โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
เงินได้ คือ อะไรก็ตามที่เราได้รับมาแล้วทำให้เรารวยขึ้น โดยเฉพาะเงินได้ที่ทำให้เรามีหน้าที่เสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กฎหมายจะเรียกชื่อเฉพาะว่า เงินได้พึงประเมิน
เงินได้พึงประเมิน คือ เงินได้ที่กฎหมายบังคับให้เราต้องเอามาเสียภาษี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเงินได้ที่เราได้รับจะเป็นเงินได้พึงประเมินแทบทั้งสิ้น เว้นแต่จะมีกฎหมายจะเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเงินได้ก้อนนั้นเป็น เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
อะไรเป็นเงินได้พึงประเมินได้บ้าง?
เงินได้พึงประเมินจะเป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้เรารวยขึ้นไม่ว่าจะเป็น1
- เงินสด
- ทรัพย์สินที่ตีราคาได้
- สิทธิประโยชน์ที่ตีราคาได้
- เงินค่าภาษีที่มีคนจ่ายแทนให้เรา
- เครดิตภาษีเงินปันผล
ในทางตรงกันข้าม อะไรก็ตามที่ไม่ทำให้เรารวยขึ้นจึงไม่เป็นเงินได้พึงประเมิน เช่น เงินกู้ หรือทรัพย์สินที่ยืมมา เป็นต้น
ประเภทของเงินได้พึงประเมิน
ประมวลรัษฎากร บอกว่าเงินได้พึงประเมินแบ่งได้เป็น 8 ประเภท ซึ่งเงินได้แต่ละประเภทจะมีวิธีหัก ค่าใช้จ่าย ที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหาได้ และการหักภาษี ณ ที่จ่ายแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ เงินได้พึงประเมินทั้ง 8 ประเภท สรุปคร่าวๆ ได้แก่2
- เงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1)
- ค่าจ้างทั่วไป (เงินได้ประเภทที่ 2)
- ค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา (เงินได้ประเภทที่ 3)
- ดอกเบี้ย เงินปันผล ผลประโยชน์จากการลงทุน และ Cryptocurrency (เงินได้ประเภทที่ 4)
- ค่าเช่า (เงินได้ประเภทที่ 5)
- ค่าวิชาชีพอิสระ (เงินได้ประเภทที่ 6)
- ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ (เงินได้ประเภทที่ 7)
- เงินได้อื่นๆ ที่ไม่เข้าพวก (เงินได้ประเภทที่ 8)
หน้าที่หลักของทุกคนที่มีรายได้ (เงินได้พึงประเมิน) ไม่ว่าจะมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีหรือไม่ คุณจะต้องทำการยื่นแบบภาษีประจำปีด้วย โดยหากคุณไม่อยากแบกรับภาระการจ่ายภาษีที่มากเกินไป สามารถวางแผนภาษี พร้อมใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ตามที่กฏหมายกำหนด พร้อมค้นหาแผนลดหย่อนภาษีที่เหมาะกับคุณได้ที่ iTAX shop