Contents

ค่าลดหย่อนบุตร

281,125 views

โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ค่าลดหย่อนบุตร เป็น ค่าลดหย่อนแบบเหมาสำหรับคนที่มีลูกโดยเราสามารถลดหย่อนลูกได้ คนละ ฿30,000 ต่อปี แต่ถ้ามีลูกตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไปเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายที่เกิดในปี พ.ศ. 2561 หรือหลังจากนี้ จะสามารถลดหย่อนลูกตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไปได้ คนละ ฿60,000 ต่อปี1 และแม้บุตรจะเสียชีวิตระหว่างปีก็ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีสำหรับ ปีภาษี ที่เสียชีวิตได้อยู่

ค่าลดหย่อนบุตรเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


วิธีกรอกค่าลดหย่อนบุตรบนแอป iTAX

แอป iTAX รองรับการคำนวณค่าลดหย่อนบุตรทั้งบุตรแท้ๆ และบุตรบุญธรรม

การใช้สิทธิค่าลดหย่อนบุตรแท้ๆ

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนบุตรแท้ๆ สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ค่าลดหย่อน – บุตรแท้ๆ’
  3. กรอก วัน เดือน ปีเกิด
  4. ตอบคำถามเกี่ยวกับสถานะพิการ/ทุพพลภาพ
  5. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนบุตรแท้ๆ แล้วให้อัตโนมัติ

การใช้สิทธิค่าลดหย่อนบุตรบุญธรรม

หากคุณต้องการใช้สิทธิค่าลดหย่อนบุตรแท้ๆ สามารถนำมาคำนวณบนแอป iTAX ได้ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ค่าลดหย่อน – บุตรบุญธรรม’
  3. กรอก วัน เดือน ปีเกิด
  4. ตอบคำถามเกี่ยวกับสถานะพิการ/ทุพพลภาพ
  5. กด Done

แอปจะพากลับไปที่หน้า Home และแสดงผลการคำนวณภาษีหลังใช้สิทธิค่าลดหย่อนบุตรบุญธรรมแล้วให้อัตโนมัติ


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

  • คนที่มีลูกอยู่ในความดูแล สามารถนำลูกไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้แบบเหมาคนละ ฿30,000 ต่อปี ไม่ว่าจะยังอยู่ในวัยเรียนหรือไม่
  • แต่ถ้ามีลูกคนที่สองเป็นต้นไปที่เกิดในปี พ.ศ. 2561 หรือหลังจากนี้ และเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายด้วย จะสามารถนำลูกไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้เพิ่มเป็น คนละ ฿60,000 ต่อปี

ทั้งนี้ แม้บุตรจะเสียชีวิตระหว่างปีก็ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีสำหรับ ปีภาษี ที่เสียชีวิตได้อยู่

กรณีมีเฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมาย

กรณีเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายจะใช้สิทธิลดหย่อนบุตรกี่คนก็ได้เท่าจำนวนบุตรจริง

กรณีมีเฉพาะบุตรบุญธรรม

ในกรณีที่คุณมีแต่บุตรบุญธรรมเพียงอย่างเดียว จะใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ ฿30,000 สูงสุด 3 คน

กรณีมีทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม

แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีทั้งลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายและบุตรบุญธรรมด้วย การใช้สิทธิหักลดหย่อนจะดูจากลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ยังมีชีวิตอยู่ก่อน โดยการนับจํานวนบุตรให้นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลําดับอายุสูงสุดของบุตร โดยนับรวมทั้งบุตรที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการหักลดหย่อนด้วย หากครบ 3 คนไปแล้วจะใช้สิทธิลดหย่อนบุตรบุญธรรมไม่ได้ แต่ถ้ายังไม่ครบ 3 คน ก็จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรบุญธรรมได้อีกคนละ ฿30,000 จนคุณได้ใช้สิทธิลดหย่อนบุตรครบ 3 คน

การหักลดหย่อนบุตรเป็นกรณีเดียวที่กฎหมายอนุญาตให้ทั้งคุณและคู่สมรสสามารถใช้ลูกคนเดียวกันหักลดหย่อนบุตรซ้ำกันได้

เงื่อนไขการรับสิทธิ

การรับสิทธิหักลดหย่อนบุตร อย่างน้อยต้องมีเราหรือลูกเราคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น และผ่านเกณฑ์ต่อไปนี้ทั้งหมดด้วย

เกณฑ์ความสัมพันธ์

ลูกที่เราจะใช้สิทธิหักลดหย่อนได้จะต้องเป็น

  • ลูกแท้ๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมายของเราหรือคู่สมรส หรือ
  • ลูกบุญธรรมที่เราจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

ทั้งนี้ หากลูกแท้ๆ ของเรามีผู้จดทะเบียนรับรองเป็นบุตรบุญธรรมไปแล้ว บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเดิมของบุตรคนดังกล่าวไม่สามารถหักลดหย่อนได้อีก เพราะสิทธิลดหย่อนบุตรจะตกเป็นของผู้รับบุตรบุญธรรม2

เกณฑ์อายุ

ลูกที่เราจะใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ยังต้องผ่านเกณฑ์อายุข้อใดข้อหนึ่งดังนี้ด้วย

  • อายุไม่ถึง 20 ปี หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ
  • อายุ 20 – 25 ปี หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ต้องเรียนอยู่ระดับอนุปริญญา (ปวส. หรือ ปวท.) หรือปริญญาตรีขึ้นไป รวมถึงการศึกษาในหลักสูตรเนติบัณฑิต3
  • อายุเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

เกณฑ์รายได้

ลูกที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนได้จะต้องไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ตลอดทั้งปีได้ไม่ถึง ฿30,000 ด้วย (ถ้า ฿30,000 พอดีถือว่าผิดเงื่อนไข)

อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีที่บุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะแล้วได้รับเงินปันผล กฎหมายให้ถือว่าเป็นเงินได้ของบิดาหรือมารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง กรณีดังกล่าวแม้บุตรจะได้รับเงินปันผลถึง ฿30,000 ก็ยังใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้อยู่ดี เพราะเงินปันผลดังกล่าวถือเป็นเงินได้ของผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่ใช่เงินได้ของบุตร

คำถามที่พบบ่อย4

Q. มีบุตรชอบด้วยกฎหมาย 4 คน และมีชีวิตอยู่ทั้งหมด จะนำบุตรมาหักลดหย่อนได้ทั้งหมดหรือไม่?
  • หักลดหย่อนบุตรได้ทั้งหมด 4 คน (จาก 4 คน) โดยหักบุตรได้คนละ ฿30,000 บาท

แต่ถ้าลูกตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไป เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายที่เกิดในปี พ.ศ. 2561 หรือหลังจากนั้นจะสามารถลดหย่อนได้คนละ ฿60,000 บาท

Q. มีบุตร 4 คน และมีบุตรบุญธรรมอีก 1 คน จะนำบุตรมาหักลดหย่อนได้ทั้งหมดหรือไม่?
  • สามารถหักลดหย่อนบุตรได้แค่ 4 คน (จาก 5 คน) โดยสามารถหักลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ไม่จำกัดจำนวนได้คนละ ฿30,000 ส่วนบุตรบุญธรรมไม่สามารถหักลดหย่อนได้อีกเนื่องจากเมื่อนำบุตรบุญธรรมมารวมกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเกิน 3 คน

แต่ถ้าลูกตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไป เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายที่เกิดในปี พ.ศ. 2561 หรือหลังจากนั้นจะสามารถลดหย่อนได้คนละ ฿60,000 บาท

Q. มีบุตร 2 คน และมีบุตรบุญธรรมอีก 1 คน จะนำบุตรมาหักลดหย่อนได้ทั้งหมดหรือไม่?
  • สามารถหักลดหย่อนบุตรได้ทั้งหมด 3 คน (จาก 3 คน) เนื่องจากเมื่อรวมบุตรบุญธรรมกับบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่เกิน 3 คน ดังนั้น สามารถหักบุตรได้คนละ ฿30,000

แต่ถ้าลูกตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไป เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายที่เกิดในปี พ.ศ. 2561 หรือหลังจากนั้น จะสามารถลดหย่อนได้คนละ ฿60,000 บาท ส่วนบุตรบุญธรรมยังคงหักลดหย่อนได้คนละ ฿30,000 เหมือนเดิมเนื่องจากไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมาย

Q. บุตรที่อยู่เนอร์สเซอรี่ สามารถนำมาหักลดหย่อนบุตรและการศึกษาบุตรได้หรือไม่?
  • บุตรที่อยู่เนอร์สเซอรี่ สามารถหักลดหย่อนในฐานะบุตรได้
Q. สามีภริยาสามารถนำบุตรที่ไม่มีเงินได้และจบการศึกษาระหว่างปีมาหักลดหย่อนได้หรือไม่?
  • การหักลดหย่อนบุตรให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตาม
Q. บุตรผู้เยาว์ของพ่อมีเงินได้พึงประเมินเป็นเงินปันผลจำนวน ฿2,000,000 พ่อมีสิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรผู้เยาว์ ได้หรือไม่?
  • หากบุตรของพ่อเป็นบุตรผู้เยาว์มีเงินได้ประเภทเงินปันผลจำนวน ฿2,000,000 โดยไม่มีเงินได้ประเภทอื่นอีก ถือว่าเงินได้ของบุตรผู้เยาว์เป็นเงินได้พึงประเมินของพ่อ พ่อมีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีในนามของตน โดยนิตินัยเป็นผลเท่ากับบุตรผู้เยาว์ไม่มีเงินได้ ดังนั้น พ่อมีสิทธินำบุตรผู้เยาว์ดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้
Q. บุตรบรรลุนิติภาระของพ่อมีเงินได้พึงประเมินเป็นเงินปันผลจำนวน ฿2,000,000 พ่อมีสิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรได้หรือไม่?
  • หากบุตรของพ่อเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (เนื่องจากอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้วหรือจดทะเบียนสมรสแล้วก็ได้) มีเงินปันผลจากหุ้นจำนวน ฿2,000,000 โดยไม่มีเงินได้ประเภทอื่นอีก เงินปันผลดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินของบุตร ดังนั้น บุตรผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พ่อไม่มีสิทธินำบุตรดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้
Q. บุตรชายของพ่อได้รับรางวัลทองคำหนัก 100 บาท พ่อพร้อมด้วยภริยาและบุตรได้เดินทางไปรับรางวัลที่บริษัทฯ มูลค่าของทองคำที่บุตรได้รับคิดเป็นเงินจำนวน ฿840,000 บริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 5% ของมูลค่ารางวัลที่ได้รับเป็นเงินจำนวน ฿42,000 พ่อจะหักลดหย่อนบุตรได้หรือไม่?
  • พ่อไม่มีสิทธินำบุตรมาหักลดหย่อนภาษี เนื่องจากบุตรมีเงินได้ตั้งแต่ ฿30,000 ขึ้นไป สำหรับบุตรเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินจากเงินรางวัล จะต้องยื่นแบบแสดงรายการโดยเป็นหน้าที่ของผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นตัวแทนในการชำระภาษีแทนผู้เยาว์
Q. พ่อและแม่มีสถานภาพสมรส มีบุตรเกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคมของปีนี้ จึงมีอายุเพียง 3 วันในปีนี้ บิดามารดาจะนำบุตรมาหักลดหย่อนบุตรได้หรือไม่?
  • พ่อและแม่ในฐานะผู้มีเงินได้ สามารถหักลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายให้หักได้ตลอดปี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ แม้ว่าบุตรจะเกิดปลายปี และมีอายุเพียง 3 วันก็ตาม
Q. บิดา/มารดาสามารถนำบุตรผู้เยาว์ที่เสียชีวิตระหว่างปีภาษีไปหักค่าลดหย่อนบุตรได้หรือไม่?
  • การหักลดหย่อนบุตรให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตาม บิดามารดาจึงหักลดหย่อนบุตรได้
Q. ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานบริษัทในไทยเกิน 180 วัน มีเงินได้ประเภทเงินเดือน ภริยา บุตร บุพการี อยู่ต่างประเทศไม่มีเงินได้ บุตรเรียนหนังสือที่ต่างประเทศและบุพการีอายุเกิน 60 ปี มีสิทธิหักลดหย่อนภริยา บุตร และบุพการี ได้หรือไม่?
  • ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยเกิน 180 วัน ถือว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย สามารถหักลดหย่อนภริยาได้ ไม่ว่าภริยาจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศ โดยหักลดหย่อนภริยาได้จำนวน ฿60,000 และสามารถหักลดหย่อนบุตรได้ ไม่ว่าบุตรจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศโดยหักลดหย่อนบุตรได้
Q. นาย A. จดทะเบียนสมรสกับนาง ก. มีบุตรร่วมกัน 1 คน (บุตรเกิด เดือนมกราคม 2561) ต่อมาเดือนมิถุนายน 2561 นาย A. และนาง ก. ได้จดทะเบียนหย่ากัน ภายหลังนาย A. ได้มาจดทะเบียนสมรสใหม่ กับนาง ข. เมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยนาง ข. มีลูกติดกับสามีเก่า 1 คน (บุตรเกิดในปี 2561) ดังนั้น ในกรณีต่างฝ่ายต่างมีลูกกับคู่สมรสเดิมมากันทั้ง 2 ฝ่าย จะสามารถลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นเงิน 60,000 บาท ได้หรือไม่
  • ไม่ได้ เนื่องจากบุตรที่เกิดจากคู่สมรสเดิมต่างก็เป็นบุตรคนแรกของทั้ง 2 ฝ่าย จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การลดหย่อนบุตรคนที่ 2
Q. นาย A. กับนาง ก. มี ด.ช. Z. บุตรคนที่ 2 ร่วมกัน (บุตรเกิด เดือนมกราคม 2561) ต่อมาได้มีการจดทะเบียนหย่าในเดือนมิถุนายน 2561 และนาย A. ได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับ นาง ข. เมื่อเดือนธันวาคม 2561 (นาง ข. ไม่เคยมีบุตรมาก่อน) โดยต่างฝ่ายต่างมีเงินได้พึงประเมิน อยากทราบว่า นาย A. และนาง ข. สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ได้หรือไม่
  • ด.ช. Z. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ นาย A. ดังนั้น นาย A และนาง ข. จึงสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ได้ 60,000 บาท
Q. นาย A. กับนาง ข. มีบุตรคนที่ 2 ในปี 2561 และใช้สิทธิลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ในปีภาษี 2561 แล้ว ต่อมาในปี 2562 มิได้มีบุตรเพิ่มแต่อย่างใด อยากทราบว่า ในปีภาษี 2562 ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ได้คนละ 60,000 บาทหรือไม่
  • ถือเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้น ในปีภาษี 2562 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ได้คนละ 60,000 บาท
Q. การใช้สิทธิลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นเงิน 60,000 บาท การรับบุตรบุญธรรม จะได้รับสิทธิหรือไม่
  • ไม่ได้รับสิทธิ เนื่องจากบุตรบุญธรรมมิได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้
Q. กรณีบุตรคนที่ 2 เกิดได้ 2 เดือนแล้วเสียชีวิตจะได้รับสิทธิลดหย่อนบุตร 60,000 บาทหรือไม่
  • ได้รับสิทธิ เนื่องจากการหักลดหย่อนบุตร ให้หักได้ตลอดปีภาษีไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
Q. กรณีคลอดบุตรครั้งแรกเป็นลูกแฝด จะได้รับสิทธิลดหย่อนบุตร 60,000 บาท หรือไม่
  • ได้รับสิทธิ จำนวน 1 คน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สิทธิบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไป
Q. บุตรคนที่ 1 เสียชีวิตไปนานแล้ว ต่อมาปี 2561 ตั้งครรภ์และคลอดบุตรนับเป็นบุตรคนที่ 2 จะได้รับสิทธิลดหย่อนบุตร 60,000 บาท ใช่หรือไม่
  • ได้รับสิทธิ จำนวน 1 คน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สิทธิบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไป
Q. กรณีจดทะเบียนสมรสและหย่าภรรยาคนแรก มีบุตร 1 คน ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสใหม่และมีบุตรในปี 2561 บุตรที่เกิดในปี 2561 จะนับเป็นบุตรคนที่ 2 ได้สิทธิลดหย่อนบุตร 60,000 บาท หรือไม่
  • ได้
Q. กรณีมีบุตร 5 คน โดยบุตรคนที่ 1 เกิดปี 2557 บุตรคนที่ 2 เกิดปี 2558 บุตรคนที่ 3 เกิดปี 2559 บุตรคนที่ 4 เกิดปี 2560 และบุตรคนที่ 5 เกิดปี 2561 โดยบุตรคนที่ 1 – 3 เสียชีวิต บุตรคนที่ 5 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนบุตร 60,000 บาท ได้หรือไม่
  • ได้ เนื่องจากบุตรคนที่ 5 เป็นบุตรในลำดับที่ 2 เป็นต้นไป และเกิดในปี 2561 จึงสามารถหักลดหย่อนบุตร 60,000 บาท ได้
Q. กรณีบุตรคนที่ 2 เกิดในปี 2562 จะใช้สิทธิลดหย่อนบุตร 60,000 บาทได้หรือไม่
  • ได้ เนื่องจากใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
Q. มีบุตรกับภริยาคนแรก ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่มีการจ่ายค่าเลี้ยงดู 1 คน เกิดเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2561 ขณะนี้บุตรคนแรกมีอายุ 10 เดือนกว่าๆ และได้แต่งงานจดทะเบียนสมรสกับภริยาคนปัจจุบันมีบุตรด้วยกันอีก 1 คน เกิดเมื่อวันที 1 พ.ย. 2561 ภริยาทั้ง 2 คน ไม่มีเงินได้ จะใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร รวมถึงการใช้สิทธิลดหย่อนบุตร 60,000 บาท ได้หรือไม่
  • ใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรจากภริยาที่จดทะเบียนสมรส แต่ไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนบุตร 60,000 บาท เนื่องจากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียว

Q. กรณีชายไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับหญิง ต้องมีเอกสารใดประกอบการใช้สิทธิลดหย่อนบุตร

  • กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กที่เกิดนั้นไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชาย ชายจึงไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนบุตรได้ ดังนั้น หากต้องใช้สิทธิ์ลดหย่อน บิดาจะต้องดำเนินการดังนี้ จึงจะถือว่าเด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาและใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้5
    1. จดทะเบียนสมรสกับมารดาในภายหลัง
    2. บิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตร
    3. ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

Q. ผู้มีเงินได้รับบุตรบุญธรรมในเดือนกันยายน ต่อมาเดือนธันวาคม ยกเลิกการรับบุตรบุญธรรม ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนบุตรในปีภาษีดังกล่าวได้หรือไม่?

  • ได้ เนื่องจากการหักลดหย่อนบุตรให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ ทั้งนี้ หากในปีต่อมา บิดามารดาเดิมไม่ได้ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมผู้อื่น บิดามารดาเดิมก็สามารถกลับมานำบุตรของตนไปหักลดหย่อนบุตรได้6

Q. บุตรผู้เยาว์ของคุณ มีเงินได้พึงประเมินเป็นเงินปันผลจำนวน 2,000,000 บาท คุณจะยังมีสิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรผู้เยาว์ ได้หรือไม่?

  • หากบุตรของคุณเป็นบุตรผู้เยาว์ (อายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส) และมีเงินได้ประเภทเงินปันผลจำนวน 2,000,000 บาท โดยไม่มีเงินได้ประเภทอื่นอีก  กฎหมายให้ถือว่าเงินได้ของบุตรผู้เยาว์เป็นเงินได้พึงประเมินของคุณผู้เป็นบิดา คุณในฐานะบิดาจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีในนามของตน ทำให้มีผลเท่ากับว่าบุตรผู้เยาว์ของคุณไม่มีเงินได้ ดังนั้นคุณในฐานะบิดาจึงมีสิทธินำบุตรผู้เยาว์ดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้7

นอกจาก ค่าลดหย่อนบุตรแล้วในฐานะผู้เสียภาษี คุณยังสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีแบบอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีก ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี, ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี และ กองทุนลดหย่อนภาษี ซึ่งคุณสามารถเลือกใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ตามความต้องการและงบประมาณของตัวคุณเอง ได้ที่ iTAX shop เรารวมทุกความคุ้มค่ามาไว้ให้ที่นี่แล้ว


เรื่องที่มักเข้าใจผิดกันบ่อย

  • หลายคนยังเข้าใจผิดว่าถ้าเป็นลูกแท้ๆ แสดงว่าจะเป็นลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายเสมอไป ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะบางกรณีพ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้จะเป็นลูกแท้ๆ แต่พ่อก็อาจไม่มีสิทธิหักลดหย่อนบุตรได้เพราะยังไม่ถือว่าเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของตัวเองหรือของคู่สมรส จนกว่าจะมีการจดทะเบียนรับรองบุตร, ศาลพิพากษาให้เป็นบุตร หรือพ่อแม่ได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง8
  • ในกรณีมีคู่สมรสที่ยื่นภาษีเองด้วย หลายคนยังเข้าใจผิดว่าการหักลดหย่อนบุตรจะต้องแบ่งกันคนละครึ่ง แต่ที่จริงแล้วกฎหมายอนุญาตให้ทั้งคุณและคู่สมรสสามารถใช้ลูกคนเดียวกันหักลดหย่อนบุตรซ้ำกันได้เต็มจำนวนโดยไม่ต้องแบ่งกัน (การแบ่งสิทธิ์ลดหย่อนบุตรคนละครึ่งเป็นเงื่อนไขในอดีตที่ยกเลิกไปแล้ว)
  • หลายคนเข้าใจผิดว่าบุตรชอบด้วยกฎหมายคนแรกเกิดในปี 2561 ก็นำไปหักค่าลดหย่อนบุตร ฿60,000 ได้เหมือนกัน แต่ความจริงแล้วลูกคนแรกนำไปลดหย่อนได้ ฿30,000 เท่านั้น เพราะ การได้สิทธิลดหย่อนบุตร ฿60,000 ต้องเป็นกรณีบุตรชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไปที่เกิดในหรือหลังปี พ.ศ. 2561
  • นอกจากนี้ ถ้ามีลูกแฝดท้องแรกเกิดในหรือหลังปี พ.ศ. 2561 จะได้สิทธิลดหย่อนแฝดคนพี่ ฿30,000 และแฝดคนรอง ฿60,000
  • ในกรณีหย่าร้างกัน แม้บันทึกหลังทะเบียนหย่าจะระบุว่าให้บุตรอยู่กับแม่ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าทั้งพ่อและแม่ยังร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูบุตรอยู่ พ่อก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้อยู่ เพราะต้องดูการอุปการะดูแลตามความเป็นจริงด้วย ไม่ได้ดูแค่ทะเบียนหย่าแต่เพียงอย่างเดียว

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 47(1)(ค) ประมวลรัษฎากร, พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560

  2. ^

    มาตรา 47(1)(ค)(2) วรรคท้าย ประมวลรัษฎากร

  3. ^

    คำพิพากษาฎีกาที่ 45/2547

  4. ^

    ร้อยเรื่องลดหย่อน ปีภาษี 2560 ศูนย์สารสนเทศสรรพากร www.rd.go.th, “ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร และบุตรคนที่ 2 ลดหย่อนอย่างไร ???” www.rd.go.th

  5. ^

    Clear Cut ประเด็นเด็ดเกร็ดลดหย่อน, กรมสรรพากร

  6. ^

    Clear Cut ประเด็นเด็ดเกร็ดลดหย่อน, กรมสรรพากร

  7. ^

    Clear Cut ประเด็นเด็ดเกร็ดลดหย่อน, กรมสรรพากร

  8. ^

    มาตรา 1547 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์