Contents

เงินได้ประเภทที่ 5

200,943 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เงินได้ประเภทที่ 5 คือ เงินได้พึงประเมินในรูปของ ค่าเช่า รวมถึงรายได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อหรือผิดซื้อขายเงินผ่อน ที่ทำให้ผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในวงการภาษีบางครั้งก็เรียกว่า เงินได้ 40(5)1

อย่างไรก็ดี ถ้าคุณมีคู่สมรสที่จะแยกยื่นภาษีเองอยู่แล้ว คุณสามารถเลือกให้คู่สมรสนำเงินได้ประเภทนี้ของคุณไปยื่นเป็นรายได้ของเขาแทนก็ได้2

การหักค่าใช้จ่าย

ค่าเช่า

ถ้าคุณ เป็นเจ้าของทรัพย์สินให้เช่าเอง คุณสามารถเลือกหัก ค่าใช้จ่าย ได้ 2 วิธี คือ หักตามจริง (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย) หรือหักเหมา 10 – 30% (ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย) โดยแบ่งตามประเภทของทรัพย์สินที่ให้เช่าดังนี้3

รายได้ ค่าใช้จ่ายที่หักได้
  • ค่าเช่าบ้าน
  • ค่าเช่าอาคาร
  • ค่าเช่าตึก
  • ค่าเช่าสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น
  • ค่าเช่าแพ
หักแบบเหมา 30% หรือหักตามจริง
ค่าเช่าที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม หักแบบเหมา 20% หรือหักตามจริง
ค่าเช่าที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเกษตรกรรม หักแบบเหมา 15% หรือหักตามจริง
ค่าเช่ายานพาหนะ หักแบบเหมา 30% หรือหักตามจริง
ค่าเช่าทรัพย์สินอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ หักแบบเหมา 10% หรือหักตามจริง
ข้อสังเกต
  • กรณีให้เช่าสิ่งปลูกสร้าง และเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง คุณสามารถนำภาษีโรงเรือนมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ด้วย
  • กรณีให้เช่า “สัตว์พาหนะ” ไม่นับเป็นการให้ “ยานพาหนะ” เพราะยานพาหนะต้องเป็น “พาหนะ” ที่ไม่มีชีวิต เช่น เกวียน รถม้า หรือรถเทียมวัว เป็นต้น

เช่าทรัพย์สินคนอื่นมาให้เช่าช่วงต่ออีกที?

ถ้าคุณ ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินให้เช่า แต่เช่าทรัพย์สินคนอื่นมาให้เช่าช่วงต่ออีกที กฎหมายจะอนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายจากค่าเช่าที่คุณจ่ายให้เจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ให้เช่าเท่าที่จ่ายจริงเท่านั้น4

รายได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อหรือผิดซื้อขายเงินผ่อน

ถ้าคุณมีรายได้จากการที่มีคนผิดสัญญาเช่าซื้อหรือผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนกับคุณ คุณจะหักค่าใช้จ่ายได้วิธีเดียว คือ หักแบบเหมา 20%5

รายได้ ค่าใช้จ่ายที่หักได้
  • รายได้จากการที่มีคนผิดสัญญาเช่าซื้อ
  • รายได้จากการที่มีคนผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
หักแบบเหมา 20%

อะไรเป็นเงินได้ประเภทที่ 5 ได้บ้าง?

โดยทั่วไป เงินได้ประเภทที่ 5 จะเป็นค่าเช่าทรัพย์สินทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นค่าอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ และครอบคลุมถึงค่าเช่าช่วงที่คุณได้รับจากการนำทรัพย์สินของคนอื่นมาให้เช่าช่วงต่ออีกทีด้วย

เงินได้ประเภทที่ 5 ยังรวมถึงรายได้จากการที่คนอื่นผิดสัญญาเช่าซื้อหรือผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนกับคุณด้วย เช่น ริบเงินค่างวด เป็นต้น

สิทธิแบ่งเฉลี่ยเงินกินเปล่า (ค่าเช่ารับล่วงหน้า) ที่ได้รับจากสัญญาเช่าระยะยาวตามจำนวนปีของอายุการเช่า

ในกรณีบุคคลธรรมดาได้รับเงินกินเปล่าจากสัญญาเช่าล่วงหน้าระยะยาว เช่น สัญญาเซ้ง 30 ปี สามารถเลือกนำเงินกินเปล่าที่ได้รับไปยื่นภาษีได้ 2 วิธีดังนี้

  1. นำไปยื่นภาษีในปีที่ได้รับเงินทั้งจำนวนตามปกติ
  2. เฉลี่ยเงินกินเปล่าเป็นรายปี ตามจำนวนปีของอายุการเช่าเป็นการล่วงหน้า เช่น รับเงินกินเปล่า 30 ล้านบาท สำหรับสัญญาเช่า 30 ปี สามารถขอเฉลี่ยเงินกินเปล่าเพื่อยื่นภาษีล่วงหน้าปีละ 1 ล้านบาท เป็นเวลา 30 ปี ได้ โดยยื่น ภ.ง.ด. 93 ล่วงหน้า 30 ปีจำนวน 30 ฉบับก่อน แล้วจึงนำเงินกินเปล่าที่ยื่นภาษีไปแล้วมายื่นภาษีอีกครั้งทีละปีไปเรื่อยๆ จนครบ 30 ปี6

ตัวอย่างการใช้สิทธิเฉลี่ยเงินกินเปล่าเป็นรายปี กรณีรับเงินมากกว่า 1 ครั้ง

สัญญาเช่า 10 ปี ได้รับเงินกินเปล่าปีแรก 1 ล้านบาท และปีที่สามอีก 1 ล้านบาท หากต้องการใช้สิทธิเฉลี่ยเงินกินเปล่าเป็นรายปี ให้แบ่งเฉลี่ยดังนี้

  • เงินกินเปล่าที่ได้รับในปีแรก 1 ล้านบาท ให้แบ่งเฉลี่ยเป็นเงินได้ 10 ปีตามอายุสัญญาที่เหลือ เฉลี่ยปีละ 500,000 บาท
  • เงินกินเปล่าที่ได้รับในปีที่สาม 1 ล้านบาท ให้แบ่งเฉลี่ยเป็นเงินได้ 8 ปีตามอายุสัญญาที่เหลือ เฉลี่ยปีละ 125,000 บาท

หากคุณเป็นหนึ่งคนที่มีรายได้อยู่ในเงินได้ประเภท 5 และต้องการที่จะมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี คุณสามารถเลือกเปรียบเทียบแผนลดหย่อนภาษีออนไลน์ได้ที่ iTAX shop เรารับรองว่า คุณจะได้เจอกับตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่คุณมองหาอย่างแน่นอน


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 40(5) ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    ข้อ 2.2 หน้า 2-3 คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสามีและภริยา (ฉบับที่ 2), www.rd.go.th

  3. ^

    มาตรา 43 ประมวลรัษฎากร, มาตรา 5 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502

  4. ^

    มาตรา 5 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502

  5. ^

    มาตรา 43 ประมวลรัษฎากร, มาตรา 5 พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502

  6. ^

    ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการเสียภาษีเงินได้ของผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ท่ีได้รับเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม หรือค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2558, ข้อ 2.2 คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.151/2558