Contents

บุคคลธรรมดา

35,620 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

บุคคลธรรมดา ในมุมมองของ ภาษีเงินได้ คือ ประเภทของ ผู้เสียภาษี ชนิดหนึ่ง

แม้จะใช้คำว่าบุคคลธรรมดา แต่กลับไม่ได้หมายความเฉพาะมนุษย์เท่านั้น เพราะ ประมวลรัษฎากร ยังให้คำว่า บุคคลธรรมดา รวมถึงหน่วยภาษีอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วย เช่น คนที่เสียชีวิตไปแล้วก็ยังมีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อยู่ดี

ประเภทของบุคคลธรรมดาสำหรับภาษีเงินได้

มนุษย์ธรรมดา

บุคคลธรรมดา

มนุษย์ธรรมดาในที่นี้ก็คือ มนุษย์ธรรมดาที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทุกคนและยังคงมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา คนพิการ หรือแม้แต่พระภิกษุ นักบวช ถ้ามี เงินได้ ก็มีหน้าที่เสียภาษีเช่นกัน1 ซึ่งยังรวมไปถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์สำหรับทรัพย์สินส่วนพระองค์2 (ทรัพย์สินส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)3

คนที่เสียชีวิตระหว่างปีภาษี

ตายระหว่างปีภาษี

คนที่เสียชีวิตไปแล้วถ้ามีเงินได้เกิดขึ้นระหว่าง ปีภาษี ก็ถือว่าเป็นผู้เสียภาษีด้วยเช่นกัน เพื่อความรอบคอบของกฎหมายภาษี เพราะถ้าตีความว่าผู้เสียชีวิตนั้นสิ้นสภาพแล้วจึงไม่ใช่บุคคลธรรมดาอีกต่อไป เงินได้ที่เกิดขึ้นในปีนั้นก็ไม่มีภาระภาษีซึ่งเป็นวิธีตีความที่ไม่ถูกต้อง

ดังนั้น เพื่อความชัดเจน คำว่า “บุคคลธรรมดา” เลยให้หมายความรวมถึง คนที่เสียชีวิตระหว่างปีภาษีด้วยเลย

ส่วนประเด็นว่าเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ใครจะทำหน้าที่เสียภาษีให้แทนนั้น ก็เป็นภาระของผู้จัดการมรดก ทายาท หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ต้องทำหน้าที่แทน4

กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากคนที่เสียชีวิตระหว่างปีภาษีที่ผ่านมา และภายหลังเสียชีวิตแล้วก็ยังไม่มีการแบ่งมรดกอีกจนผ่านมาครบอีกปีภาษีนึง ซึ่งกองมรดกนั้นก็อาจจะยังมีรายได้เข้ามาอยู่แม้ว่าเจ้ามรดกจะเสียชีวิตไปแล้ว เช่น ยังคงได้รับค่าเช่าโอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือได้รับค่าลิขสิทธิ์เพลงที่เคยแต่งไว้ กฎหมายเลยให้ถือว่ากองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งก็เป็นผู้เสียภาษีด้วยเช่นกัน เพื่อความรอบคอบของกฎหมายภาษี เพราะถ้าตีความว่ากองมรดกนั้นสิ้นสภาพแล้วจึงไม่ใช่บุคคลธรรมดาอีกต่อไป เงินได้ที่เกิดขึ้นในปีนั้นก็ไม่มีภาระภาษีซึ่งเป็นวิธีตีความที่ไม่ถูกต้องอีกเช่นกัน

ดังนั้น เพื่อความชัดเจน คำว่า “บุคคลธรรมดา” เลยให้หมายความรวมถึง กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งไปด้วย

ส่วนประเด็นว่าเจ้ามรดกเสียชีวิตไปแล้ว แล้วใครจะทำหน้าที่เสียภาษีให้แทนนั้น ก็เป็นภาระของผู้จัดการมรดก ทายาท หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ต้องทำหน้าที่แทน5

ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน

ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน คือ กลุ่มคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อแสวงหากำไรเกิดรายได้ขึ้นโดยตกลงว่าจะแบ่งกำไรกัน ดังนั้นเมื่อมีเงินได้แล้วก็ต้องเสียภาษีให้รัฐ

แต่เนื่องจากห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนยังไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมายไทย ประมวลรัษฎากรเลยให้คำว่า “บุคคลธรรมดา” หมายความรวมถึง ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนไปด้วยเลย6

คณะบุคคล

คณะบุคคล คือ กลุ่มคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปที่ตกลงทำบางอย่างเพื่อหารายได้ร่วมกันแต่ไม่ได้ต้องการจะแบ่งกำไรกันเหมือนห้างหุ้นส่วนสามัญ ดังนั้นเมื่อมีเงินได้แล้วก็ต้องเสียภาษีให้รัฐ

แต่เนื่องจากคณะบุคคลไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมายไทย ประมวลรัษฎากรเลยให้คำว่า “บุคคลธรรมดา” หมายความรวมถึง คณะบุคคลด้วย7 แต่ถึงแม้จะเรียกว่าคณะบุคคล แต่ถ้ามีวัตถุประสงค์ว่าจะแบ่งกำไรกันก็อาจกลายสภาพเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญได้

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

  • คนทั่วไปมักเข้าใจว่าเด็กไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเพราะยังเป็นเด็ก แต่ความจริงแล้วแม้จะเป็นเด็กแต่ถ้ามีเงินได้ก็ถือว่าเป็นผู้มีเงินได้ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วย เพียงแต่ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะมีหน้าดำเนินการยื่นภาษีให้8
  • คนทั่วไปมักเข้าใจว่าพระภิกษุไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเพราะตัดขาดจากทางโลกไปแล้ว แต่ความจริงแล้วแม้จะเป็นพระภิกษุ หากมีเงินได้ก็ย่อมถือว่าเป็นผู้มีเงินได้ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วย เว้นแต่จะเป็นเงินที่ได้รับจากการทำบุญอาจจะได้รับยกเว้นภาษีได้9
  • คนทั่วไปมักเข้าใจว่าพระบรมวงศานุวงศ์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่ความจริงแล้วแม้จะเป็นถึงพระบรมวงศานุวงศ์ หากมีเงินได้ก็ย่อมถือว่าเป็นผู้มีเงินได้ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีภายใต้กฎหมายเดียวกับเราเช่นกัน10

อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 56 ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    มาตรา 8 พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479

  3. ^

    มาตรา 4 พ.ร.บ. ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477

  4. ^

    มาตรา 57 ทวิ ประมวลรัษฎากร

  5. ^

    มาตรา 57 ทวิ ประมวลรัษฎากร

  6. ^

    มาตรา 56 ประมวลรัษฎากร

  7. ^

    มาตรา 56 ประมวลรัษฎากร

  8. ^

    มาตรา 57 ประมวลรัษฎากร

  9. ^

    มาตรา 56 ประมวลรัษฎากร

  10. ^

    มาตรา 56 ประมวลรัษฎากร, มาตรา 8 พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479, มาตรา 4 พ.ร.บ. ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477