Contents

ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 2567 (update ล่าสุด)

739,286 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า ภาษีที่ดิน เป็นภาษีที่จัดเก็บเป็นรายปีตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (เช่น บ้าน อาคาร) ที่ครอบครอง โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), กรุงเทพมหานคร, เมืองพัทยา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดเก็บ1

ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 13 มีนาคม 2562 และจะเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยอัตราภาษีจะคำนวณตามประเภทการใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ปีละ 0.01% ไปจนถึงปีละ 3% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง2

ปี 2567 กระทรวงมหาดไทยประกาศเลื่อนเก็บภาษีที่ดินออกไปอีก 2 เดือน 3

การมาของ ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างทำให้ต้องยกเลิกการเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีบำรุงท้องที่ด้วยเนื่องจากซ้ำซ้อนกัน4

ผู้เสียภาษี

ผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ 1) เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือ 2) ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลก็ได้5

ทั้งนี้ การดูว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะดูจากโฉนดที่ดิน ไม่ได้ดูตามทะเบียนบ้าน

ถ้าใครเป็นเจ้าของหรือครอบครองท่ีดินหรือส่ิงปลูกสร้างอยู่ในวันท่ี 1 ม.ค. ของปีไหน ก็ให้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้นไป6 โดยผู้เสียภาษีจะได้รับจดหมายแจ้งการประเมินภาษีว่าต้องจ่ายค่าภาษีทั้งหมดเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่

ในกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นมีเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันหลายคน ทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อค่าภาษีดังกล่าว โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนจะได้รับจดหมายแจ้งการประเมินภาษีว่าค่าภาษีทั้งหมดว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่

ถ้าเจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นเป็นคนละคนกัน ก็ให้เจ้าของที่ดินเสียภาษีเฉพาะส่วนของมูลค่าที่ดิน ส่วนเจ้าของสิ่งปลูกสร้างก็เสียภาษีเฉพาะส่วนของมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง7

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี

โดยทั่วไป ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง (เช่น โกดัง บ้าน อาคาร ที่คนสามารถอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้) จะต้องเสียภาษีโดยใช้มูลค่าทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยแยกตามรายการดังนี้8

  • ท่ีดิน – ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ท่ีดิน
  • ส่ิงปลูกสร้าง – ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง
  • ส่ิงปลูกสร้างท่ีเป็นห้องชุด (คอนโด) – ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและส่ิงปลูกสร้าง อัตราภาษีท่ีจัดเก็บ และรายละเอียดอื่นท่ีจำเป็นในการจัดเก็บภาษีในแต่ละปี ณ สำนักงาน หรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของปีน้ัน9 โดยจะแสดงไว้ ณ สํานักงานหรือที่ทําการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานที่อื่นที่ประชาชนเข้าถึงได้ รวมถึงแสดงผ่านเว็บไซต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย10 ซึ่งโดยปกติแล้ว ราคาประเมินทุนทรัพย์จะเป็นราคาเดียวกับราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมท่ีดิน

กรณีที่ดินไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์

ก็ให้ประเมินจากราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินบริเวณใกล้เคียงที่มีสภาพคล้ายคลึงกันและมีระยะความลึกของแปลงท่ีดินใกล้เคียงกัน (กรณีเป็นที่ดินที่มีโฉนด หรือ น.ส. 3 ก.) หรือราคาที่ดินตามบัญชีกําหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินรายเขตปกครองของกรมธนารักษ์หรือสํานักงานธนารักษ์พื้นที่ (กรณีเป็นที่ดินไม่มีโฉนดหรือหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน)

ทั้งนี้ หากเป็นท่ีดินที่มีสภาพเป็นบ่อลึกจากระดับพื้นดินเกิน 3 เมตร บ่อท่ีเกิดจากการทําเหมือง และบ่อน้ําบาดาล ให้ใช้มูลค่า 25% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ ส่วนที่ดินท่ีมีแนวเขตเดินสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน ให้ใช้มูลค่า 30% ของราคาประเมินทุนทรัพย์11

ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์ ก็ให้ประเมินจากราคาประเมินทุนทรัพย์ของสิ่งปลูกสร้างของบัญชีเทียบเคียงส่ิงปลูกสร้างของกรมธนารักษ์หรือสํานักงานธนารักษ์พื้นท่ี แต่ถ้าเทียบเคียงไม่ได้จริงๆ (เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากที่มีในบัญชีสิ่งปลูกสร้างฯ จนเทียบเคียงกันไม่ได้ เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า สถานีรับส่งสัญญาณภาคพื้นดิน ฯลฯ) ก็จะแจ้งให้ผู้เสียภาษีนําส่งเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงมูลค่าสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบการพิจารณากําหนดราคาของส่ิงปลูกสร้างและจัดทําเป็นบัญชีส่ิงปลูกสร้างท่ีมีลักษณะพิเศษต่อไป

อนึ่ง ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างจะคิดภาษีเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น ไม่คิดจากทรัพย์สินอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นโรงงานก็นำเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาคำนวณภาษีโดยไม่รวมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่างๆ

นอกจากนี้ สิ่งปลูกสร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จและยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จะไม่ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี

วิธีคำนวณภาษี

การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะใช้คำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น โดยใช้สูตรเบื้องต้น คือ12

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง – มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับยกเว้น = มูลค่าของฐานภาษี

มูลค่าของฐานภาษี × อัตราภาษี = ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

อนึ่ง กรณีที่ดินหลายแปลงมีอาณาเขตติดต่อกันและเป็นของเจ้าของเดียวกัน ให้คำนวณมูลค่าท่ีดินทั้งหมดรวมกันเป็นฐานภาษี13

การหักมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับยกเว้น

การหักมูลค่าของฐานภาษีเป็นสิทธิประโยชน์เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น ซึ่งจะได้รับเฉพาะกรณีต่อไปนี้เท่านั้น

  • ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของท่ีดินหรือสิ่งปลูกสร้างท่ีใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม – ได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษีได้ ฿50 ล้าน14 แต่ในกรณีที่มีหลายแปลงแต่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันมากกว่า 1 แปลง ให้นำมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นหักด้วย ฿50 ล้าน โดยให้หักมูลค่าของที่ดินและส่ิงปลูกสร้างของแปลงที่มีมูลค่าสูงที่สุดก่อน แล้วหักมูลค่าของที่ดินและส่ิงปลูกสร้างท่ีมีมูลค่ารองลงมาตามลำดับ15
  • ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของท่ีดินหรือส่ิงปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นท่ีอยู่อาศัย และมีช่ืออยู่ในทะเบียนบ้านในวันท่ี 1 มกราคมของปีภาษีนั้น – ได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษีได้ ฿50 ล้าน16
  • บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นท่ีอยู่อาศัย และมีช่ืออยู่ในทะเบียนบ้านในวันท่ี 1 มกราคมของปีภาษีนั้น – ได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษีได้ ฿10 ล้าน17

วิธีเสียภาษี

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช้วิธีประเมินภาษีโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ประเมินให้ และจะส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีภายในเดือน ก.พ. ของแต่ละปี18 และต้องชำระภาษีภายใน 30 เม.ย. ของปีนั้น19 ซึ่งค่าภาษีหากเป็นเงินก้อนตั้งแต่ 3,000 บาท สามารถขอผ่อนชำระเป็น 3 งวดเท่าๆ กันได้เป็นเวลา 3 เดือน โดยต้องยื่นหนังสือขอผ่อน ชำระภาษีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ สำนักงานหรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนชำระค่าภาษีงวดแรก20

อย่างไรก็ดี ในปี 2566 มีประกาศลดเลื่อนกำหนดการชำระภาษีออกไปถึง 30 มิ.ย. 2566 21

แบบประเมินภาษีจะประกอบด้วย

  • รายการที่ดินหรือส่ิงปลูกสร้าง
  • ราคาประเมินทุนทรัพย์
  • อัตราภาษี
  • จำนวนภาษีที่ต้องชำระ

สถานที่ชำระภาษี

  • เทศบาล ชำระที่สำนักงานเทศบาล
  • อบต. ชำระที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล
  • กทม. ชำระที่สำนักงานเขต
  • เมืองพัทยา ชำระที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

อย่างไรก็ดี ผู้บริหารท้องถิ่นอาจกำหนดให้ใช้สถานท่ีอื่นภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน้ันเป็นสถานที่สำหรับชำระภาษีได้ตามท่ีเห็นสมควร22

วันที่ชำระภาษีโดยปกติจะให้ถือเอาตามวันที่พนักงานเก็บภาษีลงลายมือช่ือในใบเสร็จรับเงิน23 แต่ถ้าชำระโดยวิธีอื่น เช่น ชำระโดยผ่านทางธนาคารให้ถือว่าวันท่ีธนาคารได้รับเงินค่าภาษีเป็นวันท่ีชำระภาษี24

การขอเงินคืนภาษี

ในกรณีที่คุณเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกินกว่าจำนวนท่ีต้องเสีย ไม่ว่าโดยความผิดพลาดของตนเองหรือจากการประเมินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คุณมีสิทธิขอเงินคืนภาษีได้ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ชำระภาษีโดยยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่น25

ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ประเมินภาษีผิดพลาด คุณมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือน (เศษของเดือนของเงินปัดเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีท่ีได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ยื่นคำร้องขอรับคืนเงินจนถึงวันที่คืนเงิน ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่จะได้รับคืน26

อัตราภาษี

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างกำหนดอัตราภาษีจำแนกตามประเภทการใช้ประโยชน์และตัวผู้เสียภาษี27 ทั้งนี้ อัตราภาษีจะใช้คำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น

อนึ่ง หากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท ภาษีจะคำนวณตามสัดส่วนพื้นที่การใช้ประโยชน์ในท่ีดินหรือส่ิงปลูกสร้างแต่ละประเภท28

อย่างไรก็ดี ปี 2566 รัฐบาลยังประกาศลดภาษีที่ดินอีก 15% จากค่าภาษีที่คำนวณได้29

1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ต้องเป็นการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามหลักเกณฑ์ท่ีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร่วมกันประกาศกำหนด30

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้หมายความรวมถึงการปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำนาเกลือสมุทร การทำสวนป่า การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค หรือจำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม และให้รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมนั้นด้วย และระยะเวลาในการประกอบเกษตรกรรมให้รวมถึงช่วงเวลาพักการเกษตร เพื่อฟื้นฟูสภาพที่ดิน หรือการพักที่ดินระหว่างฤดูกาลผลิต หรือการตัดวงจรโรคด้วย

ทั้งนี้ ถ้าเป็นบริษัทต้องขึ้นทะเบียนว่าทำเกษตรกรรมแล้ว ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาต้องขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรแล้วหรือเป็นเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อื่นที่เพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ตามจำนวนขั้นต่ำที่เป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

ก. บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

พ.ศ. 2563-256531

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ไม่จำกัด ยกเว้น

พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป32

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿50 ล้าน ยกเว้น33
>฿50 – ฿125 ล้าน 0.01%
>฿125 ล้าน – ฿150 ล้าน 0.03%
>฿150 ล้าน – ฿550 ล้าน 0.05%
>฿550 ล้าน – ฿1,050 ล้าน 0.07%
>฿1,050 ล้าน 0.10%
ข. กรณีอื่น

พ.ศ. 2563-256434

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿75 ล้าน 0.01%
>฿75 ล้าน – ฿100 ล้าน 0.03%
>฿100 ล้าน – ฿500 ล้าน 0.05%
>฿500 ล้าน – ฿1,000 ล้าน 0.07%
>฿1,000 ล้าน 0.10%

พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป35

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿75 ล้าน 0.01%
>฿75 ล้าน – ฿100 ล้าน 0.03%
>฿100 ล้าน – ฿500 ล้าน 0.05%
>฿500 ล้าน – ฿1,000 ล้าน 0.07%
>฿1,000 ล้าน 0.10%

หลักเกณฑ์ขั้นต่ำที่เข้าลักษณะใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

ปลูกพืช

การประกอบการเกษตรที่เป็นการทําไร่ การปลูกผัก การปลูกไม้ผลยืนต้น การปลูกสวนป่า การปลูกป่าเศรษฐกิจ แบบสวนเฉพาะ หรือการปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสมที่มีชนิดพืชดังต่อไปนี้ จะต้องประกอบการเกษตรให้ได้อัตราขั้นต่ำตามที่กําหนดไว้ในตารางนี้ จึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม36

ชนิดพืช อัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตร (ต่อไร่)
กล้วยหอม 200 ต้น
กล้วยไข่ 200 ต้น
กล้วยน้ำว้า 200 ต้น
กะท้อนเปรี้ยว  25 ต้น
กะท้อนพันธุ์ทับทิม  25 ต้น
กะท้อนพันธุ์ปุยฝ้าย  25 ต้น
กาแฟ 170 ต้น
กาแฟพันธุ์โรบัสต้า  170 ต้น
กาแฟพันธุ์อราบิก้า  533 ต้น
กานพลู 20 ต้น
กระวาน 100 ต้น
โกโก้ 150-170 ต้น
ขนุน 25 ต้น
เงาะ 20 ต้น
จำปาดะ 25 ต้น
จันทร์เทศ 25 ต้น
ชมพู่ 45 ต้น
ทุเรียน 20 ต้น
ท้อ 45 ต้น
น้อยหน่า 170 ต้น
นุ่น 25 ต้น
บ๊วย 45 ต้น
ปาล์มน้ำมัน 22 ต้น
ฝรั่ง 45 ต้น
พุทรา 80 ต้น
แพสชั่นฟรุ๊ต (เสาวรส) 400 ต้น
พริกไทย 400 ต้น
พลู 100 ต้น
มะม่วง 20 ต้น
มะพร้าวแก่ 20 ต้น
มะพร้าวอ่อน 20 ต้น
มะม่วงหิมพานต์ 45 ต้น
มะละกอ (ยกร่อง) 100 ต้น
มะละกอ (ไม่ยกร่อง) 175 ต้น
มะนาว 50 ต้น
มะปราง 25 ต้น
มะขามเปรี้ยว 25 ต้น
มะขามหวาน 25 ต้น
มังคุด 16 ต้น
ยางพารา 80 ต้น
ลิ้นจี่ 20 ต้น
ลำไย 20 ต้น
ละมุด 45 ต้น
ลางสาด 45 ต้น
ลองกอง 45 ต้น
ส้มโอ 45 ต้น
ส้มโอเกลี้ยง 45 ต้น
ส้มตรา 45 ต้น
ส้มเขียวหวาน 45 ต้น
ส้มจุก 45 ต้น
สตอเบอรี่ 10,000 ต้น
สาลี่ 45 ต้น
สะตอ 25 ต้น
หน่อไม้ไผ่ตง 25 ต้น
หมาก (ยกร่อง) 100-170 ต้น
พืชกลุ่มให้เนื้อไม้ 100 ต้น

หมายเหตุ : (1) กรณีที่ไม่ปรากฏชนิดพืชตามบัญชีแนบท้ายนี้ ให้ใช้อัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่ โดยเทียบเคียงจากชนิดพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงที่สุด

(2) กรณีที่ไม่สามารถเทียบเคียงจากชนิดพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงตาม (1) ได้ให้พิจารณาตาม ลักษณะการประกอบการเกษตรในแต่ละท้องถิ่น

เลี้ยงสัตว์

การประกอบการเกษตรที่เป็นการเลี้ยงปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่น ๆ ที่มีชนิดสัตว์ ดังต่อไปนี้ ต้องประกอบการเกษตรให้ได้อัตราขั้นต่ำตามที่กําหนดไว้ในตารางนี้ จึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม37

ชนิดสัตว์ พื้นที่คอกหรือโรงเรือน การใช้ที่ดิน
โค ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว 1 ตัวต่อ 5 ไร่
กระบือโตเต็มวัย ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว 1 ตัวต่อ 5 ไร่
แพะ-แกะโตเต็มวัย ขนาด 2 ตารางเมตรต่อตัว 1 ตัวต่อ 1 ไร่
สุกรพ่อพันธุ์ คอกเดี่ยว ขนาด 7.5 ตารางเมตรต่อตัว
สุกรแม่พันธุ์ คอกเดี่ยว ขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อตัว
สุกรอนุบาล ขนาด 0.5 ตารางเมตรต่อตัว
สุกรขุน ขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อตัว
คอกคลอด ใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 6 ตารางเมตรต่อตัว
ซองอุ้มท้อง ใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2 ตารางเมตรต่อตัว
สัตว์ปีกเลี้ยงปล่อย (เป็ดและไก่) 4 ตารางเมตรต่อตัว (ตามมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์)
กวาง 2 ไร่ต่อตัว
หมูป่า 5 ตารางเมตรต่อตัว (เลี้ยงในโรงเรือน)

0.25 ไร่ต่อตัว (เลี้ยงปล่อย)

ผึ้ง บริเวณที่มีพืชอาหารเลี้ยงผึ้ง เช่น เกสร และน้ําหวานดอกไม้ที่สมดุล กับจํานวนรังผึ้ง
จิ้งหรีด บริเวณพื้นที่เพียงพอและเหมาะสมกับขนาดและจำนวนบ่อ

หมายเหตุ: (1) กรณีที่ไม่ปรากฏชนิดสัตว์ตามบัญชีแนบท้ายนี้ให้ใช้อัตราขั้นต่ำของการเลี้ยงปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่น ๆ โดยเทียบเคียงจากชนิดสัตว์ที่มีลักษณะใกล้เคียงที่สุด
(2) กรณีที่ไม่สามารถเทียบเคียงจากชนิดสัตว์ที่มีลักษณะใกล้เคียงตาม (1) ได้ให้พิจารณาตามลักษณะการเลี้ยงปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่น ๆ ในแต่ละท้องถิ่น

เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

กรณีการประกอบการเกษตรที่เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ถือว่าการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม38

  1. พื้นที่บ่อดิน บ่อปูน กระชังบก บ่อพลาสติก โรงเพาะฟัก หรือพื้นที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในลักษณะ อื่นใด ที่ผู้ขุด ผู้สร้าง ผู้จัดท้า เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง มีความมุ่งหมายโดยตรงที่ใช้ท้าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
  2. ที่ดินที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องที่มีกิจกรรมใช้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น บ่อพักน้ำ บ่อบ้าบัดน้ำ คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ คูน้ำ คันดินขอบบ่อ ถนน และให้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นใด ที่ใช้ประโยชน์ เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง บ้านหลังที่ 2 ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย ให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยแบบรายเดือน (เช่น บ้านเช่า อพาร์ทเม้นท์ หอพัก คอนโด เป็นต้น) และโฮมสเตย์ ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย 

นอกจากนี้ สถานะของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วย เช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น 39

หมายเหตุ: ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่าง การพัฒนา หรือสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ขาย

ก. บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น (บ้านหลัก)

พ.ศ. 2563-256440

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿50 ล้าน ยกเว้น41
>฿50 – ฿75 ล้าน 0.03%
>฿75 – ฿100 ล้าน 0.05%
>฿100 ล้าน 0.10%

พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป42

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿50 ล้าน ยกเว้น43
>฿50 – ฿75 ล้าน 0.03%
>฿75 – ฿100 ล้าน 0.05%
>฿100 ล้าน 0.10%
ข. บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น (บ้านหลัก)

พ.ศ. 2563-256444

มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿10 ล้าน ยกเว้น45
>฿10 – ฿50 ล้าน 0.02%
>฿50 – ฿75 ล้าน 0.03%
>฿75 – ฿100 ล้าน 0.05%
>฿100 ล้าน 0.10%

พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป46

มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿10 ล้าน ยกเว้น47
>฿10 – ฿50 ล้าน 0.02%
>฿50 – ฿75 ล้าน 0.03%
>฿75 – ฿100 ล้าน 0.05%
>฿100 ล้าน 0.10%
ค. กรณีอื่น เช่น บ้านหลังที่สอง (บ้านรอง)

พ.ศ. 2563-256448

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿50 ล้าน 0.02%
>฿50 – ฿75 ล้าน 0.03%
>฿75 – ฿100 ล้าน 0.05%
>฿100 ล้าน 0.10%

พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป49

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿50 ล้าน 0.02%
>฿50 – ฿75 ล้าน 0.03%
>฿75 – ฿100 ล้าน 0.05%
>฿100 ล้าน 0.10%

3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น เช่น ใช้เชิงพาณิชย์

พ.ศ. 2563-256450

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿50 ล้าน 0.30%
>฿50 – ฿200 ล้าน 0.40%
>฿200 – ฿1,000 ล้าน 0.50%
>฿1,000 – ฿5,000 ล้าน 0.60%
>฿5,000 ล้าน 0.70%

พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป51

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿50 ล้าน 0.30%
>฿50 – ฿200 ล้าน 0.40%
>฿200 – ฿1,000 ล้าน 0.50%
>฿1,000 – ฿5,000 ล้าน 0.60%
>฿5,000 ล้าน 0.70%

4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

ที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ต้องเสีย ภาษีที่ดิน คือ ที่ดินที่โดยสภาพแล้วสามารถทําประโยชน์ได้ แต่ไม่มีการทําประโยชน์ในที่ดินน้ันตลอดปีที่ผ่านมา (เว้นแต่เกิดจากเหตุธรรมชาติหรือเหตุพ้นวิสัยจนไม่สามารถทำประโยชน์ได้) หรือที่ดินที่โดยสภาพสามารถทําประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมได้

แต่การทําประโยชน์ตลอดปีที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศกําหนดร่วมกัน52

สิ่งปลูกสร้างรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ต้องเสียภาษีที่ดินฯ คือ ส่ิงปลูกสร้างท่ีโดยสภาพสามารถทําประโยชน์ได้ แต่ถูกทิ้งร้างและไม่ใช้ประโยชน์ในสิ่งปลูกสร้างนั้นตลอดปีท่ีผ่านมา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างหรือปรับปรุงเสร็จแล้วและโดยสภาพสามารถทําประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมหรือเป็นที่อยู่อาศัยหรือทําประโยชน์อื่นได้แต่ไม่ใช้ประโยชน์ตลอดปีท่ีผ่านมา53

พ.ศ. 2563-256454

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿50 ล้าน 0.30%
>฿50 – ฿200 ล้าน 0.40%
>฿200 – ฿1,000 ล้าน 0.50%
>฿1,000 – ฿5,000 ล้าน 0.60%
>฿5,000 ล้าน 0.70%

พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป55

มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี
฿0 – ฿50 ล้าน 0.30%
>฿50 – ฿200 ล้าน 0.40%
>฿200 – ฿1,000 ล้าน 0.50%
>฿1,000 – ฿5,000 ล้าน 0.60%
>฿5,000 ล้าน 0.70%

อนึ่ง ถ้าทิ้งร้างว่างเปล่าเวลา 3 ปีติดต่อกัน อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นอีก 0.3% และจะขึ้นภาษีอีก 0.3% ในทุกๆ 3 ปี แต่กำหนดเพดานภาษีท่ีเสียรวมท้ังหมดสูงสุดไม่เกิน 3%56

อย่างไรก็ดี ที่ดินที่อยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อทําประโยชน์ หรือสิ่งปลูกสร้างท่ีอยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงที่ดินหรือส่ิงปลูกสร้างที่ถูกรอนสิทธิในการทําประโยชน์โดยกฎหมายหรือโดยคําส่ังหรือคําพิพากษาของศาล และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างท่ีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง จะได้รับยกเว้นไม่ถือเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรกร้างว่างเปล่า57

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับยกเว้น ภาษีที่ดิน

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่อไปนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง58

  1. ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐซึ่งใช้ในกิจการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ หรือในกิจการสาธารณะ ทั้งนี้ โดยมิได้ใช้หาผลประโยชน์
  2. ทรัพย์สินท่ีเป็นที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การ สหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยมีข้อผูกพันที่ต้องยกเว้นภาษีให้ตามสนธิสัญญา หรือความตกลงอื่นใด
  3. ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลของต่างประเทศ ทั้งนี้ ให้เป็นไป ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน
  4. ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย
  5. ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติไม่ว่าของศาสนาใดที่ใช้เฉพาะเพื่อการประกอบศาสนกิจหรือ กิจการสาธารณะ หรือทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่ของสงฆ์ นักพรต นักบวช หรือบาทหลวง ไม่ว่าในศาสนาใด หรือทรัพย์สินที่เป็นศาลเจ้า ทั้งน้ี เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
  6. ทรัพย์สินท่ีใช้เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
  7. ทรัพย์สินที่เป็นของมูลนิธิหรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามท่ีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศรายชื่อเป็นองค์กรการกุศลสาธารณะแล้ว59 ท้ังน้ี เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
  8. ทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขท่ีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด
  9. ทรัพย์ส่วนกลางท่ีมีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมของอาคารชุด (ส่วนกลางของคอนโด)
  10. ท่ีดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรท่ีดิน
  11. ที่ดินอันเป็นพื้นท่ีสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  12. ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง60 ได้แก่
    • ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินของบุคคลซึ่งได้รับเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าข้ึน
    • ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจที่ยังมิได้ใช้ในกิจการของรัฐวิสาหกิจและยังมิได้ใช้หาผลประโยชน์
    • ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินว่างเปล่าในสนามบินรอบบริเวณทางวิ่ง ทางขับ หรือลานจอดอากาศยาน ท่ีกันไว้เพื่อความปลอดภัย
    • ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างท่ีใช้เป็นทางรถไฟหรือทางรถไฟฟ้าซึ่งใช้ในกิจการของการรถไฟหรือ การรถไฟฟ้าโดยตรง
    • ทรัพย์สินที่ใช้สําหรับการสาธารณูปโภคและทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันในโครงการของการเคหะแห่งชาติ
    • ทรัพย์สินของเอกชนที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ตํามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกําหนด
    • สิ่งปลูกสร้างที่เป็นบ่อสําหรับใช้ในระบบบําบัดน้ําเสียที่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องกับอาคาร
    • สิ่งปลูกสร้างที่เป็นบ่อน้ําที่ใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ
    • สิ่งปลูกสร้างที่เป็นถนน ลาน และร้ัว
    • ที่ดินท่ีมีกฎหมายกําหนดห้ามมิให้ทําประโยชน์
    • ทรัพย์สินที่เป็นที่ทําการของสํานักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
    • สิ่งปลูกสร้างของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ในโครงการศูนย์ราชการ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งก่อสร้างโดยใช้เงินจากการระดมทุนด้วยวิธีการ แปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เฉพาะส่วนท่ี
      1. กรมธนารักษ์เช่าเพื่อจัดให้เป็นที่ทำการของหน่วยงานของรัฐ
      2. หน่วยงานของรัฐซึ่งมีท่ีทำการตาม 1. ใช้สําหรับการสาธารณูปโภค หรือใช้ประโยชน์ร่วมกันในโครงการ
  13. ที่ดินซึ่งปกคลุมด้วยพืชพรรมเป็นองค์ประกอบหลัก และมีประโรชน์เพื่อสิ่งแวดสิ่งและ
    ระบบนิเวศการดำรงชีวิต หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

    • ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ในประเภทการลดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตรจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ เฉพาะโครงการที่สอดคล้องกับระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER Methodology) ในสาขาและขอบชายการปลูกบ้าและฟื้นฟูน้ำ
    • เป็นป่าชายเลน ซึ่งมีชนิดของพันธุ์ไม้ ความสูง และจำนวนตันชั้นต่ำต่อไร่ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประกาศกำหนด

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับสิทธิลดภาษี

ลดภาษี 15% (เฉพาะปี 2566)

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างทุกประเภทในปี 2566 ได้รับสิทธิลดภาษีลง 15% จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คำนวณได้61 เพื่อลดภาระและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่62

ลดภาษี 50%

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่อไปนี้ได้รับสิทธิลดภาษีลง 50% จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คำนวณได้63

  1. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด ที่เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วย การทะเบียนราษฎร ทั้งนี้ เฉพาะทรัพย์สินที่บุคคลดังกล่าวได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองมาโดย ทางมรดก และได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นแล้วก่อนวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562
  2. ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงผลิตไฟฟ้า และโรงผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้า
  3. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นเขื่อนและพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับเขื่อน ที่ใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า

ลดภาษี 90%

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่อไปนี้ได้รับสิทธิลดภาษีลง 90% จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คำนวณได้64

  1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สถาบันการเงินประชาชน หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้รับมา เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของหน่วยงานดังกล่าว
  2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นโครงการจัดสรร เพื่อที่อยู่อาศัยหรือการอุตสาหกรรม เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินดังกล่าว
  3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นอาคารชุด (คอนโด) เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดดังกล่าว
  4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว
  5. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับจัดสรรที่ดิน อาคารชุด หรือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแล้ว และผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตยังไม่ได้ขายเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2563
  6. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เฉพาะที่ใช้เป็นที่ตั้งตามแผนผังแสดงบริเวณและอาคารที่ระบุในรายการข้อกำหนดจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้น
  7. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในกิจการของโรงเรียนเอกชนในระบบ โรงเรียเอกชนนอกระบบ ประเภทสอนศาสนาหรือประเภทศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) หรือประเภทสถาบันศึกษาปอเนาะ เฉพาะที่ใช้เป็นที่ตั้งตามแผนผังแสดงบริเวณและอาคารที่ระบุในรายการตราสารจัดตั้งโรงเรียนนั้น
  8. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นสถานที่ให้บริการแก่ประชาชน เป็นการทั่วไปเฉพาะเพื่อ
    • การเล่นกีฬาตามชนิดที่สามารถขอจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้
    • สวนสัตว์
    • สวนสนุกที่มีเครื่องเล่นที่ได้รับอนุญาต
    • ที่จอดรถของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยที่จัดให้สำหรับผู้โดยสารรถไฟฟ้า
    • ที่ดินที่เป็นลานจอดรถโดยสารสาธารณะในสถานีขนส่งผู้โดยสาร
    • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในสนามบินที่ใช้เป็นทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดอากาศยาน ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
    • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ตั้งของถนนหรือทางยกระดับที่เป็นทางพิเศษ หรือเป็นทางหลวงสัมปทาน

บทลงโทษ

เบี้ยปรับ

เบี้ยปรับ คือ ค่าปรับที่เกิดจากการชำระภาษีไม่ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งแบ่งกรณีได้ดังนี้

  • ไม่ได้ชำระภาษีภายในเวลาท่ีกำหนด และได้รับหนังสือแจ้งเตือน – เสียเบี้ยปรับ 40% ของจำนวนภาษีค้างชำระ65
  • ไม่ได้ชำระภาษีภายในเวลาท่ีกำหนด แต่ชำระภาษีตามเวลาที่แจ้งไว้ตามหนังสือแจ้งเตือน – เสียเบี้ยปรับ 20% ของจำนวนภาษีค้างชำระ66
  • ไม่ได้ชำระภาษีภายในเวลาท่ีกำหนด แต่ชำระภาษีก่อนจะได้รับหนังสือแจ้งเตือน – เสียเบี้ยปรับ 10% ของจำนวนภาษีค้างชำระ67

เงินเพิ่ม

เงินเพิ่ม คือ ดอกเบี้ยที่เกิดจากการชำระภาษีล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด โดยจะคิดในอัตรา 1% ต่อเดือน (เศษของเดือนของเงินปัดเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีท่ีค้างชำระโดยไม่คิดทบต้น โดยเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีจนถึงวันที่ชำระภาษี ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่จะชำระ (แต่ถ้าได้รับการขยายกำหนดเวลาชำระภาษี และชำระภาษีภายในกำหนดนั้น อัตราเงินเพิ่มจะลดลงเหลือ 0.5% ต่อเดือน)68

โทษทางอาญา

การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี อาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ปรับสูงสุด ฿40,00069 และในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดก็อาจส่งผลให้กรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกันด้วย70

ข้อยกเว้น

หากเป็นกรณีที่ชำระภาษีล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดเนื่องจากประชาชนไม่ได้รับใบประเมินเรียกเก็บภาษี หรือเนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาในการชำระภาษีออกไปเอง ผู้เสียภาษีไม่มีความผิดจึงไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

การอุทธรณ์

ในกรณีที่ผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษี สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อผู้บริหารท้องถิ่นได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษี71

  • เทศบาล ยื่นต่อนายกเทศมนตรี
  • อบต. ยื่นต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
  • กทม. ยื่นต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
  • เมืองพัทยา ยื่นต่อนายกเมืองพัทยา

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • หลายคนเข้าใจผิดว่ากรมสรรพากรทำหน้าที่เก็บ ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง แต่ความจริงแล้วหน่วยงานที่จำเก็บ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), กรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา
  • ถ้าเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย (บ้าน คอนโด) หลายแห่ง หลายคนยังเข้าใจผิดว่าถ้าบ้านทุกหลังมูลค่าไม่เกิน ฿10-฿50 ล้าน ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ความจริงแล้วสิทธิดังกล่าวจะยกเว้นให้เฉพาะต้องเป็นที่อยู่อาศัยหลักที่ตัวเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น (บ้านหลัก) ซึ่งโดยปกติจะมีอยู่ได้แค่แห่งเดียว ดังนั้น ที่อยู่อาศัยอื่นที่ไม่มีชื่อเราอยู่ในทะเบียนบ้าน (บ้านรอง) จะต้องเสียภาษีด้วยอย่างแน่นอน
  • ทรัพย์ส่วนกลางท่ีมีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมของอาคารชุด (ส่วนกลางของคอนโด) ได้รับยกเว้นภาษี แต่ห้องที่อยู่อาศัยของเราไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของคอนโดจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษี
  • การประเมินภาษีไม่ได้ดูที่ราคาขายของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง แต่ดูที่มูลค่าตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของทางราชการเป็นหลัก
  • ในกรณีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม โดยปกติเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคนได้รับจดหมายแจ้งค่าภาษีที่ดินของที่แปลงเดียวกัน โฉนดใบเดียวกัน และมีข้อความเหมือนกัน หลายคนจึงเข้าใจผิดว่าต่างคนต่างถูกประเมินภาษีเป็นการส่วนตัวและต่างคนต่างต้องจ่ายภาษีตามจำนวนที่ปรากฏตามจดหมายที่ได้รับทุกคน แต่ความจริงแล้วค่าภาษีนั้นเป็นเพียงค่าภาษีรวมที่เจ้าของทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น สิ่งที่ถูกต้องคือเจ้าของทุกคนต้องตกลงร่วมกันว่าค่าภาษีตามหนังสือที่ได้รับนั้นจะแบ่งกันจ่ายอย่างไรก็ได้ เช่น ที่ดินมีเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมทั้งหมด 4 คน ถ้าเจ้าของทั้ง 4 คนได้รับแจ้งค่าภาษี 2,000 บาท ไม่ได้แปลว่าทั้ง 4 คนต้องจ่ายค่าภาษีคนละ 2,000 บาท เพราะที่ถูกต้องคือ ทั้ง 4 คน ต้องร่วมกันรับผิดชอบค่าภาษี 2,000 บาท นี้โดยจะแบ่งเท่าๆ กันคนละ 500 บาท หรือวิธีอื่นก็ได้ แต่สุดท้ายต้องมอบหมายให้เจ้าของคนใดคนหนึ่งดำเนินการชำระก็เป็นอันเรียบร้อยแล้ว

อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 7 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  2. ^

    มาตรา 43 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  3. ^

    ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ประจำปี พ.ศ. 2567

  4. ^

    มาตรา 3 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  5. ^

    มาตรา 5 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  6. ^

    มาตรา 9 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  7. ^

    มาตรา 48 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  8. ^

    มาตรา 35 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  9. ^

    มาตรา 39 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  10. ^

    กฎกระทรวง กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์อัตราภาษีและรายละเอียดอื่นในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  11. ^

    กฎกระทรวง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคํานวณมูลค่าที่ดินหรือส่ิงปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์ พ.ศ. 2562

  12. ^

    มาตรา 42 วรรคแรก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  13. ^

    มาตรา 42 วรรคสอง และมาตรา 94 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  14. ^

    มาตรา 40 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  15. ^

    ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

  16. ^

    มาตรา 41 วรรคแรก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  17. ^

    มาตรา 41 วรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  18. ^

    มาตรา 44 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  19. ^

    มาตรา 46 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  20. ^

    มาตรา 52 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวง การผ่อนชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  21. ^

    ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ประจำปี พ.ศ. 2566

  22. ^

    มาตรา 49 วรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  23. ^

    มาตรา 49 วรรคท้าย พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  24. ^

    มาตรา 51 วรรคท้าย พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  25. ^

    มาตรา 54 วรรคแรกและวรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  26. ^

    มาตรา 54 วรรคสี่ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  27. ^

    มาตรา 37 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562, มาตรา 3 พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564

  28. ^

    มาตรา 38 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดเก็บภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์หลายประเภท

  29. ^

    พระราชกฤษฎีกา ลดภาษีสาหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566

  30. ^

    ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

  31. ^

    มาตรา 96 พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  32. ^

    มาตรา 3(1) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564

  33. ^

    มาตรา 40 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  34. ^

    มาตรา 94(1) พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  35. ^

    มาตรา 3(1) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564

  36. ^

    บัญชีแนบท้าย ก. ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

  37. ^

    บัญชีแนบท้าย ข. ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

  38. ^

    บัญชีแนบท้าย ค. ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

  39. ^

    ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่ออง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นท่ีอยู่อาศัย

  40. ^

    มาตรา 94(2) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  41. ^

    มาตรา 41 วรรคแรก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  42. ^

    มาตรา 3(2)(ก) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564

  43. ^

    มาตรา 41 วรรคแรก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  44. ^

    มาตรา 94(3) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  45. ^

    มาตรา 41 วรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  46. ^

    มาตรา 3(2)(ข) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564

  47. ^

    มาตรา 41 วรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  48. ^

    มาตรา 94(4) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  49. ^

    มาตรา 3(2)(ค) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564

  50. ^

    มาตรา 94(5) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  51. ^

    มาตรา 3(3) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564

  52. ^

    กฎกระทรวง กําหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างท่ีทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทําประโยชน์ต์ามควรแก่สภาพ พ.ศ. 2562

  53. ^

    กฎกระทรวง กําหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างท่ีทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทําประโยชน์ต์ามควรแก่สภาพ พ.ศ. 2562

  54. ^

    มาตรา 94(6) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  55. ^

    มาตรา 3(4) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564

  56. ^

    มาตรา 43 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  57. ^

    กฎกระทรวง กําหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างท่ีทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทําประโยชน์ต์ามควรแก่สภาพ พ.ศ. 2562

  58. ^

    มาตรา 8 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  59. ^

    ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องยกเว้นภาษีที่ดินหรือส่ิงปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของมูลนิธิ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศล

  60. ^

    กฎกระทรวง กําหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  61. ^

    มาตรา 3 และมาตรา 4 พระราชกฤษฎีกา ลดภาษีสาหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566

  62. ^

    หมายเหตุท้ายพระราชกฤษฎีกา ลดภาษีสาหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566

  63. ^

    มาตรา 3 พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563

  64. ^

    มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563

  65. ^

    มาตรา 68 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  66. ^

    มาตรา 69 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  67. ^

    มาตรา 68 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  68. ^

    มาตรา 70 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  69. ^

    มาตรา 88 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  70. ^

    มาตรา 89 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  71. ^

    มาตรา 73 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562