โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
เงินฝากแบบมีประกันชีวิต ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ต้องไม่เกิน ฿100,000 สำหรับคนที่ฝากเงินกับธนาคารแบบมีประกันชีวิต1 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 ธนาคาร คือ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
เงินฝากแบบมีประกันชีวิตเป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีสถานะเหมือนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
คนที่ฝากเงินกับธนาคารแบบมีประกันชีวิตให้ตัวเองสามารถนำเงินฝากนั้นไปใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน ฿100,000
เช่น ถ้าคุณฝากเงินกับธนาคารแบบมีประกันชีวิตไป ฿30,000 แต่จ่ายเบี้ยประกันชีวิตไปแล้ว ฿80,000 คุณจะนำเงินฝากไปหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงได้อีกเพียง ฿20,000 เท่านั้น เนื่องจากติดเพดานหักลดหย่อนสูงสุด ฿100,000
เงื่อนไขการรับสิทธิ
เราจะสามารถนำเงินฝากแบบมีประกันชีวิตของเรามาหักลดหย่อนได้ ถ้าเข้าครบเงื่อนไขทุกข้อต่อไปนี้
- มีกำหนดระยะเวลาการฝากเงินตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
- ทำกับธนาคารในประเทศไทย
- การฝากเงินนั้นมีข้อตกลงว่าธนาคารผู้รับฝากเงินจะจ่ายเงินและผลประโยชน์ตามข้อตกลงโดยอาศัยความตายหรือการมีชีวิตอยู่ของผู้ฝากเงิน
อนึ่ง ถ้าทำผิดเงื่อนไข เช่น ถอนเงินก่อนจะถือครบ 10 ปี (ไม่ว่าจะโดยความตั้งใจหรือเหตุสุดวิสัยอื่น เช่น ทุพพลภาพ) คุณจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนจากเงินฝากแบบมีประกันชีวิตนั้นได้อีกและมีผลย้อนหลังไปถึงการใช้สิทธิลดหย่อนในอดีตด้วย
กล่าวคือ คุณต้องกลับไปคำนวณภาษีในทุกๆ ปีภาษีที่มีการใช้สิทธิลดหย่อนเงินฝากแบบมีประกันชีวิตนั้นใหม่อีกครั้งเสมือนว่าไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนดังกล่าวในปีนั้นๆ เพื่อเสียภาษีส่วนต่างเพิ่มเติม พร้อม เงินเพิ่ม (ดอกเบี้ยทางภาษี) เพิ่มเติมอีกด้วย
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง
- ^
มาตรา 47(1)(ง) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(94) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509), กฎกระทรวง ฉบับที่ 326 (พ.ศ. 2560), ประกาศอธิบดี ฉบับที่ 301 (พ.ศ. 2560)