Contents
E-withholding tax (ภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์)
135,843 views
โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
E-withholding tax เป็นบริการจาก กรมสรรพากร โดยความร่วมมือของธนาคารในประเทศไทย เพื่อให้ผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถโอนเงินให้ผู้รับและหักภาษี ณ ที่จ่ายไปพร้อมกันในครั้งเดียว ซึ่งผู้จ่ายเงินจะได้รับสิทธิไม่ต้องยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายทั้งรายเดือนและรายปีอีก ทั้งนี้ ค่าบริการจะเป็นไปตามที่แต่ละธนาคารกำหนด
สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างจากการหักภาษี ณ ที่จ่ายปกติ
- ผู้จ่ายเงินได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) แบบกระดาษให้ผู้รับเงินก็ได้
- ผู้จ่ายเงินได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำและยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายรายเดือนและรายปี (เช่น ภ.ง.ด. 1, ภ.ง.ด. 2, ภ.ง.ด. 3, ภ.ง.ด. 53, ภ.ง.ด. 1ก, ภ.ง.ด. 2ก, ภ.ง.ด. 3ก เป็นต้น)
- ผู้จ่ายเงินได้สิทธิไม่ต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่เป็นกระดาษ
- หากจ่ายเงินโดยใช้ระบบ e-withholding อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะลดเหลืออัตรา 1% (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2568)1
วิธีใช้งาน
- สมัครขอรับบริการกับธนาคารที่รองรับระบบ E-withholding tax แล้ว
- เมื่อโอนเงินให้ผู้รับและต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ส่งข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของผู้รับด้วย ผ่านระบบโอนเงินของธนาคาร
- ธนาคารจะทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินภายในเวลา 4 วัน
- ทั้งผู้โอนเงินและผู้รับสามารถตรวจสอบข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ภายใน 6 วัน ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th ของกรมสรรพากร โดยใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีและ Password ที่เคยใช้ยื่นภาษีของระบบ e-Filing ได้เลย โดยไม่ต้องสมัครบริการใดๆ เพิ่มเติมกับกรมสรรพากรอีก
ธนาคารที่รองรับ E-withholding tax แล้ว
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
- ธนาคารกรุงเทพ
- ธนาคารมิซูโฮ สาขากรุงเทพ
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- ธนาคารไทยพาณิชย์
- ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
- ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
- ธนาคารทหารไทยธนชาต
อัตราค่าบริการ
เป็นไปตามที่แต่ละธนาคารกำหนด แต่สูงสุดไม่เกิน 10 บาทต่อรายการโอน 1 ครั้ง
อ้างอิง
- ^
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 รอประกาศเป็นกฎหมาย