โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ (หรือที่สื่อเรียกกันว่า กฎหมายอีเพย์เมนต์ (e-payment)) เป็นธุรกรรมที่สถาบันการเงิน (เช่น ธนาคาร) รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น mPAY, TrueMoney) มีหน้าที่ต้องรายงานให้ กรมสรรพากร ทราบเมื่อตรวจพบบุคคลที่ระหว่างปีมีเงินเข้าตั้งแต่ 3,000 ครั้ง หรือมีเงินเข้าตั้งแต่ 400 ครั้งและเป็นเงินจำนวนตั้งแต่ ฿2,000,0001 ทั้งนี้บุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะอาจเป็น บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ก็ได้ โดยเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 25622
ธุรกรรมที่ต้องรายงานกรมสรรพากร
‘ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ’ ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะต้องรายงานกรมสรรพากร ได้แก่
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีของสถาบันการเงินเดียวกันรวมในปีเดียว ตั้งแต่ 3,000 ครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 250 ครั้ง (ถ้าทั้งปีมียอดรวม 2,999 ครั้ง จะยังไม่เข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ)
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีของสถาบันการเงินเดียวกันรวมในปีเดียว ตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนรวมกันตั้งแต่ ฿2,000,000 ขึ้นไป (ถ้าทั้งปีมียอดรวม 399 ครั้ง หรือ ฿1,999,999 อย่างใดอย่างหนึ่งจะยังไม่เข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ)
หน่วยงานที่มีหน้าที่รายงาน
หน่วยงานต่อไปนี้ที่มีข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะอยู่ในความครอบครองจะมีหน้าที่ต้องรายงานให้กรมสรรพากรทราบด้วย
- สถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน (เช่น ธนาคาร)
- ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น mPAY, TrueMoney, Rabbit LINE pay เป็นต้น)
การรายงาน
สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่ต้องรวบรวมข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะตลอดปีเพื่อแจ้งให้กรมสรรพากรทราบภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี โดยเริ่มเก็บข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 25623 และจะเริ่มรายงานครั้งแรกภายใน 31 มี.ค. 25634 โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่ได้รับข้อมูล
วิธีนับจำนวนครั้ง
ให้นับจำนวนครั้งและจำนวนเงินทุกครั้งที่ฝากหรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของบุคคลนั้น โดยไม่สนใจว่าธนาคาร (หรือสถาบันการเงิน) จะกำหนดวิธีนำเงินเข้าเข้าบัญชีอย่างไร5 เช่น ถ้าธนาคารรอรวบยอด 100 รายการ รายการละ 10 บาท เพื่อโอนเข้าบัญชีธนาคารเป็นรายการเดียวจำนวน 1,000 บาทเพียงก้อนเดียวเมื่อสิ้นวัน ก็ให้นับว่ามีจำนวน 100 ครั้ง ครั้งละ 10 บาท เป็นต้น
หากเป็นกรณีโอนด้วยเครื่องรับรูดบัตร, QR Code หรือโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยยังไม่เข้าบัญชีธนาคารของบุคคลนั้นทันที ให้นับจำนวนครั้งและจำนวนเงินทุกครั้งที่ได้ทำผ่านวิธีการเหล่านั้น โดยไม่สนใจว่าธนาคาร (หรือสถาบันการเงิน) จะกำหนดวิธีนำเงินเข้าเข้าบัญชีอย่างไร6 เช่น ถ้าธนาคารรอรวบยอดรูดผ่านเครื่องรับรูดบัตร 100 รายการ รายการละ 1,000 บาท เพื่อโอนเข้าบัญชีธนาคารเป็นรายการเดียวจำนวน 100,000 บาทเพียงก้อนเดียวเมื่อสิ้นวัน ก็ให้นับว่ามีจำนวน 100 ครั้ง ครั้งละ 1,000 บาท เป็นต้น
ข้อมูลที่กรมสรรพากรจะได้รับ
กรมสรรพากรจะได้รับข้อมูลต่อไปนี้7
- เลขประจำตัวประชาชน (หรือเลขทะเบียนนิติบุคคล หรือเลขอื่นๆ ที่ใช้ระบุตัวตน)
- ชื่อ นามสกุล (หรือชื่อบริษัท)
- จำนวนครั้งของการฝาก/รับโอนเงินของทุกบัญชีรวมกัน
- ยอดรวมของการฝาก/รับโอนเงินของทุกบัญชีรวมกัน
- เลขที่บัญชีของทุกบัญชีที่มีการฝาก/รับโอนเงิน
ลักษณะการนำข้อมูลไปใช้
ใช้ประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นในการวิเคราะห์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดกลุ่มผู้เสียภาษีในการดูแลและให้บริการที่เหมาะสมต่อไป และหากข้อมูลถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง กรมสรรพากรจึงจะนำไปพิจารณาในเชิงลึกต่อไป ดังนั้น แม้จะเข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ กรมสรรพากรจะไม่เรียกตรวจทุกราย เพราะกรมสรรพากรมีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดกลุ่มผู้เสียภาษีอีกครั้งหนึ่ง
ผู้เสียภาษีที่ประกอบธุรกิจจึงควรเตรียมความพร้อมด้วยการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างถูกต้อง เก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้ครบถ้วนถูกต้อง และตรงเวลา
ส่วนผู้เสียภาษีไม่ได้ประกอบธุรกิจแต่ถูกรายงานว่ามีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ กรมสรรพากรจะมีมาตรการในการดูแลที่เหมาะสมต่อไป
การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะ
กรมสรรพากรจะเก็บรักษาข้อมูลเป็นความลับโดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าดูข้อมูลได้เป็นการทั่วไป และมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่ในกรณีนำข้อมูลไปเปิดเผย
เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย
- ธุรกรรมลักษณะเฉพาะไม่ได้มีไว้เฉพาะตรวจสอบแค่คนขายของออนไลน์เท่านั้น แต่บังคับใช้เป็นการทั่วไปกับบุคคลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ
- บางคนเข้าใจผิดว่ารับโอนเงินเกิน 8 ครั้งต่อวันจะถูกตรวจสอบ เพราะแท้จริงแล้วกฎหมายกำหนดเกณฑ์เป็นจำนวนตั้งแต่ 3,000 ครั้งตลอดทั้งปี ไม่ใช่เกินวันละ 8 ครั้งแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงค่าเฉลี่ยต่อวันตลอดทั้งปีเท่านั้น
- บางคนเข้าใจผิดว่าหากมีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ คุณจะถูกปรับ ฿100,000 และค่าปรับวันละ ฿10,000 ทันที ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากบทลงโทษดังกล่าวเป็นบทลงโทษของหน่วยงานที่มีหน้าที่รายงานธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ไม่ทำหน้าที่ ไม่ใช่บทลงโทษของผู้เสียภาษีแต่อย่างใด
- แม้คุณจะถูกรายงานเนื่องจากมีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ แต่หากคุณยื่นภาษีและดำเนินการถูกต้องเป็นปกติอยู่แล้ว ธุรกรรมลักษณะเฉพาะจะไม่มีบทลงโทษใดๆ อย่างแน่นอน
- หากไม่มั่นใจว่าธุรกิจที่ทำอยู่ตอนนี้ควรปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีความเสี่ยงเรื่องภาษี สามารถติดต่อขอรับบริการจัดภาษีธุรกิจครบวงจรในราคาที่สมเหตสมผลสำหรับกิจการของคุณได้ที่ iTAX sme
อยากจัดการภาษีให้ถูกต้องและไม่มีความเสี่ยง
ให้ iTAX sme ช่วยดูแลการวางแผนภาษีระดับมืออาชีพ
อ้างอิง
- ^
มาตรา 3 สัตตรส ประมวลรัษฎากร
- ^
มาตรา 2 พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับท่ี 48) พ.ศ. 2562
- ^
ข้อ 5 กฎกระทรวง ฉบับที่ 355 (พ.ศ. 2562)
- ^
มาตรา 5 พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับท่ี 48) พ.ศ. 2562)
- ^
ข้อ 4 (1) กฎกระทรวง ฉบับที่ 355 (พ.ศ. 2562)
- ^
ข้อ 4 (2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 355 (พ.ศ. 2562)
- ^
ข้อ 2 กฎกระทรวง ฉบับที่ 355 (พ.ศ. 2562)