่มีใครว่า

  • มีรายได้จากเงินเดือนเพียงทางเดียว ตลอดทั้งปีไม่เกิน ฿120,000 หรือตกเดือนละ ฿10,0008
  • มีรายได้ทางอื่นด้วยตลอดทั้งปีไม่เกิน ฿60,000 หรือเดือนละ ฿5,0009
  • สมรสตามกฎหมายแล้วและคุณทั้งคู่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงทางเดียวรวมกันตลอดทั้งปีไม่เกิน ฿220,000 หรือตกเดือนละ ฿18,333.3310
  • สมรสตามกฎหมายแล้วและคุณทั้งคู่มีรายได้รวมกันตลอดทั้งปีไม่เกิน ฿120,000 หรือตกเดือนละ ฿10,00011
  • มีรายได้จากดอกเบี้ยธนาคาร, ดอกเบี้ยหุ้นกู้, ดอกเบี้ยพันธบัตร, ส่วนต่าง discount bond, กำไรจากการขายตราสารหนี้, เงินปันผลของบริษัทห้างร้าน แล้วปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายไปเลย12
  • มีรายได้จาก เงินปันผลจากกองทุนรวม แล้วปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายไปเลย13
  • มีรายได้จาก การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือมีคนให้มา แล้วปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายไปเลย14
  • มีรายได้จาก การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางอื่นที่ไม่ได้มุ่งหากำไร แล้วปล่อยให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายไปเลย15

เสียภาษีเยอะ ขอผ่อนได้ไหม?

ในกรณีที่คุณต้องจ่ายเงินภาษีตั้งแต่ ฿3,000 ขึ้นไป คุณสามารถขอ ผ่อนชำระภาษี ในอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน เป็นจำนวน 3 งวดเท่าๆ กันได้16 โดยแจ้งความประสงค์ตอนยื่นภาษีผ่านระบบยื่นภาษี หรือกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร (ทั่วประเทศ) หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารผู้รับชำระภาษี (เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น)

ยื่นภาษีไปแล้ว ยื่นใหม่ได้อีกรึเปล่า?

ถ้าพบว่าข้อมูลที่ยื่นภาษีไว้ไม่ถูกต้อง คุณสามารถยื่นภาษีใหม่อีกกี่ครั้งก็ได้เพื่อให้ข้อมูลการยื่นภาษีถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด โดยแยกเป็นกรณี ดังนี้

ยื่นภาษีใหม่ระหว่างช่วงเวลายื่นภาษีปกติได้

ยื่นภาษีใหม่

  • กรณียังไม่ได้จ่ายค่าภาษี

ถ้ายื่นภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ยื่นภาษีผ่านเว็บไซต์หรือแอป คุณสามารถเลือก “ยกเลิกการยื่นแบบฯ” เพื่อล้างข้อมูลที่เคยยื่นไว้แล้วกรอกข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องตั้งแต่แรกก็ได้

แต่ถ้ายื่นกระดาษจะต้องใช้วิธียื่นเพิ่มเติม โดยบนแบบฟอร์มต้องระบุด้วยว่า “ยื่นเพิ่มเติม” เพื่อป้องกันความสับสนกับการ “ยื่นปกติ”

  • กรณีจ่ายค่าภาษีไปแล้วหรือได้เงินคืนภาษีมาแล้ว

กรณียื่นภาษีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ยื่นภาษีผ่านเว็บไซต์หรือแอป คุณสามารถเลือก “ยื่นแบบฯ เพิ่มเติม” โดยจะต้องกรอกข้อมูลการยื่นภาษีใหม่ทั้งหมดอีกครั้งและแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องเช่นกัน แต่ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือต้องระบุเพิ่มเติมไปว่าที่ยื่นภาษีไปครั้งก่อนชำระภาษีไปแล้วกี่บาทหรือได้เงินคืนภาษีไปแล้วกี่บาท เพื่อจะได้คำนวณใหม่ว่าครั้งนี้ต้องจ่ายภาษีเพิ่มหรือได้เงินคืนภาษีเพิ่มอีกกี่บาทหลังจากยื่นเพิ่มเติมแล้ว

ส่วนกรณียื่นกระดาษจะต้องระบุบนแบบฟอร์มด้วยว่า “ยื่นเพิ่มเติม” เพื่อป้องกันความสับสนกับการ “ยื่นปกติ”

  • ยื่นใหม่หลังจากพ้นช่วงเวลายื่นภาษีปกติไปแล้ว

ยื่นภาษีใหม่

ถ้าพ้นช่วงเวลายื่นภาษีไปแล้ว การยื่นภาษีใหม่จะต้องยื่นเพิ่มเติมแบบกระดาษเท่านั้น โดยการยื่นเพิ่มเติมจะต้องระบุด้วยว่า “ยื่นเพิ่มเติม” เพื่อป้องกันความสับสนกับการ “ยื่นปกติ” ทั้งนี้ การยื่นเพิ่มเติมสามารถยื่นอีกกี่ครั้งก็ได้ภายใน 3 ปีนับจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดยื่นภาษี17

อยากซ้อมใหญ่ก่อน “ยื่นภาษี” จริง?

ให้ iTAX ช่วยคำนวณภาษีก่อนยื่นจริง!

โหลดแอป iTAX

เรื่องที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง

  1. ^

    ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 15 ธ.ค. 2563

  2. ^

    มาตรา 57 ฉ ประมวลรัษฎากร

  3. ^

    ในอดีตกฎหมายบังคับให้คู่สมรสต้องยื่นภาษีร่วมกันซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้ฐานภาษีสูงขึ้น ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติอันเกิดจากสถานะภายหลังการสมรสที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังไม่เป็นการส่งเสริมความเสมอภาคของชายหญิงด้วย สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์จึงทำหนังสือร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินจนนำไปสู่การนำคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญและมีคำวินิจฉัยให้ผู้เสียภาษีสามารถการแยกยื่นภาษีของคู่สมรสได้ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2555 (คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2555)

  4. ^

    ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 249)

  5. ^

    มาตรา 27 ตรี ประมวลรัษฎากร

  6. ^

    มาตรา 4 ทศ ประมวลรัษฎากร, กฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526)

  7. ^

    ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 15 ธ.ค. 2563

  8. ^

    มาตรา 56(2) ประมวลรัษฎากร, พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560

  9. ^

    มาตรา 56(1) ประมวลรัษฎากร, พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560

  10. ^

    มาตรา 56(4) ประมวลรัษฎากร, พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560

  11. ^

    มาตรา 56(3) ประมวลรัษฎากร, พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560

  12. ^

    มาตรา 48(3),(4) ประมวลรัษฎากร

  13. ^

    ข้อ 5 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.119/2545

  14. ^

    มาตรา 48(4)(ก) ประมวลรัษฎากร

  15. ^

    มาตรา 48(4)(ข) ประมวลรัษฎากร

  16. ^

    มาตรา 64 ประมวลรัษฎากร

  17. ^

    มาตรา 27 ตรี ประมวลรัษฎากร