iTAX pedia

รีวิวแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90/91 ประจำปีภาษี 2560

9 มกราคม 2561โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เมื่อเข้าสู่ต้นปี 2561 หลังจากหยุดยาว ก็เข้าสู่ฤดูกาลประจำปีภาษี 2560 แล้ว แต่อย่าลืมว่าปีภาษี 2560 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ของประเทศไทย ทำให้ทาง กรมสรรพากรต้องปรับเปลี่ยนแบบฟอร์มเพื่อรองรับการ ยื่นภาษี ตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

และเป็นธรรมเนียมของทุกปีที่เราจะมารีวิวเพื่อวิเคราะห์ทีละส่วนกันว่า มีความแตกต่างกับแบบฟอร์มปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้างเพื่อปีนี้จะได้เตรียมภาษีได้อย่างถูกต้องเหมือนทุกปีที่ผ่านมา

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว/คู่สมรสปรับเพิ่มให้แล้ว

ค่าลดหย่อนส่วนตัว ฿30,000 ปรับเพิ่มขึ้นตามโครงสร้างภาษีใหม่แล้วทำให้ค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้นเป็น ฿60,000 แล้ว รวมถึง ค่าลดหย่อนคู่สมรส ฿30,000 ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น ฿60,000 ด้วยเช่นกัน

2. ค่าลดหย่อนบุตรปรับเปลี่ยนเพิ่มด้วยเช่นกัน

ค่าลดหย่อนบุตร ฿15,000-฿17,000 มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมใหญ่ คือ กฎหมายไม่ได้พิจารณาสิทธิเกี่ยวกับการศึกษาบุตรในประเทศอีกแล้วจึงทำให้ค่าลดหย่อนบุตรเพิ่มขึ้นเป็นมาตรฐานเดียวคือ ฿30,000 แล้ว

นอกจากนี้ แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ลดหย่อนบุตรได้ไม่จำกัดจำนวน แต่ในแบบฟอร์มกำหนดให้กรอกได้สูงสุด 7 คน ซึ่งขนาดของแต่ละครอบครัวในสังคมยุคนี้ที่มีขนาดเล็กลงก็ไม่น่าจะใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้เกิน 7 คน หรือถ้ามีเกิน 7 คนจริงก็น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ต่ำมาก

3. เบี้ยประกันสุขภาพมาแล้ว

จากการที่ประกาศค่าลดหย่อน เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ออกมาช่วงปลายปี 2560 ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันจึงเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพให้เป็นค่าลดหย่อนไว้เรียบร้อยแล้ว

4. ค่าลดหย่อนเก่าไป/ใหม่มา

ปี 2560 มีคนถามถึงค่าลดหย่อนท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีการประกาศให้สิทธิลดหย่อนท่องเที่ยวเหมือนปีก่อนๆ แล้ว ช่องนี้จึงหายไป และในทางกลับกันก็มีค่าลดหย่อนใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ได้แก่ ค่าซ่อมบ้านน้ำท่วม และ ค่าซ่อมรถน้ำท่วม ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2560 ถึง 2 ครั้งใน 2 พื้นที่ใหญ่ๆ รวมถึงค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (เฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น) และ ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต (เฉพาะผู้ประกอบการที่รับบัตรเดบิตเท่านั้น)

5. อัตราค่าใช้จ่ายของเงินเดือน/ค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้น

ตามที่กฎหมายประกาศให้ เงินเดือน และ ค่าจ้างทั่วไป สามารถหัก ค่าใช้จ่าย รวมกันได้สูงสุดเพิ่มขึ้นจาก -40% แต่ไม่เกิน ฿60,000- เป็น 50% แต่ไม่เกิน ฿100,000 ก็ได้เปลี่ยนแปลงให้เห็นในแบบฟอร์มเรียบร้อยแล้ว ในส่วนนี้ช่วยคนที่ทำงานประจำเสียภาษีถูกลงกันถ้วนหน้าแน่นอน

6. อัตราค่าใช้จ่ายของค่าลิขสิทธิ์/ทรัพย์สินทางปัญญาปรับเพิ่มขึ้นด้วย

ค่าลิขสิทธิ์/ทรัพย์สินทางปัญญา ก็มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่เช่นกัน กล่าวคือ กฎหมายอนุญาตให้ค่าลิขสิทธิ์หักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก -40% แต่ไม่เกิน ฿60,000- เป็น 50% แต่ไม่เกิน ฿100,000 หรือเลือกหักตามจริงก็ได้ ซึ่งในส่วนนี้ขยายสิทธิหักค่าใช้จ่ายกับค่าสิทธิ์ในทรัพย์สินในปัญญา (Royalty) ค่า Goodwill ซึ่งต่างจากเดิมที่ให้สิทธิ์หักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าลิขสิทธิ์เท่านั้น

7. อัตราค่าใช้จ่ายแบบเหมาสำหรับการประกอบธุรกิจลดลง

โครงสร้างอัตราค่าใช้จ่ายแบบเหมา ค่ารับเหมา และ เงินได้อื่นๆ จากการประกอบธุรกิจ ถูกปรับลดลงเหลือสูงสุด 60% เท่านั้น ดังนั้นหากต้องการใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้ก็ต้องเลือกใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบกับเจ้าของกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดาพอสมควรเพราะหากยังเลือกใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาตามเดิมก็จะหักค่าใช้จ่ายได้น้อยลง ส่งผลให้ปีนี้น่าจะต้องเสียภาษีแพงขึ้นด้วย

8. เพิ่มเงินบริจาคน้ำท่วม 1.5 เท่าเป็นการเฉพาะกิจ

เงินบริจาคน้ำท่วม 2560 เป็นค่าลดหย่อนเฉพาะกิจที่สามารถนำเงินบริจาคไปลดหย่อนได้ 1.5 เท่าของที่บริจาคจริง โดยใช้สิทธิคำนวณแทรกต่อจาก เงินบริจาคเพื่อการศึกษา ก่อนจะนำส่วนที่เหลือไปคำนวณสิทธิลดหย่อน เงินบริจาคทั่วไป ต่อไป

สรุป

เป็นแบบฟอร์มที่ผู้เสียภาษีน่าเริ่มคุ้นเคยบ้างแล้วหลักจากได้มีโอกาสศึกษาจากแบบฟอร์มปี 2559 มาบ้างแล้ว ซึ่งกรมสรรพากรก็ได้ออกคำชี้แจงวิธีการกรอกมาได้อย่างชัดเจน

แต่ถ้าใครที่รู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองจะกรอกฟอร์มแบบใหม่นี้ถูกไหม แนะนำให้ไปที่เว็บไซต์ www.itax.in.th แล้วเลือก “คำนวณภาษี” ระบบจะเตรียมแบบฟอร์มภาษีให้ (ปัจจุบันรองรับแบบฟอร์มภาษีใหม่ประจำปีภาษี 2560 แล้ว) โดยการเปลี่ยนข้อกฎหมายที่ซับซ้อนให้กลายเป็นคำถามง่ายๆ ที่ทุกคนตอบได้ และเมื่อตอบเสร็จระบบก็จะเตรียมแบบฟอร์มภาษีที่จำเป็นให้ทั้งหมด แค่เซ็นชื่อก็สามารถนำไปใช้ยื่นได้ทันที และที่สำคัญคือฟรีด้วยครับ


เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง