โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
บริษัทจำกัด คือ บุคคลประเภทหนึ่งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายซึ่งไม่ได้เป็น บุคคลธรรมดา แต่กฎหมายกำหนดเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของ โดยปกติจะถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อวัถตุประสงค์ทางธุรกิจ1 โดยต้องมีผู้เข้าร่วมก่อตั้งอย่างน้อย 2 คน2 และมีรายได้จะมีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ด้วย ไม่ว่าจะตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือตามกฎหมายต่างประเทศ3
การจดทะเบียนบริษัทจำกัด
การจดทะเบียนบริษัทต้องทำดำเนินการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าพื้นที่ใกล้บ้าน โดยผู้ก่อตั้งอย่างน้อย 2 คนจะต้องร่วมกันกรอกรายละเอียดและลงชื่อใน ‘หนังสือบริคณห์สนธิ’ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องใช้เพื่อนำไปจดทะเบียนบริษัทต่อไป 4
ทั้งนี้ ก่อนจดทะเบียนบริษัทต้องดำเนินการจองชื่อบริษัทบนระบบจองชื่อนิติบุคคลของ DBD ให้เรียบร้อยก่อน
หนังสือบริคณห์สนธิ
หนังสือบริคณห์สนธิ (Momedandum) เป็นแบบฟอร์มที่ใช้สำหรับจดทะเบียนบริษัท ซึ่งจะมีข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ เช่น ทุนจดทะเบียนบริษัท จำนวนหุ้น มูลค่าหุ้น ชื่อผู้จัดตั้งบริษัท (ผู้เริ่มก่อการ) วัตถุประสงค์ของบริษัท เป็นต้น
ขั้นตอนการตั้งบริษัท
- ผู้เริ่มก่อการ (promoters) อย่างน้อย 2 คน เข้าชื่อกันทำหนังสือบริคณห์สนธิ
- ผู้เริ่มก่อการประชุมตั้งบริษัทเพื่อลงชื่อผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น ตั้งกรรมการบริษัทชุดแรกสำหรับรับหน้าที่บริหารบริษัท และตั้งผู้ชำระบัญชี5
- กรรมการบริษัทเรียกให้ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นชำระเงินค่าหุ้นอย่างน้อยจำนวน 25% ของมูลค่าหุ้นที่จองซื้อไว้6 (หรือจะเรียกชำระเต็มจำนวนก็ได้ ขึ้นอยู่กับกรรมการบริษัท)
- กรรมการบริษัทไปยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัทที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าพื้นที่ใกล้บ้าน พร้อมทั้งเสียค่าธรรมเนียมทางราชการ7 (สามารถเตรียมเอกสารให้เรียบร้อยแล้วมอบอำนาจตัวแทนไปดำเนินการจดบริษัทแทนได้)
เมื่อจดทะเบียนบริษัทสำเร็จแล้ว บริษัทก็จะมีสภาพเป็นนิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย8 และจะถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้รับรู้ว่ามีสถานะเป็น บริษัทจำกัด ที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป9 รวมถึงจะได้รับ ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัทจำกัด มาด้วยจำนวน 1 ฉบับ10
ข้อมูล/เอกสารประกอบการขอจดทะเบียนบริษัท
1. ผู้จัดตั้งบริษัท (ผู้เริ่มก่อการ) อย่างน้อย 2 คน
- สำเนาบัตรประชาชน คนละ 1 ฉบับ
- เบอร์โทรศัพท์
- อีเมล
2. พยาน จำนวน 2 คน11
- สำเนาบัตรประชาชน คนละ 1 ฉบับ
- เบอร์โทรศัพท์
3. ข้อมูลบริษัท
- ชื่อบริษัทภาษาไทย (ต้องดำเนินการจองชื่อผ่านระบบจองชื่อนิติบุคคล กรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้เรียบร้อยก่อน)
- ชื่อบริษัทภาษา English
- กรณีต้องการให้จองชื่อบริษัทให้
- ทุนจดทะเบียน (ขั้นต่ำ 10 บาท)
- มูลค่าหุ้น (ขั้นต่ำ 5 บาท/หุ้น)
- รายละเอียดของธุรกิจ (อธิบายให้ละเอียดที่สุดเพื่อจัดทำวัตถุประสงค์ได้ครบถ้วน)
- ที่อยู่ภาษาไทย
- ที่อยู่ภาษา English
- เบอร์โทรศัพท์
- เบอร์โทรสาร (ถ้ามี)
- อีเมล
- ชื่อและนามสกุลผู้ตรวจสอบบัญชี, เลขที่ใบอนุญาต, และค่าตอบแทน (ถ้ามี)
- แผนที่ของสถานประกอบการ
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ใช้ตั้งเป็นสถานประกอบการ
- กรณีผู้จัดตั้งไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์
- สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของกรรมสิทธิ์
- หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่
- สัญญาเช่า (ถ้ามี)
- กรณีผู้ให้เช่า หรือผู้เช่าเป็นบริษัท หรือทั้งผู้ให้เช่าและผู้เช่าเป็นบริษัท
- หนังสือรับรองของบริษัทผู้เช่าและ/หรือผู้ให้เช่า พร้อมกรรมการเซ็นรับรองทุกหน้า
- สำเนาบัตรประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจเซ็นเอกสารของบริษัทผู้เช่าและ/หรือผู้ให้เช่า
- สำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจเซ็นเอกสารของบริษัทผู้เช่าและ/หรือผู้ให้เช่า
- หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ จากบริษัทผู้เช่าและ/หรือผู้ให้เช่า
- กรณีผู้ให้เช่า หรือผู้เช่าเป็นบริษัท หรือทั้งผู้ให้เช่าและผู้เช่าเป็นบริษัท
- กรณีผู้จัดตั้งไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์
- อัตราส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
- รายชื่อผู้ที่จะเป็นกรรมการบริษัท (ผู้มีอำนาจตัดสินใจทางธุรกิจของบริษัท)
- รายชื่อกรรมการบริษัทที่จะมีอำนาจเซ็นเอกสารของบริษัท (ผู้มีอำนาจตัดสินใจและลงนามในเอกสารเพื่อให้มีผลผูกพันทางธุรกิจ)
- ตราประทับ (ถ้ามี)
อยากให้ iTAX ช่วยดูแลเรื่องจดทะเบียนบริษัท
สอบถามค่าบริการได้ที่ 062-486-9787
การเปิดบัญชีธนาคารให้บริษัท
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการจัดทำรายงานการประชุมเพื่อเปิดบัญชีธนาคารสำหรับสมัครใช้บริการธุรกรรมออนไลน์ ได้แก่
- ชื่อธนาคาร
- สาขา
- ประเภทบัญชีเงินฝาก (ออมทรัพย์/กระแสรายวัน)
- รายชื่อกรรมการที่มีอำนาจเบิกจ่าย
การยื่นขอรหัสในการยื่นงบการเงินออนไลน์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (E-Filling DBD)
- สำเนาบัตรประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจเซ็นเอกสารของบริษัท
- สำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจเซ็นเอกสารของบริษัท
ความเป็นเจ้าของ (ผู้ถือหุ้น)
ผู้ที่เป็นเจ้าของบริษัทจำกัด เรียกว่า ผู้ถือหุ้น ซึ่งกำหนดสัดส่วนตามจำนวนหุ้นของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือไว้ ผู้ถือหุ้นอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ผู้ถือหุ้นจะต้องไม่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 คน
มูลค่าหุ้นและทุนจดทะเบียนของ บริษัทจำกัด
บริษัทจำกัด จะออกหุ้นจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องกำหนดมูลค่าหุ้นเท่าๆ กัน และต้องออกหุ้นไม่น้อยกว่า 3 หุ้น โดยมูลค่าหุ้นต้องไม่น้อยกว่าหุ้นละ 5 บาท12
การเริ่มต้นบริษัทครั้งแรก บริษัทยังไม่จำเป็นต้องมีเงินเท่าทุนทะเบียนก็ได้ แต่การเรียกเก็บเงินค่าหุ้นครั้งแรกจะต้องเรียกเก็บอย่างน้อย 25% ของทุนจดทะเบียน13 เช่น บริษัทกำหนดให้มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท บริษัทยังไม่จำเป็นต้องมีเงิน 1,000,000 บาท เท่าทุนจดทะเบียนก็ได้ แต่เมื่อกรรมการบริษัทเรียกเก็บเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้น กรรมการต้องเรียกเก็บอย่างน้อย 25% ของทุนจดทะเบียน ดังนั้น หากผู้ถือหุ้นมีหุ้นมูลค่า 100,000 บาท จะต้องชำระค่าหุ้นครั้งแรกอย่างน้อย 25,000 บาท ทำให้บริษัทจะมีเงินค่าหุ้นที่เรียกเก็บได้ครั้งแรกอย่างน้อย 250,000 บาท เป็นต้น
การเข้าหุ้นและการคุ้มครองความรับผิดของผู้ถือหุ้น
ผู้ถือหุ้นจะต้องถือหุ้นในบริษัทอย่างน้อย 1 หุ้น ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นได้รับความคุ้มครองให้รับผิดชอบต่อหนี้สินของบริษัทเพียงเท่ากับมูลค่าหุ้นที่ตนยังชำระไม่ครบเท่านั้น14 เช่น ถ้าผู้ถือหุ้นมีหุ้นมูลค่า 100,000 บาท แต่เคยชำระค่าหุ้นครั้งแรกไป 25,000 บาท หากบริษัทมีหนี้ที่ต้องรับผิดชอบ ผู้ถือหุ้นรายนี้จะต้องรับผิดเพียงเท่าที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ นั่นคือ 75,000 บาท นั่นเอง
ดังนั้น หากชำระค่าหุ้นเต็มครบจำนวนแล้วจะไม่ต้องรับผิดชอบต่อหนี้ของบริษัทเพิ่มเติมเป็นการส่วนตัวอีก เช่น ถ้าผู้ถือหุ้นมีหุ้นมูลค่า 100,000 บาท และได้ชำระค่าหุ้นจนเต็มครบ 100,000 บาท หากบริษัทมีหนี้ที่ต้องรับผิดชอบ ผู้ถือหุ้นรายนี้จะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเพิ่มเติมอีกแล้ว เพราะชำระค่าหุ้นครบไปแล้ว
กรรมการบริษัท
กรรมการบริษัทเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการต่างๆ ของบริษัทให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยกรรมการชุดแรกจะรับมอบหน้าที่ดังกล่าวมาจากผู้ก่อตั้งบริษัท15
การประชุมผู้ถือหุ้น
กรรมการบริษัทจะต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไปเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งโดยปกติจะเรียกว่า การประชุมสามัญ16
การเรียกประชุมผู้ถือหุ้น จะต้องมีการส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่โดยวิธีลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และวาระที่จะประชุมกันด้วย17
มติพิเศษ
ในการดำเนินกิจกรรมของบริษัทบางอย่าง บริษัทจำเป็นต้องได้รับมติพิเศษเนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ18
- การเปลี่ยนแปลงแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ19
- การเพิ่มทุนจดทะเบียน20
- การออกหุ้นใหม่ให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้ว หรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้วด้วยอย่างอื่นนอกจากให้ใช้เป็นตัวเงิน21
- การลดทุนจดทะเบียน22
- การเลิกบริษัท23
- การควบบริษัท24
มติพิเศษที่สมบูรณ์จะต้องมาจากท่ีประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น โดยจะต้องได้รับคะแนนไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน25 และต้องบอกกล่าวการเรียกประชุมใหญ่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 14 วัน26 ดังนั้น ถ้าได้เสียงสนันสนุนตั้งแต่ 75% ขึ้นไปอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะได้รับมติพิเศษไปดำเนินการต่อได้
ข้อสังเกต: หากเป็นกรณีอื่นที่ไม่ต้องการมติพิเศษ เช่น เปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท ที่ประชุมผู้ถือหุ้นย่อมสามารถทำได้โดยอาศัยเสียงข้างมากโดยไม่ต้องใช้มติพิเศษ
การเสียภาษีเงินได้
บริษัทจำกัดต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยปกติจะใช้อัตราภาษีคงที่ 20% ซึ่งต่ำกว่าอัตราภาษีสูงสุดของบุคคลธรรมดาที่เก็บในอัตรา 35%
อยากจดบริษัท มีมืออาชีพดูแลให้สบายใจกว่า
สอบถามค่าบริการ 062-486-9787
อ้างอิง
- ^
มาตรา 1012 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1097 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 39 ประมวลรัษฎากร
- ^
มาตรา 1097 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1108 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1110 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1018 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1115 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1021 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1111 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1099 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1117 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1105 วรรคสาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1096 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1110 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1171 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1175 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1145 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1145 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1220 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1221 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1224 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1236(4) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1238 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1194 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
- ^
มาตรา 1175 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์