Contents
เงินปันผลจากกองทุนรวม
โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
เงินปันผลจากกองทุนรวม โดยปกติจะหมายถึงกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ (รวมถึง เงินปันผลจากกองทุนรวม LTF ) ซึ่งเป็น เงินได้ประเภทที่ 4 (หากคุณหมายถึงเงินปันผลจากกองทุนรวมตามมาตรา 40(8) เช่น REIT ดูเพิ่มได้ที่ เงินได้ประเภทที่ 8)
สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินปันผลจากกองทุนรวมเป็นรายได้อีกประเภทนึงที่เราสามารถเลือกให้ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายไปเลยเหมือนเงินปันผลทั่วไป โดยไม่ต้องยื่นภาษีอีกก็ได้1 หรือคุณจะใช้สิทธิ์แจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตอนจ่ายเงินปันผลจากกองทุนรวมก็ได้ เพียงแต่ว่าคุณจะมีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลนั้นมาเสียภาษีด้วยเพราะไม่สามารถเลือกให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายอีกต่อไปแล้ว
แต่อย่างไรก็ดี คุณไม่สามารถขอ เครดิตภาษีเงินปันผล ได้เหมือน เงินปันผลทั่วไป และกฎหมายก็ไม่อนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน
เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย
- ในกรณีที่คุณได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวม และเลือกนำเงินปันผลไปยื่นภาษีแล้ว คุณมีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลจากกองทุนรวมทุกกองไปยื่นภาษีทั้งหมด จะเลือกยื่นภาษีเป็นเพียงบางกองไม่ได้
- ถ้าคุณมีเงินปันผลจากกองทุนรวม 2 กอง กองแรกเลือกให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามปกติ แต่กองที่สองคุณขอให้ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อถึงเวลายื่นภาษี คุณจะมีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลจากกองทุนรวมทั้ง 2 กองไปยื่นภาษีทั้งหมด จะนำไปยื่นเฉพาะกองที่ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ได้
- เงินปันผลจากกองทุนรวม ส่วนใหญ่จะเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็มีเงินปันผลจากกองทุนรวมบางกองที่เป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ด้วย เช่น เงินปันผลจากทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ซึ่งอาจทำให้ภาระภาษีแตกต่างกัน
อ้างอิง
- ^
ข้อ 5 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.119/2545