Contents

ภาษีการรับการให้

21,206 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

ภาษีการรับการให้ หรือที่ทั่วไปเรียกว่า ภาษีการให้ เป็น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตัวหนึ่งที่จัดเก็บจากมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับเฉพาะส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทใน ปีภาษี เดียวกัน (แต่จะขยายเพดานเพิ่มเป็นมูลค่าส่วนเกิน 20 ล้านบาทได้ถ้าผู้รับเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส) โดยจัดเก็บในอัตราคงที่ 5% หรือผู้รับจะเลือกนำรวมคำนวณภาษีในฐานะเงินได้อื่นๆ (เงินได้ประเภทที่ 8) ก็ได้

ภาษีการรับการให้เป็นภาษีที่มาพร้อมกับ ภาษีมรดก เพื่อจัดเก็บภาษีจากการถ่ายโอนมรดกเมื่อเจ้าของมรดกเสียชีวิต รวมถึงการดักทางไม่ให้เลี่ยงภาษีมรดกโดยการเก็บภาษีการให้สำหรับการถ่ายโอนทรัพย์สินก่อนที่เจ้าของมรดกจะเสียชีวิตด้วย

 

อัตราภาษี

ในกรณีทั่วไปจะคำนวณภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท1

แต่ถ้าผู้รับเป็นบุพการี (พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ทวด และสูงขึ้นไป) หรือผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน โหลน ลื้อ และต่ำลงมา) หรือคู่สมรสตามกฎหมาย ให้คำนวณภาษีอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับเฉพาะส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท2

การยื่นภาษี

เนื่องจากการรับการให้เป็นเงินได้อื่นๆ (เงินได้ประเภทที่ 8) อยู่แล้ว ดังนั้น จึงสามารถยื่นในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ได้ด้วยตัวเอง โดยสามารถเลือกเสียภาษีในอัตรา 5% หรือจะเลือกนำไปรวมคำนวณกับเงินได้ทั้งหมดก็ได้3

ข้อยกเว้นการจัดภาษีการรับให้สำหรับเงินอัดฉีดที่มอบให้นักกีฬา สต๊าฟโค้ช ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ

ถ้าผู้รับเป็นนักกีฬา รวมถึงสต๊าฟโค้ช และเงินที่ได้รับเป็นเงินอัดฉีดเกิน 10 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษีให้เป็นกรณีพิเศษ กล่าวคือ หากนักกีฬาได้รับเงินอัดฉีดเป็นรางวัลเนื่องจากเข้าร่วมการแข่งขันรายการมหกรรมกีฬาและรายการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นระดับนานาชาติ (เช่น Olympic Tokyo 2020) นักกีฬาและทีมผู้ฝึกสอนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินอัดฉีดส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย4 ซึ่งวัตถุประสงค์ของนโยบายยกเว้นภาษีนี้คือ เพื่อเป็นการสนับสนุนนักกีฬาและผู้ฝึกสอนกีฬาที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาตินั่นเอง5

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 48(7) ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    มาตรา 48(6) ประมวลรัษฎากร

  3. ^

    มาตรา 48(6) และ (7) ประมวลรัษฎากร

  4. ^

    ข้อ 2(93) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  5. ^

    กฎกระทรวง ฉบับที่ 325 (พ.ศ.2560)