โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
คำนวณ หัก ณ ที่จ่าย
โปรแกรมคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม
การหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นมาตรการสำหรับเก็บภาษีล่วงหน้าบางส่วนตอนที่คุณรับเงิน ซึ่งโดยทั่วไปแม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณไม่มีหน้าที่ต้อง ยื่นภาษี อีกต่อไปแล้ว เพราะยังไม่ถือว่าเป็นภาษีสุดท้าย
ทั้งนี้ การจ่ายเงินบางกรณีกฎหมายจะกำหนดให้คนที่จ่ายเงินมีทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตอนที่คุณรับเงินด้วย แล้วค่อยนำเงินภาษีนั้นนำส่งกรมสรรพากรอีกที ในขณะที่การจ่ายเงินบางกรณีกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดหน้าที่ให้คนจ่ายเงินต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและประเภทของเงินที่จ่าย1
อนึ่ง หากจำนวนเงินที่ต้องจ่ายตามสัญญาทั้งหมดไม่ถึง 1,000 บาท (999.99 บาทลงมา) กฎหมายไม่บังคับให้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ถ้ามีจำนวนเงินที่ต้องจ่ายตามสัญญาทั้งหมดตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป กฎหมายจะบังคับให้ผู้จ่ายเงินต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แม้ว่าสัญญานั้นแบ่งงวดการจ่ายแต่ละครั้งไม่ถึง 1,000 บาทก็ตาม2
อย่างไรก็ดี ผู้รับเงินจะได้รับ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับการเสียภาษีด้วย
หักภาษี ณ ที่จ่ายไปทำไม?
การหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นการทยอยจ่ายภาษีล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้คุณไม่ต้องรับภาระภาษีเป็นเงินก้อนพอถึงเวลายื่นภาษีจริงๆ เพราะมีการจ่ายภาษีล่วงหน้าไปบางส่วนแล้ว จึงเป็นเครดิตสำหรับคำนวณภาษีได้3
ในกรณีที่คุณถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินกว่าภาระที่คุณต้องจ่ายจริง เช่น คุณมีภาระต้องจ่ายภาษีตอนยื่นภาษี 5,000 บาท แต่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตอนรับเงินไป 6,000 บาท แสดงว่าคุณจ่ายภาษีเกินไป 1,000 บาท แบบนี้คุณก็มีสิทธิขอเงินคืนภาษี 1,000 บาท ที่จ่ายเกินไปได้ แต่ต้องรีบยื่นภาษีเพื่อขอคืนภาษีภายใน 3 ปีนับจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดยื่นภาษี4
อีกเหตุผลของการหักภาษี ณ ที่จ่าย คือ เป็นการการันตีให้ภาครัฐว่าจะเก็บภาษีจากประชาชนได้แน่นอนเพราะหักภาษีทันทีขณะที่คุณมีเงินจ่าย
ทั้งนี้ ข้อมูลการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จะถูกส่งเข้าไปบันทึกอยู่ในระบบของกรมสรรพากรเป็นรายเดือน ดังนั้น กรมสรรพากรจึงมีข้อมูลการถูกหักภาษี ณ ท่ีจ่ายของผู้มีเงินได้ทุกคนครบถ้วน หากผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายได้ไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่สรรพากรจึงทราบเพราะตรวจสอบโดยอ้างอิงจากข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่อยู่ในระบบอีกทางนึงด้วย
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายกรณีจ่ายเงินเดือนพนักงาน
อ่านเพิ่ม วิธีคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายอย่างละเอียดสำหรับการจ่ายเงินเดือนพนักงาน
ในกรณีที่ต้องจ่ายค่าจ้างในรูปของเงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) ให้พนักงาน จะใช้วิธีคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายแต่ละเดือนโดยให้ คำนวณภาษี ของพนักงานแต่ละคนที่น่าจะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีโดยคำนวณจากเงินเดือนที่จะได้รับทั้งปี รวมถึง ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อน ที่แจ้งว่าจะใช้สิทธิ์ตลอดทั้งปี เมื่อได้ค่าภาษีแล้ว จึงค่อยนำมาหารเฉลี่ยตามจำนวนงวดที่จ่าย5
ค่าภาษีที่คํานวณได้ ÷ จํานวนงวด = ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
เช่น คำนวณค่าภาษีทั้งปีแล้วได้ ฿12,000 โดยจ่ายเงินเดือนเป็นรายเดือน ดังนั้น ตลอดทั้งปีจึงมีการจ่ายเงินเดือน 12 งวด ทำให้ทุกๆ เดือนต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เดือนละ ฿1,000 เป็นต้น
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายกรณีอื่นๆ ของบุคคลธรรมดา
ในกรณีที่บุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยได้รับเงินประเภทต่างๆ อาจถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในกรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้ เช่น
เงินได้ | อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย | เลือกให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นภาษีเสร็จเด็ดขาด โดยไม่ต้องนำมายื่นภาษีอีก (Final Tax) |
---|---|---|
1. ค่าบริการที่มาจากการประกอบธุรกิจ (เงินได้ประเภทที่ 8) | 3%6 | เลือกไม่ได้ ต้องนำไปยื่นภาษีด้วย |
2. ค่าเช่าทรัพย์สิน | 5%7 | เลือกไม่ได้ ต้องนำไปยื่นภาษีด้วย |
3. เงินค่าวิชาชีพอิสระ | 3%8 | เลือกไม่ได้ ต้องนำไปยื่นภาษีด้วย |
4. ค่าตัวนักแสดงสาธารณะ | 5%9 | เลือกไม่ได้ ต้องนำไปยื่นภาษีด้วย |
5. รางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล | ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเพราะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้10 แต่จะต้องเสียอากรแสตมป์ตอนขึ้นรางวัลในอัตรา 1 บาท สำหรับรางวัลทุกๆ 200 บาท11 (ประมาณ 0.5% ของเงินรางวัล) | ✓ ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว12 จึงไม่ต้องนำมายื่นภาษีอีก |
6. รางวัลจากการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน (เช่น ลุ้นโชคใต้ฝา) | 5%13 | เลือกไม่ได้ ต้องนำไปยื่นภาษีด้วย |
7. ค่าจ้างทำของที่เข้าลักษณะค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ (เงินได้ประเภทที่ 7) และค่าจ้างทำของที่เป็นการประกอบธุรกิจ (เงินได้ประเภทที่ 8) | 3%14 | เลือกไม่ได้ ต้องนำไปยื่นภาษีด้วย |
8. เงินปันผล | 10%15 | ✓ ปล่อยให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีเสร็จเด็ดขาด โดยไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้16 |
9. ดอกเบี้ยเงินกู้ทั่วไป / ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องเสียภาษี | 15%17 | ✓ ปล่อยให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีเสร็จเด็ดขาด โดยไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้18 |
11. เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกหรือได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร | ตามอัตราภาษีเงินได้19 | ✓ ปล่อยให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีเสร็จเด็ดขาด โดยไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้20 |
12. เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งทางการค้าหรือหากำไรทั่วไป | ตามอัตราภาษีเงินได้21 | ✓ ปล่อยให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีเสร็จเด็ดขาด โดยไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้22 |
เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย
คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าตัวเองมีรายได้แล้วถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปตอนรับเงิน หมายความว่าตัวเองทำหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว เลยไม่ยื่นภาษี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะโดยปกติการหักภาษี ณ ที่จ่ายจะยังไม่ถือว่าเป็นภาษีสุดท้ายแต่เป็นเพียงการจ่ายภาษีล่วงหน้าบางส่วนเท่านั้น ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดอยู่มากโดยเฉพาะตอนรับรางวัลลุ้นโชคต่างๆ คิดว่าถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% แล้วจบเลย
ดังนั้น โดยทั่วไปต่อให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว คุณยังมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีตามกฎหมายอยู่ เว้นแต่ว่าเงินได้ของคุณจะเข้าข่ายได้รับยกเว้นให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นภาษีสุดท้ายไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้ เช่น เงินปันผลจากหุ้น/กองทุนรวม ดอกเบี้ย เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
อ้างอิง
- ^
มาตรา 50 ประมวลรัษฎากร
- ^
ข้อ 12/7 คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
- ^
มาตรา 60 ประมวลรัษฎากร
- ^
มาตรา 63 ประมวลรัษฎากร
- ^
มาตรา 50(1) ประมวลรัษฎากร, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 96/2543
- ^
ข้อ 12/1(1) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528
- ^
ข้อ 6(1) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528
- ^
ข้อ 7(1) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528
- ^
ข้อ 9(2)(ข) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528
- ^
มาตรา 42(11) ประมวลรัษฎากร
- ^
ลักษณะแห่งตราสาร 28 (ก) บัญชีอากรแสตมป์ ประมวลรัษฎากร
- ^
มาตรา 42(11) ประมวลรัษฎากร
- ^
ข้อ 9(1) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528
- ^
ข้อ 8(1) คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528
- ^
มาตรา 50(2)(จ) ประมวลรัษฎรกร
- ^
มาตรา 48(3) วรรคท้าย ประมวลรัษฎากร
- ^
มาตรา 50(2)(ก) ประมวลรัษฎรกร
- ^
มาตรา 48(3) ประมวลรัษฎากร
- ^
มาตรา 50(5) ประมวลรัษฎรกร
- ^
มาตรา 48(4) ประมวลรัษฎากร
- ^
มาตรา 50(5)(ข) ประมวลรัษฎรกร
- ^
มาตรา 3 พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 376) พ.ศ. 2544, ข้อ 8 คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 100/2543