Contents

เงินได้ประเภทที่ 4

204,183 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เงินได้ประเภทที่ 4 คือ เงินได้พึงประเมิน ในรูปของ ดอกเบี้ย และเงินปันผล รวมถึงรายได้ลักษณะเดียวกัน ที่ทำให้ผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในวงการภาษีบางครั้งก็เรียกว่า เงินได้ 40(4)1

ทั้งนี้ เงินได้ประเภทที่ 4 ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เลย

อย่างไรก็ดี ถ้าคุณมีคู่สมรสที่จะแยกยื่นภาษีเองอยู่แล้ว คุณสามารถเลือกให้คู่สมรสนำเงินได้ประเภทนี้ของคุณไปยื่นเป็นรายได้ของเขาแทนก็ได้2

เงินได้ประเภทที่ 4 เป็นอะไรได้บ้าง?

1. ดอกเบี้ย

ดอกเบี้ยที่นับเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่

  • ดอกเบี้ยพันธบัตร
  • ดอกเบี้ยเงินฝาก
  • ดอกเบี้ยหุ้นกู้
  • ดอกเบี้ยตั๋วเงิน
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่ จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย
  • ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารหนี้ซึ่งบริษัทเงินทุนเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน (Original Issue Discount bond: OID)
  • เงินได้ทำนองเดียวกับดอกเบี้ย รวมถึงผลประโยชน์จากการให้กู้ยืมหรือสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิด เช่น เงินเทียบเท่าเงินปันผล จาก NVDR หรือ DR เป็นต้น
(ข้อยกเว้น) ดอกเบี้ยที่ไม่ต้องยื่นภาษี

ดอกเบี้ยต่อไปนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้

  • ดอกเบี้ยสลากออมสิน หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภทฝากเผื่อเรียก เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารออมสิน3 ดอกเบี้ยเงินฝาก ธ.ก.ส.4 ดอกเบี้ยสลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส.5 เป็นต้น
  • ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์ออมทรัพย์6
  • ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในไทยทั่วไปประเภทออมทรัพย์ที่รวมกันแล้วตลอดปีไม่เกิน ฿20,000 (หากเกิน ฿20,000 ต้องนำดอกเบี้ยนั้นมาคำนวณภาษีทั้งจำนวนตั้งแต่บาทแรกเลย)7 ทั้งนี้ เจ้าของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นี้จะต้องไม่คัดค้านการส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารให้กรมสรรพากร8
  • ดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารในประเทศไทยและจากสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศเป็นรายเดือนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 24 เดือน นับแต่วันที่ฝาก โดยมียอดเงินฝากทุกครั้งเท่ากันแต่ไม่เกิน ฿25,000 ต่อเดือนและรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน ฿600,000 (ในทางปฏิบัติมักเรียกว่า เงินฝากประจำปลอดภาษี)9
  • ดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารในไทยสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 55 ปี ที่ฝากประจำตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วตลอดปีไม่เกิน ฿30,000 (หากเกิน ฿30,000 ต้องนำดอกเบี้ยนั้นมาคำนวณภาษีทั้งจำนวนตั้งแต่บาทแรกเลย)10
  • ดอกเบี้ยที่คุณยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไปแล้วและต้องการให้ภาษี ณ ที่จ่ายนั้นเป็นภาษีสุดท้ายไปเลย

2. เงินปันผล

โดยปกติ เงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทไทยหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไทย เป็นเงินได้ที่ต้องยื่นภาษี แต่กฎหมายก็เปิดโอกาสให้คุณเลือกไม่ยื่นภาษีก็ได้ถ้าคุณยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ไปเลย และไม่ใช้สิทธิขอคืน เครดิตภาษีเงินปันผล

แม้เงินปันผลจะหักค่าใช้จ่ายไม่ได้แต่ก็สามารถใช้เครดิตภาษีเงินปันผลได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดภาษีมากกว่าถ้าบริษัทที่จ่ายเงินปันผลนั้นเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าคุณ เช่น บริษัทเสียภาษีในอัตรา 20% แต่คุณน่าจะเสียภาษีในอัตรา 15%

นอกจากนี้ ยังมีเงินปันผลบางประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษี เช่น เงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ไม่ต้องนำไปยื่นภาษีด้วย

ทั้งนี้ ถ้าเลือกยื่นเงินปันผลแล้วต้องยื่นเงินปันผลทุกก้อนด้วย ทั้งเงินปันผลหุ้นและเงินปันผลกองทุนรวม11

2.1 เงินปันผลจากกองทุนรวมทั่วไปตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์

เงินปันผลจากกองทุนรวม RMF/LTF หรือกองทุนรวมทั่วไป (รวมถึงกำไรจากการขายกองทุนรวม RMF/LTF) ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นมา เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในฐานะเงินได้ประเภทที่ 4 แล้ว ดังนั้น ถ้าเลือกเงินปันผลจากกองทุนรวมนี้ไปยื่นภาษีแล้วต้องยื่นเงินปันผลทุกก้อน รวมทั้งเงินปันผลจากหุ้นด้วย

แต่ถ้าคุณได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวมประเภทอื่น เช่น กองทุน RMF/LTF หรือกองทุนรวมทั่วไป ที่ได้รับก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2562 จะถือเป็น เงินได้ประเภทที่ 8

2.2 เงินปันผลรูปแบบอื่น

นอกจากเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทไทยหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไทย ยังมีเงินปันผลรูปแบบอื่น ได้แก่ เงินปันผลจากบริษัทต่างประเทศ และเงินปันผลจากกองทุนรวมที่ไม่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีเหลือแล้ว

2.3 เงินได้ทางอื่นจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

ในบางกรณีแม้จะไม่ได้รับเป็นเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรมาตรงๆ แต่ถ้าคุณได้รับเงินหรือผลประโยชน์ในลักษณะต่อไปนี้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็ให้ถือว่าเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ด้วย

  • เงินโบนัสที่คุณได้รับในฐานะผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วน
  • เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน
  • เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือเงินที่กันไว้รวมกัน
  • ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากันหรือรับช่วงกัน หรือเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน และไม่ได้รับยกเว้นภาษี
  • ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน หรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือ ตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ออก เฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (Capital gain)

Cryptocurrency และ Digital Token

ดูเพิ่ม การคำนวณภาษีคริปโท (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)

ทั้งคริปโทเคอร์เรนซี่เช่น Bitcoin (BTC), Litecoin (LTC) หรือ Ethereum (ETH) และ โทเคนดิจิทัล ที่เกิดขึ้นจากการระดมทุนผ่านการทำ ICO (Initial Coin Offering) ก็เป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ด้วยเช่นกัน12 หากมีกำไรจากการขายหรือได้รับผลประโยชน์หรือส่วนแบ่งกำไรจากการถือครองก็จะต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน โดยจะถูก หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15%13

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • การรวมคำนวณภาษี

หลายคนเข้าใจผิดว่าถ้าเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 แล้ว ถ้าเลือกนำมารวมคำนวณภาษีแล้วต้องนำมารวมทั้งประเภท แต่ความจริงแล้วคุณสามารถเลือกนำบางตัวที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายไปแล้วมาคำนวณได้ เพียงแต่ว่าถ้าเลือกหมวดใดมาคำนวณแล้วต้องนำมารวมคำนวณทั้งหมวดเลย

เช่น ในกรณีที่มีเงินได้จากเงินปันผล และผลตอบแทนจากหุ้นกู้ คุณสามารถเลือกนำเงินปันผลมารวมคำนวณแต่เพียงอย่างเดียว แล้วปล่อยให้ผลตอบแทนจากหุ้นกู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายก็ได้ เพียงแต่ว่าถ้าคุณตัดสินใจเลือกนำเงินปันผลมารวมคำนวณภาษีแล้ว จะต้องนำทั้งเงินปันผลหุ้น และเงินปันผลจากกองทุนรวมที่ได้รับ “ทุกตัว” มารวมคำนวณภาษีด้วยทั้งหมด จะเลือกเฉพาะเงินปันผลหุ้นหรือกองทุนรวมเพียงบางตัวมารวมคำนวณภาษีไม่ได้

  • กรณีที่เงินปันผลหุ้นที่ได้รับ เป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี

เงินปันผลจากหุ้นที่ได้รับนั้นหากเป็นส่วนที่ได้รับยกเว้นภาษี (ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%) จะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี ทำให้เงินได้ส่วนนี้ไม่สามารถนำไปใช้เป็นฐานเพื่อคำนวณเพดานสิทธิลดหย่อน SSF/ RMF ได้ เนื่องจากการคำนวณเพดานสิทธิลดหย่อนนี้จะต้องคำนวณจากเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น

  • ใครเป็นผู้ถือหุ้น เงินปันผลที่ได้ถือเป็นรายได้ของบุคคลนั้น

โดยปกติใครเป็นผู้ถือหุ้น เงินปันผลที่ได้รับก็ต้องเป็นรายได้ของคนนั้น แต่ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นยังอายุไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์และยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส) เงินปันผลกลับไม่นับว่าเป็นรายได้ของเด็ก แต่ให้ถือเป็นเงินได้ของผู้ปกครอง (หรือถือว่าเป็นของพ่อไปเลยถ้าพ่อแม่จดทะเบียนสมรสกันและอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี)

ดังนั้น เด็กจะไม่สามารถใช้สิทธิขอเครดิตภาษีเงินปันผลได้ เพราะเงินปันผลนั้นเป็นของผู้ปกครอง การขอเครดิตภาษีเงินปันผลจึงเป็นสิทธิ์ของผู้ปกครองด้วย14

หากในปีภาษีนี้ คุณเป็นหนึ่งคนที่มีเงินได้ประเภทที่ 4 ไม่ว่าจะเป็น เงินได้ที่มาจากดอกเบี้ย หรือเงินปันผลที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่ต้องยื่นภาษี) คุณจะต้องเอาเงินได้ในส่วนนั้นมาคำนวณภาษีประจำปีด้วย และไม่ต้องกลัวว่าคุณจะปวดหัวและใช้เวลาไปกับการคำนวณภาษีมากกว่าเดิม เพราะคุณสามารถใช้โปรแกรมจาก iTAX เพื่อคำนวณภาษี และวางแผนภาษี พร้อมหา ตัวช่วยลดหย่อนภาษี ได้เช่นเคย


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 40(4) ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    ข้อ 2.2 หน้า 2-3 คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสามีและภริยา (ฉบับที่ 2), www.rd.go.th

  3. ^

    มาตรา 42(8)(ก) ประมวลรัษฎากร

  4. ^

    มาตรา 42(17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(22) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  5. ^

    มาตรา 42(17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(60) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  6. ^

    มาตรา 42(8)(ข) ประมวลรัษฎากร

  7. ^

    มาตรา 42(17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(38) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  8. ^

    ประกาศอธิบดี ฉบับที่ 347 (พ.ศ. 2562)

  9. ^

    พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539)

  10. ^

    มาตรา 42(17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(69) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 137)

  11. ^

    ข้อ 19 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 119/2545

  12. ^

    มาตรา 40 (4)(ซ),(ฌ) ประมวลรัษฎากร

  13. ^

    มาตรา 50 (2)(ฉ) ประมวลรัษฎากร

  14. ^

    มาตรา 40 (4)(ข) วรรคสอง ประมวลรัษฎากร