iTAX pedia

ประมาณการกําไรสุทธิ (ภาษีเงินได้นิติบุคคล)

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

การประมาณการกำไรสุทธิ เป็นหน้าที่ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป (ไม่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือสถาบันการเงินฯ) เมื่อต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ยื่นภาษีครึ่งปี) ด้วยแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.51 ซึ่งจะต้องทำภายในระเวลา 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาหกเดือน1 ซึ่งมีข้อควรระวังสำคัญคือห้ามประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีเหตุอันสมควร2

วิธีการประมาณการกำไรสุทธิครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

เมื่อถึงเวลายื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ยื่นภาษีครึ่งปี) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องจัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไปจนตลอดทั้งรอบระยะเวลาบัญชี (ไม่ใช่เฉพาะกำไร/ขาดทุนแค่ครึ่งปีแรก)

ในกรณีที่ประมาณการรอบระยะเวลาบัญชีนี้ (ปีนี้) คาดว่าจะขาดทุนก็จะไม่มีภาษีต้องจ่ายเพิ่มตอนยื่น ภ.ง.ด.51

แต่ถ้าประมาณการรอบระยะเวลาบัญชีนี้แล้วคาดว่าจะกำไร ก็ให้ประมาณการว่าปีนี้จะมีกำไรสุทธิกี่บาท แล้วให้คำนวณภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่ง (50%) ของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนี้แล้วชำระภาษีไปพร้อมกับการยื่น ภ.ง.ด.51 เพื่อเสียภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี 3

ลำดับการคำนวณภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ

โดยทั่วไป ขั้นตอนการคำนวณภาษีเงินได้ครึ่งปีสำหรับบริษัทและห้างหุ้นส่วนจะทำตามลำดับ ดังนี้4

  1. ประมาณยอดรายรับ/ยอดขายก่อนหักรายจ่ายตลอดทั้งปี (รอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบัน) ว่าจะได้เงินทั้งหมดเท่าไหร่
  2. หัก ประมาณการรายจ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี
  3. หัก ขาดทุนสุทธิที่ยกมาไม่เกิน 5 ปี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบัน และประมาณการกําไรสุทธิที่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย (ถ้ามี)
  4. นำตัวเลขหลังหัก ข้อ 2 และ ข้อ 3 แล้ว มาใช้ตั้งต้นเป็นประมาณการกำไรสุทธิที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี
  5. นำประมาณการกำไรสุทธิไป ÷ 2 จะได้ผลลัพธ์เป็นกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ
  6. นำกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิไป x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อคำนวณเป็นค่าภาษีที่ต้องชำระสำหรับการยื่นภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด.51 ต่อไป

ตัวอย่างการประมาณการกำไรเพื่อเสียภาษีครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

ในช่วง 6 เดือนแรก บริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดทั่วไป มีรายรับ ฿500,000 และมีรายจ่าย ฿400,000

บริษัท A คาดการณ์ว่าตลอดทั้ง 12 เดือน ตนจะมีรายรับ ฿1,000,000 และมีรายจ่าย ฿900,000 จึงประมาณการกำไรสุทธิตลอดทั้งปีได้ ฿100,000 (ประมาณรายรับ ฿1,000,000 – ประมาณการรายจ่าย ฿900,000)

เมื่อถึงเวลาต้องยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) บริษัท A ต้องคำนวณภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนี้ เมื่อบริษัท A ประมาณการกำไรสุทธิตลอดทั้งปีได้ ฿100,000 การคำนวณภาษีครึ่งปีจึงใช้จำนวน ฿50,000 (กึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ) เป็นฐานสำหรับคำนวณภาษีครึ่งปี (50% x ประมาณการกำไรสุทธิตลอดทั้งปี ฿100,000)

ถ้าบริษัท A เสียภาษีในอัตราคงที่ 20% การยื่นภาษีครึ่งปีนี้ บริษัท A จะคำนวณค่าภาษีครึ่งปีได้ ฿10,000 (กึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิตลอดทั้งปี ฿50,000 x อัตราภาษี 20%)

ประมาณการกำไรสุทธิคลาดเคลื่อน ขาดไปเกิน 25% ของกำไรสุทธิ

ผู้เสียภาษีจะพบเหตุการณ์นี้เมื่อได้ผ่านพ้นรอบระยะเวลาบัญชีไปแล้ว แล้วพบในภายหลังว่ากำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาสูงกว่าประมาณกำไรสุทธิที่เคยคาดการณ์ไว้ตอนยื่นภาษีครึ่งปี

หากประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน 25% ของกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริง ขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ก็อาจได้รับบทลงโทษตามกฎหมายได้

ตัวอย่าง

ประมาณการกำไรสุทธิตอนยื่นภาษีครึ่งปี กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ส่วนต่างที่คลาดเคลื่อน คำนวณส่วนต่างที่คลาดเคลื่อนเป็นเปอร์เซ็นต์ ผ่านเกณฑ์ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปไม่เกิน 25% ของกำไรสุทธิ
฿1,000,000 ฿1,000,000 ฿0 0%  ผ่าน
฿500,000 ฿1,000,000 -฿500,000 -50% ไม่ผ่าน (เพราะขาดเกิน 25%)
฿800,000 ฿1,000,000 -฿200,000 -20%  ผ่าน
฿749,000 ฿1,000,000 -฿251,000 -25.1% ไม่ผ่าน (เพราะขาดเกิน 25%)
฿750,000 ฿1,000,000 ฿250,000 -25% ผ่าน (เพราะขาด 25% พอดี ยังไม่เกิน)

บทลงโทษกรณีประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน 25% ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีเหตุอันสมควร

หากประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน 25% ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาด แล้วแต่กรณี5

ข้อยกเว้นว่าประมาณการกำไรสุทธิคลาดเคลื่อนเพราะ ‘เหตุอันสมควร’

แม้จะประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน 25% ก็จริง แต่ถ้ามี เหตุอันสมควร ก็สามารถใช้เป็นข้อยกเว้นเพื่อไม่ต้องรับผิดได้ ซึ่งเหตุอันสมควรที่สามารถนำมาอ้างได้ ได้แก่

  1. จัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปีไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหน่ึงของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ตอนยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว6 ตัวอย่างเช่น คำนวณค่าภาษีปีที่แล้วได้ ฿10,000 กึ่งหนึ่งของค่าภาษี ฿10,000 ปีที่แล้วคือ ฿5,000 ดังนั้น ตอนยื่นภาษีครึ่งปีรอบนี้ ถ้าคำนวณค่าภาษีครึ่งปีได้ตั้งแต่ ฿5,000 ขึ้นไป แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าตนประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน 25% ก็ยังถือว่าประการคลาดเคลื่อนโดยยังมีเหตุอันสมควร
  2. จัดทำประมาณการกำไรสุทธิปีนี้และยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งปีไว้ไม่น้อยกว่ากำไรสุทธิที่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ตอนยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว เช่น กำไรสุทธิปีที่แล้ว ฿1,000,000 กึ่งหนึ่งของกำไรสุทธิ ฿1,000,000 ปีที่แล้วคือ ฿500,000 เลยยื่นภาษีครึ่งปีรอบนี้โดยประมาณกำไรสุทธิตลอดทั้งปีนี้ไว้ว่าจะมีกำไรสุทธิ ฿1,000,000 หรือมากกว่านั้น แม้ค่าภาษีครึ่งปีจะน้อยกว่ากึ่งหน่ึงของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ปีที่แล้ว แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าตนประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน 25% และค่าภาษีครึ่งปีน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของปีที่แล้วเพราะได้รับยกเว้นภาษีหรือมีการลดอัตราภาษี ก็ยังเรียกได้ว่ายังมีเหตุอันสมควรอยู่ 7
  3. มีเหตุอันสมควรอื่นสามารถชี้แจงให้เจ้าหน้าที่สรรพากรเข้าใจสถานการณ์ได้ว่าส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิคลาดเคลื่อนจากกำไรสุทธิจริงเกิน 25% ได้ เช่น
    • มีรายรับและรายจ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศ แล้วเกิดเหตุอัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากระหว่างปี ทำให้มีรายได้สูงขึ้น หรือมีต้นทุนต่ำลงอย่างมาก 
    • มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างปี ทำให้ต้นทุนรายจ่ายดอกเบี้ยลดลง
    • มีการปรับปรุงระบบการดำเนินงานภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นระหว่างปี ทำให้รายจ่ายลดลง
    • สินค้าได้รับความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจนเกินความคาดหมาย
    • ทำธุรกิจบริการ ยอดรายรับแต่ละปีมีความไม่แน่นอนสูง

ติดต่อ iTAX sme เพื่อรับบริการวางแผนภาษีธุรกิจ ตั้งบริษัท ทำบัญชี จด VAT ภาษีเงินได้นิติบุคคล และอื่นๆ โทร. 062-486-9787

ยื่นภาษีนิติบุคคลรอบครึ่งปีนี้ ทำถูกต้องจริงไหม?

ติดต่อขอรับบริการได้ที่ iTAX sme

ค่าบริการ โทร 062-486-9787


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 67 ทวิ ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    มาตรา 67 ตรี ประมวลรัษฎากร

  3. ^

    มาตรา 67 ทวิ (1) ประมวลรัษฎากร

  4. ^

    มาตรา 67 ทวิ (1) ประมวลรัษฎากร

  5. ^

    มาตรา 67 ตรี ประมวลรัษฎากร

  6. ^

    ข้อ 1 (1) คำสั่งกรมสรรพากร ท่ี ป.50/2537 ลว. 31 ส.ค.2537

  7. ^

    ข้อ 1 (2) คำสั่งกรมสรรพากร ท่ี ป.50/2537 ลว. 31 ส.ค.2537