Contents

ผ่อนชำระภาษี

1,547 views

โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ในกรณีที่คุณ ยื่นภาษี สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วต้องจ่ายเงินภาษีเพิ่มตั้งแต่ ฿3,000 ขึ้นไป คุณสามารถเลือกขอ ผ่อนภาษี 0% นาน 3 เดือน เป็นจำนวน 3 งวดเท่าๆ กันได้1 โดยแจ้งความประสงค์ตอนยื่นภาษีผ่านระบบยื่นภาษี หรือแจ้งกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร (ทั่วประเทศ) หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารผู้รับชำระภาษี (เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น)

วิธีการผ่อนจ่ายภาษี

กรมสรรพากรได้กำหนดการผ่อนจ่ายภาษีไว้เป็น 2 กรณี ดังนี้

1. กรณียื่นภาษีแบบกระดาษ

หากคุณเลือกยื่นภาษีแบบกระดาษ และมีความประสงค์ต้องการแบ่งชำระค่าภาษี สามารถทำได้โดยติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้าน และขอเอกสาร บ.ช. 35 จากเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่ได้เลย โดยจะแบ่งชำระ 3 งวดตามกำหนดการดังนี้2

  • จ่ายภาษีงวดที่ 1 พร้อมกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี
  • จ่ายภาษีงวดที่ 2 ภายในวันที่ 30 เมษายน
  • จ่ายภาษีงวดที่ 3 ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม

2. กรณียื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ (E-FILING)

หากคุณเลือกยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ของกรมสรรพากร คุณจะได้สิทธิยืดเวลายื่นภาษีออกไปได้อีก 8 วัน และยังสามารถเลือกทำรายการแบ่งจ่ายภาษีได้บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้ทันทีว่าต้องการผ่อนจ่ายภาษีหรือไม่

เมื่อผู้เสียภาษียืนยันแบบแสดงรายการภาษีแล้ว หากมียอดภาษีที่ต้องจ่ายตั้งแต่ ฿3,000  ระบบของกรมสรรพากรจะแจ้งข้อความอัตโนมัติว่า ประสงค์ที่จะผ่อนชำระภาษีหรือไม่? หากไม่ต้องการผ่อนจ่ายภาษีก็สามารถเลือก ไม่ประสงค์ผ่อนชำระ ได้

โดยจะแบ่งชำระออกเป็น 3 งวดดังนี้

  • จ่ายภาษีงวดที่ 1 ภายในวันที่ 8 เมษายน (วันสุดท้ายที่กรมสรรพากรกำหนดให้ยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์)
  • จ่ายภาษีงวดที่ 2 ภายในวันที่ 8 พฤษภาคม ( 1เดือนหลังจากวันที่จ่ายภาษีงวดที่ 1)
  • จ่ายภาษีงวดที่ 3 ภายในวันที่ 8 มิถุนายน (1 เดือนหลังจากวันที่จ่ายภาษีงวดที่ 2)

เลือก ผ่อนชำระภาษี 3 งวด แต่ลืมชำระ

ในกรณีที่ขอผ่อนชำระภาษีไว้แต่คุณลืมชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา คุณจะหมดสิทธิผ่อนชำระภาษีเป็นรายงวดต่อไป และต้องจ่ายค่าภาษีที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) ในอัตรา 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือที่ยังไม่ได้ชำระและงวดต่อๆ ไป3

ช่องทางชำระภาษีกรณีค้างจ่าย

คุณต้องติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้านอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถชำระออนไลน์ได้แล้ว

ตัวอย่าง

กรณีลืมชำระงวดแรก

คุณยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์และมีภาษีต้องจ่ายเพิ่ม ฿30,000 จึงขอใช้สิทธิผ่อนชำระภาษี 3 งวด งวดละ ฿10,000 แต่ลืมชำระงวดแรกภายในวันที่ 8 เมษายน ผลลัพธ์จะเป็นดังนี้

  • คุณจะหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็นรายงวดทั้ง 3 งวดต่อไป
  • คุณต้องจ่ายภาษี ฿30,000 ทันทีทั้งจำนวน
  • คุณต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษี ฿30,000 (ค่าภาษีที่ยังไม่ได้ชำระและงวดต่อๆ ไปรวมกัน)
  • คุณต้องติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้านอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถชำระออนไลน์ได้แล้ว
กรณีลืมชำระงวดที่ 2

คุณยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์และมีภาษีต้องจ่ายเพิ่ม ฿30,000 จึงขอใช้สิทธิผ่อนชำระภาษี 3 งวด งวดละ ฿10,000 โดยชำระงวดแรก ฿10,000 ไปแล้ว แต่ลืมชำระงวดที่สองภายในวันที่ 8 พฤษภาคม ผลลัพธ์จะเป็นดังนี้

  • คุณจะหมดสิทธิที่จะขอผ่อนชำระภาษีงวดที่ 2 และงวดสุดท้าย
  • คุณต้องจ่ายภาษี 2 งวดที่เหลืออีก ฿20,000 ทันที
  • คุณต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษี ฿20,000 (ค่าภาษีที่ยังไม่ได้ชำระและงวดต่อๆ ไปรวมกัน)
  • คุณต้องติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้านอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถชำระออนไลน์ได้แล้ว
กรณีลืมชำระงวดสุดท้าย

คุณยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์และมีภาษีต้องจ่ายเพิ่ม ฿30,000 จึงขอใช้สิทธิผ่อนชำระภาษี 3 งวด งวดละ ฿10,000 โดยชำระสองงวดแรกไปแล้ว ฿20,000 แต่ลืมชำระงวดสุดท้ายภายในวันที่ 8 มิถุนายน ผลลัพธ์จะเป็นดังนี้

  • คุณต้องจ่ายภาษีงวดสุดท้ายที่เหลืออีก ฿10,000 ทันที
  • คุณต้องเสียเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษี ฿10,000 (ค่าภาษีที่ยังไม่ได้ชำระ)
  • คุณต้องติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้านอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถชำระออนไลน์ได้แล้ว

อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 64 ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    มาตรา 64 (1) ประมวลรัษฎากร

  3. ^

    มาตรา 64 ประมวลรัษฎากร