Contents
เงินได้ประเภทที่ 6
โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
เงินได้ประเภทที่ 6 คือ เงินได้พึงประเมินในรูปของค่าตอบแทนจากการ ประกอบวิชาชีพอิสระ ที่มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความยากง่าย ที่ทำให้ผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในวงการภาษีบางครั้งก็เรียกว่า เงินได้ 40(6) ซึ่งมีเพียง 6 อาชีพเท่านั้น ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ, นักกฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์1
อย่างไรก็ดี ถ้าคุณมีคู่สมรสที่จะแยกยื่นภาษีเองอยู่แล้ว คุณสามารถเลือกให้คู่สมรสนำเงินได้ประเภทนี้ของคุณไปยื่นเป็นรายได้ของเขาแทนก็ได้2
การหักค่าใช้จ่าย
ค่าวิชาชีพอิสระคุณสามารถเลือกหัก ค่าใช้จ่าย ได้ 2 วิธี คือ หักตามจริง (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย) หรือหักเหมา 30 – 60% (ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย) โดยแบ่งตามกลุ่มวิชาชีพอิสระดังนี้3
- การประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% ของค่าตอบแทนที่คุณเรียกเก็บ หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง
- วิชาชีพอิสระอื่นๆ ที่ไม่ใช่การประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 30% ของค่าตอบแทนที่คุณเรียกเก็บ หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง
รายได้ | ค่าใช้จ่ายที่หักได้ |
---|---|
|
หักแบบเหมา 60% หรือหักตามจริง |
|
หักแบบเหมา 30% หรือหักตามจริง |
ลักษณะเฉพาะของเงินได้ประเภทที่ 6
การจะเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระในฐานะเงินได้ประเภทที่ 6 ได้ จะต้องมีองค์ประกอบต่อไปนี้ครบทั้งหมด
- เป็นการประกอบวิชาชีพใน 6 สาขาต่อไปนี้เท่านั้น ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ ทนายความ/ที่ปรึกษากฎหมาย วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี ช่างประณีตศิลป์ และ
- เป็นการจ่ายตามปริมาณหรือความยากง่ายของผลงานที่คุณรับจ้าง (ไม่ได้ทำงานให้ในฐานะลูกจ้างหรือลูกน้อง) โดยไม่สามารถกำหนดเหมาจ่ายแน่นอนตายตัวเหมือนเงินเดือนได้4
ลักษณะพิเศษเฉพาะการประกอบโรคศิลปะ
การประกอบโรคศิลปะในที่นี้ โดยปกติจะหมายถึงที่เกี่ยวข้องกับการตรวจโรค การวินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ต้องได้รับใบอนุญาตด้วย ได้แก่
- เวชกรรม5
- ทันตกรรม 6
- เภสัชกรรม7
- การพยาบาล8
- การผดุงครรภ์ 9
- กายภาพบำบัด10
- เทคนิคการแพทย์ 11
- กิจกรรมบําบัด12
- การแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย13
- เทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก14
- รังสีเทคนิค15
- จิตวิทยาคลินิก16
- กายอุปกรณ์17
- การแพทย์แผนจีน18
- สาขาอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา19
สำหรับการประกอบโรคศิลปะในโรงพยาบาล นอกจากเงินได้ของจะเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระนี้ได้จะต้องมีรายได้ไม่แน่นอนแล้ว จะต้องมีลักษณะพิเศษเฉพาะที่แสดงให้เห็นต่อไปนี้ด้วย
- มีการลงทุนหรือมีสัญญาหรือข้อตกลงร่วมกัน หรือเช่าสถานที่ของโรงพยาบาล20
- มีการแบ่งรายได้กับโรงพยาบาลในข้อตกลงโดยเราต้องเป็นผู้กำหนดเอง21
- คนไข้นั้นต้องเป็นคนไข้ที่เราหามาเองโดยตรง ไม่ใช่คนไข้ที่โรงพยาบาลหามาให้เอง22
- เราต้องมีชื่อเป็นผู้เรียกเก็บเงินเอง (มีชื่อเราเป็นผู้เรียกเก็บเงินในใบเสร็จรับเงิน)23
- ไม่ต้องทำตามกฎระเบียบเหมือนลูกจ้างของโรงพยาบาล24
- เราอาจมีรายได้จากค่าวิชาชีพอิสระในโรงพยาบาลที่ตนรับเงินเดือนก็ได้ หากค่าวิชาชีพอิสระนั้นเป็นเงินที่ได้รับจากค่ารักษาคนไข้ในโรงพยาบาลนอกเวลาทำการปกติ25
ในกรณีที่ต้องแบ่งเงินให้โรงพยาบาล จำนวนเงินที่เป็นค่าวิชาชีพอิสระจะดูจากจำนวนเงินที่เรียกเก็บจากคนไข้ ก่อนแบ่งให้โรงพยาบาล ไม่ใช่จำนวนเงินหลังแบ่งให้โรงพยาบาลแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อคนไข้ต้องไปเป็นจ่ายเงินได้เราโดยตรง แม้เราจะฝากให้โรงพยาบาลเป็นผู้เก็บเงินให้ โรงพยาบาลก็ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ก่อนจ่ายให้เราแต่อย่างใด
ตัวอย่างรายได้ที่เป็นค่าวิชาชีพอิสระ
การประกอบโรคศิลปะ
- เปิดคลินิคส่วนตัวนอกโรงพยาบาลและไม่มีเตียงสำหรับรับผู้ป่วยค้างคืน
- ออกไปตรวจรักษาคนไข้ที่บ้านของคนไข้เองเป็นการส่วนตัว
- ไปประจำที่บริษัทห้างร้านตามช่วงเวลาที่ตกลง เพื่อตรวจรักษาพนักงานโดยคุณเป็นคนกำหนดค่าตรวจรักษาคนไข้เองตามจำนวนพนักงานที่เข้ามาตรวจรักษาจริง
- เปิดคลินิคพิเศษในโรงพยาบาลนอกเวลาทำการปกติ และคุณเป็นคนกำหนดค่าตรวจรักษาคนไข้เองได้อย่างอิสระ
- ตรวจรักษาคนไข้ตามโรงพยาบาลอื่นที่คุณไม่ได้สังกัดอยู่ โดยไปเป็นประจำตามช่วงเวลาที่ตกลง และคุณเป็นคนกำหนดค่าตรวจรักษาคนไข้เองได้อย่างอิสระ
- โรงพยาบาลอื่นที่คุณไม่ได้สังกัดอยู่ติดต่อให้คุณไปรักษาให้เป็นการเฉพาะเจาะจง และคุณเป็นคนกำหนดค่าตรวจรักษาคนไข้เองได้อย่างอิสระเป็นรายครั้ง
- คนไข้บางรายขอให้ทางโรงพยาบาลที่คุณไม่ได้สังกัดอยู่ติดต่อให้คุณไปรักษาให้เป็นการเฉพาะเจาะจง และคุณเป็นคนกำหนดค่าตรวจรักษาคนไข้เองได้อย่างอิสระเป็นรายครั้ง
- รับฝากครรภ์นอกโรงพยาบาลที่คุณสังกัดอยู่
- ค่าวิชาชีพทางการแพทย์/พยาบาลอื่นๆที่คิดตามความยากง่ายและปริมาณงานที่ทำนอกโรงพยาบาลที่คุณสังกัดอยู่
- ได้รับเงินค่าตอบแทนจากการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ (Arbitrator)
ทนายความ/นักกฎหมาย
- ค่าทนายหรือค่าปรึกษากฎหมายอื่นๆ ที่คิดตามความยากง่ายและปริมาณงานโดยคิดเป็นรายครั้ง, รายชั่วโมง หรือรายคดี
- ค่าตอบแทนจากการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ (Arbitrator)
หมายเหตุ: สำหรับค่าวิชาชีพอิสระด้านกฎหมาย ศาลฎีกาเคยตีความว่า หากสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายแล้วมีรายได้จากค่าที่ปรึกษากฎหมายก็เพียงพอที่จะเป็นค่าวิชาชีพอิสระด้านกฎหมายได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาจากการว่าความหรือฟ้องคดีเท่านั้น26
วิศวกร
- ค่าออกแบบ, ค่าปรึกษา หรือค่าแรงอื่นๆ ที่คิดตามความยากง่ายและปริมาณงานโดยคิดเป็นรายครั้ง, รายชั่วโมง หรือรายโปรเจค
- ค่าตอบแทนจากการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ (Arbitrator)
สถาปนิก
- ค่าออกแบบ, ค่าปรึกษา หรือค่าแรงอื่นๆ ที่คิดตามความยากง่ายและปริมาณงานโดยคิดเป็นรายครั้ง, รายชั่วโมง หรือรายโปรเจค
- ค่าตอบแทนจากการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ (Arbitrator)
นักบัญชี
- ค่าทำบัญชี, ค่า audit, ค่ารับรองบัญชี, ค่าปรึกษา หรือค่าแรงอื่นๆ ที่คิดตามความยากง่ายและปริมาณงานโดยคิดเป็นรายครั้ง รายชั่วโมง หรือรายโปรเจค
- ค่าตอบแทนจากการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ (Arbitrator)
ช่างประณีตศิลป์
- ค่าผลงาน, ค่าปรึกษา หรือค่าฝีมืออื่นๆ เช่น งานหล่อ งานปั้น งานวาดประณีตศิลป์ ฯลฯ ที่คิดตามความยากง่ายและปริมาณงานโดยคิดเป็นรายครั้ง, รายชั่วโมง หรือรายชิ้น
- ค่าตอบแทนจากการแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ (Arbitrator)
เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย
- คำว่า “วิชาชีพอิสระ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง Freelance ทุกอาชีพ เพราะกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจำกัดเพียงแค่ 6 วิชาชีพต่อไปนี้เท่านั้น ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ, กฎหมาย, วิศวกรรม, สถาปัตยกรรม, บัญชี และประณีตศิลปกรรม
- ลำพังแค่ทำวิชาชีพการประกอบโรคศิลปะ, กฎหมาย, วิศวกรรม, สถาปัตยกรรม, บัญชี และประณีตศิลปกรรม ไม่ได้หมายความว่า รายได้ที่ได้มาจะเป็นค่าวิชาชีพอิสระเสมอไป เพราะต้องดูด้วยว่าเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงานด้วยรึเปล่า เช่น ถ้าเป็นทนายความรับเงินเดือนอยู่ที่สำนักงานกฎหมาย ต่อให้ใช้ความสามารถด้านกฎหมายจริงก็ยังไม่ถือว่าเป็นวิชาชีพอิสระ เพราะเงินเดือนเป็นรายได้ที่แน่นอนไม่ได้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงานจึงเป็นเพียง เงินได้ประเภทที่ 1
หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ประกอบอาชีพอิสระที่กล่าวมาข้างต้น และไม่อยากเสียเวลาไปกับการจัดการภาษีหรือคำนวณภาษีนานเกินไป iTAX Application ช่วยคุณได้ โดยคุณสามารถ คำนวณภาษี และ หาตัวช่วยลดหย่อนภาษี ที่ตรงกับความต้องการและงบประมาณที่คุณตั้งไว้ได้ในที่เดียว และโปรแกรมคำนวณภาษีจาก iTAX จะทำให้คุณรู้สึกว่า ภาษีไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป
อ้างอิง
- ^
มาตรา 40(6) ประมวลรัษฎากร
- ^
- ^
มาตรา 44 ประมวลรัษฎากร, มาตรา 6 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502
- ^
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8214/2549
- ^
พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525
- ^
พ.ร.บ. วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537
- ^
พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537
- ^
พ.ร.บ. วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528
- ^
พ.ร.บ. วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528
- ^
พ.ร.บ. วิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ.2547
- ^
พ.ร.บ. วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2547
- ^
มาตรา 5 (1) พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542
- ^
มาตรา 5 (2) พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542
- ^
มาตรา 5 (3) พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542
- ^
มาตรา 5 (4) พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542
- ^
มาตรา 5 (5) พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542
- ^
มาตรา 5 (6) พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542
- ^
มาตรา 5 (7) พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542
- ^
มาตรา 5 (8) พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542
- ^
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2549
- ^
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923/2533
- ^
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5960/2549
- ^
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5960/2549
- ^
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2549
- ^
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923/2533
- ^
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8214/2549