โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
เงินได้ประเภทที่ 1 คือ เงินได้พึงประเมิน ในรูปของ เงินเดือน หรือค่าตอบแทนจากการทำงานประจำ ที่ทำให้ผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในวงการภาษีบางครั้งก็เรียกว่า เงินได้ 40(1)1
การหักค่าใช้จ่าย
เงินได้ประเภทที่ 1 นี้จะหัก ค่าใช้จ่าย ได้วิธีเดียว คือ หักแบบเหมา 50% แต่สูงสุดไม่เกิน ฿100,0002
แต่ถ้ามีทั้งเงินได้ประเภทที่ 1 และ เงินได้ประเภทที่ 2 (เช่น ค่านายหน้า ค่าจ้างทั่วไป) ด้วย จะหักค่าใช้จ่ายได้แบบเหมาได้เพียงวิธีเดียว โดยหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน แต่จะหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดไม่เกิน ฿100,0003
(เงินได้ประเภทที่ 1 + เงินได้ประเภทที่ 2) × 50% = ค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน ฿100,000
ดังนั้น วิธีคิดง่ายๆ คือ ทันทีที่เรามีเงินได้ประเภทที่ 1 และ เงินได้ประเภทที่ 2 รวมกันเกิน ฿200,000 คุณจะหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดแค่ ฿100,000 เท่านั้น
ตัวอย่าง
ถ้าคุณมีเงินได้จากเงินเดือนตลอดท้ังปี ฿360,000 เมื่อกฎหมายอนุญาตให้คุณหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% ได้เพียงทางเดียวเท่าน้ัน คุณจึงน่าจะหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินเดือนของคุณได้
฿360,000 × 50% = ฿180,000
แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดเพดานให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินเดือนได้สูงสุดเพียง ฿100,000 ดังน้ัน เราจึงหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินเดือนได้
฿180,000฿100,000 เท่าน้ัน
อะไรเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ได้บ้าง?
โดยทั่วไป เงินได้ประเภทที่ 1 จะครอบคลุมถึงรายได้ในรูปของค่าตอบแทนจากการเป็นลูกจ้างที่ทำงานประจำ เช่น
- เงินเดือน, ค่าจ้าง, เบี้ยเลี้ยง, โบนัส, เบี้ยหวัด, บำนาญ
- เงิน OT หรือค่าทำงานในวันหยุด4
- นายจ้างหาที่อยู่ให้โดยไม่คิดค่าเช่า หรือออกเงินค่าเช่าบ้านให้ (ในกรณีที่นายจ้างของคุณไม่ใช่หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งเบื้องต้นจะคิดเป็นมูลค่า 20% ของเงินเดือนตลอดทั้งปี5
- นายจ้างเคลียร์ภาระหนี้สินให้คุณ
- เบี้ยขยันจากการไม่ขาดงาน ไม่มาสาย ไม่ลากิจ ไม่ลาป่วยตลอดปี6
- การจัดอาหารให้พนักงานระหว่างเวลาทำงาน7
- จัดเที่ยวให้พนักงานมีโอกาสพักผ่อน8
- สวัสดิการเบิกค่าเล่าเรียนของบุตรหลานพนักงาน9
- เบี้ยประกันชีวิตที่นายจ้างจ่ายให้แทนลูกจ้าง10
- ค่านายหน้าที่นายจ้างจ่ายให้คุณนอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับอยู่แล้ว
- เงินค่าล่วงเวลาจากการเข้าเวรหรือค่าตอบแทนพิเศษในการรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลที่คุณสังกัดอยู่
- เปิดคลินิกพิเศษในโรงพยาบาลที่คุณสังกัดอยู่แต่ไม่ได้ทำนอกเวลาทำการปกติและไม่ได้รับเงินจากคนไข้เอง
- เงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นๆที่ได้รับจากนายจ้างและเกี่ยวข้องกับการจ้างงาน
- ค่าชดเชยและเงินก้อนสุดท้ายที่นายจ้างจ่ายให้เพราะเหตุออกจากงาน (อ่านเพิ่มได้ที่ สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับภาษีเมื่อออกจากงาน)
เงินก้อนที่ได้จากการถอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แท้จริงแล้วเงินที่จ่ายจาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ลูกจ้าง ไม่ใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้เมื่อลูกจ้างออกจากงาน เนื่องจากตัวกองทุนฯ เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ไม่ใช่นายจ้าง ดังนั้น นายจ้างจึงไม่สามารถบังคับให้สถานะสมาชิกกองทุนฯ ของลูกจ้างรายใดสิ้นสุดลงเพื่อให้จ่ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทันทีได้ ลูกจ้างจึงมีสิทธิคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ก่อนหรือขอรับเงินจากกองทุนได้เช่นกัน โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ทั้งกรณีลาออกด้วยความสมัครใจ เกษียณ หมดสัญญาจ้าง หรือถูกเลิกจ้าง โดยเงินที่จะได้รับจะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานด้วยเช่นกัน11
แต่อย่างไรก็ดี หากลูกจ้างถอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาเป็นเงินสด จะแบ่งได้เป็น 4 ส่วน ได้แก่
- เงินสะสมของคุณเองที่ถูกหักออกจากเงินเดือนก่อนหน้านี้
- ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม*
- เงินสมทบจากนายจ้าง*
- ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง*
หากลูกจ้างถอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินสดออกมา โดยปกติกฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างต้องนำเงินที่ได้จาก “2. ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม”, “3. เงินสมทบจากนายจ้าง” และ “4. ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง” มาเสียภาษีด้วย โดยจะคิดเสมือนเป็นเงินเดือนและโบนัสที่ได้รับจากนายจ้าง ส่วน “1. เงินสะสมของคุณเองที่ได้รับคืนมา” ไม่ต้องนำไปเสียภาษีแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ถ้าลูกจ้างขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปก่อน12 หรือขอโอนย้ายเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 13 แทนก็ยังไม่นับว่ามีการถอนเงินสดออกมา ลูกจ้างจึงยังไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้
กรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปี แต่ขายก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ยังต้องเสียภาษี แต่สามารถเลือกแยกคำนวณภาษีออกจากเงินได้ประเภทอื่นได้
หากเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปีแล้ว ลูกจ้างสามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินส่วนที่เป็น “ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม” “เงินสมทบจากนายจ้าง” และ “ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง” ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้ประเภทอื่นๆ หรือจะแยกคำนวณภาษีต่างหากก็ได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับกรณีได้เงินก้อนจากเหตุออกจากงาน14
การยื่นภาษีกรณีนี้จำเป็นต้องใช้แบบฟอร์ม “ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ” ด้วย (ดูตัวอย่างด้านล่าง) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการแยกคำนวณภาษีสำหรับกรณีนี้มักจะช่วยให้ลูกจ้างเสียภาษีถูกกว่าการนำไปรวมคำนวณภาษีกับรายได้อื่นๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายได้และค่าลดหย่อนของแต่ละบุคคลด้วย
กรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบยังไม่ครบ 5 ปี
หากคุณเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังไม่ครบ 5 ปี กฎหมายกำหนดให้คุณต้องนำเงินส่วนที่เป็น “ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสะสม” “เงินสมทบจากนายจ้าง” และ “ผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง” ไปคำนวณภาษีเป็นรายได้จากงานประจำ (เงินได้ประเภทที่ 1) (และต้องคำนวณภาษีรวมกับรายได้ประเภทอื่นๆ ด้วย (ถ้ามี)) โดยไม่สามารถแยกคำนวณเหมือนกรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปีได้
ยกเว้นภาษีกรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปี และขายเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
หากลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครบ 5 ปีแล้ว15 และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ด้วย เงินที่ลูกจ้างถอนออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี16
อ้างอิง
- ^
มาตรา 40(1) ประมวลรัษฎากร
- ^
มาตรา 42 ทวิ ประมวลรัษฎากร
- ^
มาตรา 42 ทวิ ประมวลรัษฎากร
- ^
หนังสือที่ กค 0802/11187 ลว. 8 สิงหาคม 2531
- ^
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 23/2533
- ^
หนังสือที่ กค 0802/19446 ลว. 30 กันยายน 2536
- ^
หนังสือที่ กค 0706/10811 ลว. 7 ธันวาคม 2547
- ^
หนังสือที่ กค 0706 (กม.14)/131 ลว. 8 พฤศจิกายน 2545
- ^
หนังสือที่ กค 0802/6547 ลว. 20 เมษายน 2537
- ^
หนังสือที่ กค 0706/397 ลว. 17 มกราคม 2549
- ^
ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)
- ^
มาตรา 23/3 พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530
- ^
มาตรา 23/4 พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530
- ^
ข้อ 2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)
- ^
ข้อ 3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 188)
- ^
ข้อ 2(36) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)