โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
เงินได้ของนักแสดงสาธารณะ มาจากการทำหน้าที่นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว เป็นหมู่หรือคณะ หรือแข่งขันเป็นทีม1 ซึ่งจัดเป็น เงินได้ประเภทที่ 8
การหักค่าใช้จ่าย
เงินได้ของนักแสดงสาธารณะสามารถเลือก หักค่าใช้จ่าย ได้ 2 วิธี คือ
- หักตามจริง (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย) หรือ
- หักเหมา 40-60% (ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย)
ซึ่งการหักใช้จ่ายแบบเหมาแบ่งตามลำดับ ดังนี้2
จำนวนรายได้ | ค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่หักได้ |
฿300,000 แรก | 60% |
ส่วนที่เกิน ฿300,000 | 40% |
แต่เมื่อรวมค่าใช้จ่ายแบบเหมาทั้งหมดต้องไม่เกิน ฿600,000
นั่นหมายความว่า ทันทีที่มีรายได้จากนักแสดงสาธารณะเกิน ฿1,350,000 จะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้มากกว่า ฿600,000 อีกแล้ว
อะไรเรียกว่านักแสดงสาธารณะได้บ้าง?
นักแสดงสาธารณะ ไม่ได้หมายถึงนักแสดงละคร ภาพยนต์ วิทยุ หรือโทรทัศน์เท่านั้น ยังหมายความถึง นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว เป็นหมู่หรือคณะ หรือแข่งขันเป็นทีม3 เช่น
- นักแสดงละครเวที
- ผู้ดำเนินรายการทางโทรทัศน์
- นักแสดงตลก
- นายแบบ นางแบบ
- นักพูดรายการทอล์คโชว์
- นักมวยอาชีพ
- นักฟุตบอลอาชีพ
- นักกีฬา E-Sport
ซึ่งโดยมากรวมถึงการออกงานต่างๆ ที่ถูกหักภาษี 5% ตอนรับเงิน
อะไรบ้างไม่นับว่าเป็นนักแสดงสาธารณะ?
นักแสดงสาธารณะจะไม่รวมถึง ผู้ประกาศข่าว โฆษก พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการในสถานบันเทิงใดๆ ผู้บรรยายหรือนักพากย์ ผู้จัดการส่วนตัวของนักแสดงสาธารณะ ผู้กำกับการแสดง ผู้จัดการทีมกีฬา ผู้ฝึกสอนนักกีฬา หรือ บุคคลที่ทำหน้าที่ทำนองเดียวกัน4
นอกจากนี้ เงินได้จากการเป็นพิธีกรในการเปิดตัวสินค้าใหม่จากบริษัทห้างร้านต่างๆ ก็ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ของนักแสดงสาธารณะด้วย5
ทั้งนี้ รายได้ที่ไม่จัดว่าเป็นนักแสดงสาธารณะโดยปกติจะถือว่ามาจากการรับจ้างทั่วไปในฐานะ เงินได้ประเภทที่ 2
อ้างอิง
- ^
ข้อ 1 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 102/2544, คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.128/2546
- ^
มาตรา 46 ประมวลรัษฎากร, มาตรา 8(43) พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502, พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560
- ^
ข้อ 1 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 102/2544,คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.128/2546
- ^
ข้อ 1 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 102/2544,คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.128/2546
- ^
ข้อหารือภาษีอากรที่ กค 0706/6490 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2549