โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยที่อ้างอิงได้เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเกิดขึ้นตั้งแต่ 700 กว่าปีก่อน (พ.ศ. 1835) ในสมัยสุโขทัย โดยปรากฎบนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 18-21 ความว่า
…เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี
ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง
เพื่อนจองวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย
ใครจักค้าช้างค้า ใครจักค้าม้าค้า…
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1
ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 18-21
ข้อความในศิลาจารึกได้กล่าวถึง “จกอบ” หรือ “จังกอบ” ซึ่งเป็นภาษีชนิดหนึ่งที่เก็บจากพ่อค้าที่นำสินค้าเข้ามาขาย แต่ในยุคสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนี้ระบุว่า “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง” แปลว่าในยุคนั้นไม่มีการเก็บภาษีส่วนนี้
แสดงว่าการเก็บภาษี “จกอบ” เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้านั้นเสียอีก จึงตีความได้ว่าในยุคสมัยนั้นเศรษฐกิจดีเสียจนไม่จำเป็นต้องเก็บภาษีก็ได้
จนกระทั่งระบบการจัดเก็บภาษีของไทยได้ถูกปฏิรูปครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชทรงประกาศตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2416 เพื่อจัดวางหลักเกณฑ์ระบบการจัดเก็บภาษีอากรให้มีระเบียบแบบแผนจนเป็นรากฐานในการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน