Contents

เงินได้ประเภทที่ 3

110,361 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เงินได้ประเภทที่ 3 คือ เงินได้พึงประเมินในรูปของ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าตอบแทนทรัพย์สินทางปัญญาหรือค่า Goodwill และเงินรายปีอื่นๆ ที่ทำให้ผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในวงการภาษีบางครั้งก็เรียกว่า เงินได้ 40(3)1

อย่างไรก็ดี ถ้าคุณมีคู่สมรสที่จะแยกยื่นภาษีเองอยู่แล้ว คุณสามารถเลือกให้คู่สมรสนำเงินได้ประเภทนี้ของคุณไปยื่นเป็นรายได้ของเขาแทนก็ได้2

การหักค่าใช้จ่าย

เงินได้ประเภทที่ 3 นี้ มีเพียงค่าลิขสิทธิ์ ค่ากู๊ดวิลล์ และค่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Royalty) เท่านั้นที่หักค่าใช้จ่ายได้

เงินได้เหล่านี้จะหัก ค่าใช้จ่าย ได้วิธีเดียว คือ หักแบบเหมา 50% แต่สูงสุดไม่เกิน ฿100,000 หรือหักตามจริง3

รายได้ ค่าใช้จ่ายที่หักได้
  • ค่าลิขสิทธิ์
  • ค่าสิทธิ์ในทรัพย์สินในปัญญา (Royalty)
  • ค่า Goodwill
หักแบบเหมา 50% แต่ไม่เกิน ฿100,000 หรือหักตามจริง
เงินปีและเงินรายปีจากนิติกรรมหรือคำพิพากษาของศาล

ดังนั้น วิธีคิดง่ายๆ คือ ทันทีที่เราได้รับค่าลิขสิทธิ์เกิน ฿200,000 คุณจะหักค่าใช้จ่าย ได้สูงสุดแค่ ฿100,000 เท่านั้น

ตัวอย่าง

ถ้าคุณมีเงินได้จากค่าลิขสิทธิ์ตลอดท้ังปี ฿360,000 เมื่อกฎหมายอนุญาตให้คุณหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% ได้เพียงทางเดียวเท่าน้ัน คุณจึงน่าจะหักค่าใช้จ่ายสำหรับค่าค่าลิขสิทธิ์ของคุณได้

฿360,000 x 50% = ฿180,000

แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดเพดานให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับค่าลิขสิทธิ์ได้สูงสุดเพียง ฿100,000 ดังน้ัน เราจึงหักค่าใช้จ่ายสำหรับค่าค่าลิขสิทธิ์ได้

-฿180,000- ฿100,000 เท่าน้ัน

อะไรเป็นเงินได้ประเภทที่ 3 ได้บ้าง?

  • ค่าลิขสิทธิ์

ค่าลิขสิทธิ์ จะมาจากค่าตอบแทนหรือค่าจ้างจากงานเขียนคอลัมน์ บทประพันธ์ งานเพลง website โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือผลงานลิขสิทธิ์อื่นๆ ที่ผู้ว่าจ้างตกลงให้คุณเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่อนุญาตให้ผู้ว่าจ้างใช้ประโยชน์

ค่าลิขสิทธิ์รวมถึงเงินได้จากการขายสินค้าดิจิตอลโดยให้โหลดโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป, เกมส์, วีดีโอ, รูปภาพ, ภาพยนต์, เพลง, มิวสิควีดีโอ ผ่านระบบ online เป็นต้น

แต่การโอนลิขสิทธิ์ให้แบบขายขาด หรือการขายสินค้าลิขสิทธิ์เหล่านี้เป็นของมีรูปร่าง เช่น ขายเป็นแผ่น หรือขายหนังสือหรือพิมพ์หนังสือขายเอง ไม่นับเป็นค่าลิขสิทธิ์แต่เป็น เงินได้ประเภทที่ 84

  • ค่าตอบแทนทรัพย์สินทางปัญญา (Royalty)

นอกจากค่าลิขสิทธิ์แล้ว เงินได้ประเภทที่ 3 ยังครอบคลุมถึงค่าแฟรนไชส์ (Franchise) หรือค่า Royalty ตอบแทนการอนุญาตให้ใช้สิทธิในสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า know-how หรือสูตรลับต่างๆ (Licensing agreement)

แต่ค่า Royalty ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายทรัพย์สินทางปัญญาแบบขายขาด เช่น โอนกรรมสิทธิ์ในสิทธิบัตร

  • ค่า Goodwill

เงินได้ประเภทที่ 3 ยังครอบคลุมค่า Goodwill หรือชื่อเสียงทางการค้า (ค่าความนิยม)

  • เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์และเงินรายปีจากนิติกรรมหรือคำพิพากษาของศาล

เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์หรือเงินที่กำหนดกันเป็นเงินรายปีที่มาจากนิติกรรม หรือคำพิพากษาของศาล เช่น เงินปี (Annuity) ที่ไม่ได้มาจากพินัยกรรมหรือมรดก ค่าเลี้ยงดูรายปีเนื่องจากการหย่า ค่าตอบแทนจากการจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินของคุณ ค่าตอบแทนจากการให้คนอื่นเซ้งสิทธิการเช่าต่อจากคุณ ซึ่งรายได้กลุ่มนี้กฎหมายไม่อนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายได้

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

ในกรณีที่คุณอยู่ในประเทศไทยแล้วได้รับเงินจากการขาย LINE Creator Sticker จากประเทศญี่ปุ่น หลายคนมักเข้าใจผิดว่าต้องนำเงินก้อนนั้นมาเสียภาษีในไทยด้วย แต่ที่จริงแล้วโดยทั่วไปคุณไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินจากการขาย LINE Creator Sticker จากญี่ปุ่นมาเสียภาษีหรือแม้แต่ ยื่นภาษี ในไทยอีกแล้ว

เพราะประเทศญี่ปุ่นเป็นคู่สนธิสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ดังนั้นเมื่อคุณถูกหักภาษีที่ญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว สนธิสัญญาจึงช่วยยกเว้นให้คุณไม่ต้องเสียภาษีหรือยื่นภาษีในไทยอีก5


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 40(3) ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    ข้อ 2.2 หน้า 2-3 คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสามีและภริยา (ฉบับที่ 2), www.rd.go.th

  3. ^

    มาตรา 42 ตรี ประมวลรัษฎากร, มาตรา 4 ทวิ พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502, พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 634) พ.ศ. 2560

  4. ^

    ภาษีค่าสิทธิ (2), สรรพากรสาส์น: http://sanpakornsarn.com

  5. ^

    ข้อ 3 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505, ข้อ 12.2 และ 12.3 อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้