โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
ใช้พัฒนาประเทศ
ภาษี เป็นแหล่งรายได้สำคัญของของภาครัฐแทบทุกประเทศ ลองนึกภาพว่ารัฐคือคนหนึ่งคน รัฐก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลตัวเอง เช่น
- จ่ายตลาดซื้อของกินของใช้
- ลงทุนทําธุรกิจเพื่อความมั่งคั่ง
- ซื้ออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย
- จ่ายค่ารักษาพยาบาล
- จ่ายค่าเล่าเรียนเพื่อสร้างอนาคต
- เลี้ยงรับรองเพื่อนบ้านเพื่อความสัมพันธ์อันดี ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็เพื่อความอยู่ดีมีสุขของรัฐ สุดท้ายคนที่ได้รับประโยชน์ก็คือคนในรัฐนั่นเอง ถ้ารัฐมีรายจ่ายมากแต่มีรายรับไม่พอ ประเทศชาติก็อาจล้มละลายได้ ดังนั้น คนในรัฐจึงต้องช่วยกันสนับสนุนค่าใช้จ่ายของรัฐเพื่อ ความกินดีอยู่ดีของคนในรัฐด้วยกันเอง
ใช้ดูแลความประพฤติของคนในสังคม
ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ภาษี คือ เครื่องมือทางการคลังชนิดหนึ่งของรัฐ มีไว้สำหรับควบคุมพฤติกรรมของประชาชนได้ด้วย เช่น หากต้องการให้ประชาชนสูบบุหรี่น้อยลง ก็ใช้วิธีเพิ่มภาระภาษีบุหรี่เพื่อให้ผู้บริโภคมีต้นทุนที่สูงขึ้น หรือ หากต้องการให้ประชาชนวางแผนทำประกันชีวิต ก็ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิต เพื่อจูงใจให้ประชาชนทำประกันชีวิต เป็นต้น
ภาษีอาจจะมีพลังงานบางอย่างซ่อนอยู่ก็เป็นได้…
รัฐไม่เก็บภาษีได้ไหม?
สมมติว่ารัฐไม่มีรายได้จากเก็บภาษีแต่ยังคงมีรายจ่ายเหมือนเดิม เรามาดูกันว่ารัฐจะมีวิธีหาเงินมาจับจ่ายใช้สอยทางไหนได้อีกบ้าง
- ทำธุรกิจส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า การประปา และรัฐวิสาหกิจต่างๆ
- เก็บค่าบริการในรูปของค่าธรรมเนียม
- เอาทรัพย์สินออกมาให้เอกชนทำประโยชน์ เช่น สัญญาสัมปทาน
- ขอกู้เงิน เช่น ออกพันธบัตรรัฐบาล
- พิมพ์แบงค์เองซะเลย!