Contents

E-withholding tax (ภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์)

139,187 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

E-withholding tax เป็นบริการจาก กรมสรรพากร โดยความร่วมมือของธนาคารในประเทศไทย เพื่อให้ผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถโอนเงินให้ผู้รับและหักภาษี ณ ที่จ่ายไปพร้อมกันในครั้งเดียว ซึ่งผู้จ่ายเงินจะได้รับสิทธิไม่ต้องยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายทั้งรายเดือนและรายปีอีก ทั้งนี้ ค่าบริการจะเป็นไปตามที่แต่ละธนาคารกำหนด

สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างจากการหักภาษี ณ ที่จ่ายปกติ

  1. ผู้จ่ายเงินได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) แบบกระดาษให้ผู้รับเงินก็ได้
  2. ผู้จ่ายเงินได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำและยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายรายเดือนและรายปี (เช่น ภ.ง.ด. 1, ภ.ง.ด. 2, ภ.ง.ด. 3, ภ.ง.ด. 53, ภ.ง.ด. 1ก, ภ.ง.ด. 2ก, ภ.ง.ด. 3ก เป็นต้น)
  3. ผู้จ่ายเงินได้สิทธิไม่ต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เป็นกระดาษ
  4. หากจ่ายเงินโดยใช้ระบบ e-withholding อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะลดเหลืออัตรา 1% (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2568)1

วิธีใช้งาน

  1. สมัครขอรับบริการกับธนาคารที่รองรับระบบ E-withholding tax แล้ว
  2. เมื่อโอนเงินให้ผู้รับและต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ส่งข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของผู้รับด้วย ผ่านระบบโอนเงินของธนาคาร
  3. ธนาคารจะทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินภายในเวลา 4 วัน
  4. ทั้งผู้โอนเงินและผู้รับสามารถตรวจสอบข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ภายใน 6 วัน ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th ของกรมสรรพากร โดยใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีและ Password ที่เคยใช้ยื่นภาษีของระบบ e-Filing ได้เลย โดยไม่ต้องสมัครบริการใดๆ เพิ่มเติมกับกรมสรรพากรอีก

ธนาคารที่รองรับ E-withholding tax แล้ว

  1. ธนาคารกรุงไทย
  2. ธนาคารกสิกรไทย
  3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
  4. ธนาคารกรุงเทพ
  5. ธนาคารมิซูโฮ สาขากรุงเทพ
  6. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  7. ธนาคารไทยพาณิชย์
  8. ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
  9. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
  10. ธนาคารทหารไทยธนชาต

อัตราค่าบริการ

เป็นไปตามที่แต่ละธนาคารกำหนด แต่สูงสุดไม่เกิน 10 บาทต่อรายการโอน 1 ครั้ง


อ้างอิง

  1. ^

    มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 รอประกาศเป็นกฎหมาย