Contents

จังกอบ

23,991 views

จังกอบ (หรือ จกอบ) 1 คือ ภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าที่ผ่านด่านภาษี ด่านภาษีเรียกกันมาแต่เดิมว่า “ขนอน” ซึ่งเป็นที่สำหรับคอยดักเก็บจังกอบ ด่านขนอนมักจะตั้งอยู่ปากทางที่จะเข้าเมือง ถ้าเมืองตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ ใช้แม่น้ำลำคลองเป็นที่สัญจรไปมา ด่านขนอนมักตั้งอยู่ตรงทางน้ำร่วมกัน โดยเหตุที่จังกอบจัดเก็บจากสินค้าผ่านด่านนี้เอง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ภาษีผ่านด่าน”

จังกอบบางส่วนจัดเก็บจากสินค้าเข้าและสินค้าออก ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า ภาษีศุลกากร อันประกอบด้วยอากรขาเข้าและอากรขาออก การเก็บจังกอบนั้นอาจจัดเก็บในรูปสิ่งของ (tax in kind) ดังเช่นการเก็บชักส่วนสินค้าผ่านด่านตามพิกัดเก็บ 10 หยิบ 1 หรืออาจะเก็บเป็นตัวเงินตามขนาดของยานพาหนะที่ขนสินค้า เช่น ตามน้ำหนัก ความยาว หรือความกว้างของปากเรือ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จังกอบจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ภาษีปากเรือ”

ความเป็นมา

จังกอบ 2  เป็นภาษีที่เรียกเก็บชักส่วนจากสินค้าที่นำเข้ามาขายภายในประเทศ​หรือนำออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ หรือเก็บเป็นผลประโยชน์ตามขนาดยานพาหนะที่ขนสินค้า โดยเริ่มมีการจัดเก็บตั้งแต่ พ.ศ. 1976 (ค.ศ. 1433) โดยเก็บชักส่วนสินค้าคิดเป็นอัตรา 10 ชัก 1 (อัตรา 10%) ถ้าไม่ถึง 10 ห้ามไม่ให้เก็บ ต่อมามีการแก้ไขอัตราใหม่ คือ นอกจากจะเก็บเป็นสิ่งของ 10% แล้ว ยังได้มีวิธีเก็บภาษีจังกอบตามขนาดยาวของเรือ เก็บวาละ 1 บาท

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีการเปลี่ยนแปลงอัตราเก็บ คือ เรือปากกว้างต่ำกว่า 6 ศอก เก็บลำละ 6 บาท ถ้าเรือปากกว้างกว่า 6 ศอกขึ้นไป เก็บวาละ 20 บาท อัตรานี้มีการแก้ไขอีกครั้งในปลายสมัยอยุธยาโดยกำหนดอัตราภาษีจังกอบใหม่ คือ คิดปากเรือวาละ 12 บาท สมัยรัตนโกสินทร์ยุคแรกๆ อัตราภาษีจังกอบไม่แน่นอน  

ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อไทยทำสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษในปี พ.ศ. 2369 ตกลงให้ไทยเก็บค่าปากเรือคิดเป็นวาละ 1,700 บาท สำหรับเรือที่บรรทุกสินค้าเข้ามาจำหน่าย ถ้าเป็นเรือเปล่าบรรทุกแต่อับเฉพาเข้ามาซื้อสินค้าเก็บวาละ 1,500 บาท เมื่อเก็บค่าปากเรือแล้ว รัฐบาลไทยจะไม่เรียกเก็บภาษีอากรอย่างอื่นอีกจากสินค้าที่บรรทุกเข้ามาและออกไป

การเก็บค่าปากเรือเช่นนี้ได้เลิกไปเมื่อไทยทำสัญญาบาวริ่งในปี พ.ศ. 2398 โดยเปลี่ยนมาเก็บภาษีสินค้าเข้า 3% แทน พิกัดอัตรานี้ฝ่ายไทยได้พยายามขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรวม 11 ครั้ง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2469 เป็นต้นมา จนในปี พ.ศ.​2474 จึงสามารถตรา พ.ร.บ. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2478

ส่วนพิกัดอัตราภาษีขาออกในเวลานั้นเก็บเฉพาะภาษีข้าวขาออกเท่านั้น โดยเก็บในอัตราเกวียนละตำลึง หรือหาบละ 17.4 สตางค์สำหรับข้าวขาว ข้าวกล้องหาบละ 18.4 สตางค์ รำและปลายข้าวกล้องหาบละ 9.4 สตางค์ และข้าวเปลือกหาบละ 12.9 สตางค์ อัตรานี้เป็นอัตราดั้งเดิมและยังคงใช้อยู่ แม้ว่าจะได้ประกาศ พ.ร.บ. พิกัดศุลกากรแล้ว

นอกจากภาษีข้าวขาออกยังมีการเรียกเก็บภาษีสัตว์พาหนะที่บรรทุกออกไปขายต่างประเทศ ซึ่งตราไว้ใน พ.ร.บ. สัตว์พาหนะ ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) ดังรายการดังนี้ โค ล่อ ลา ตัวละ 2 บาท กระบือตัวละ 3 บาท ม้าตัวละ 4 บาท ช้างตัวละ 30 บาท

การจัดเก็บภาษีจังกอบสมัยก่อนมีนายขนอนทำหน้าที่เป็นผู้จัดเก็บในเขตราชธานีนายขนอนขึ้นตรงต่อพระคลังสินค้า ในหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นกับกรมหมาดไทย หัวมือฝ่ายใต้ขึ้นกับกรมพระกลาโหม วิธีการเช่นนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ มีเจ้าภาษีผู้ประมูลรับผูกขาดจากเจ้าจำนวนภาษี (คือพระคลังสินค้า) แล้วตั้งโรงภาษีเก็บภาษีสินค้าที่จะผ่านไปมาแทนนายขนอน ดังนั้น ขนอนแต่เดิมจึงกลายเป็นโรงภาษี

หลังจากทำสัญญาทางไมตรีและการค้ากับนานาประเทศแล้วได้แยกการเก็บภาษี โดยแยกภาษีขาเข้าร้อยละ 3 ขึ้นกรมกลาโหม ภาษีข้าวขาออกขึ้นกรมท่า ส่วนภาษีเบ็ดเสร็จเป็นภาษีผูกขาดขึ้นต่อพระคลังสินค้าในปี พ.ศ. 2433 ได้มีการตราพระราชบัญญัติพระธรรมนูญหน้าที่ราชการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.ศ. 109 ขึ้น พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ภาษีขาเข้าและภาษีเบ็ดเสร็จขึ้นกรมศุลกากร ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงพระคลัง ส่วนภาษีขาออกยังคงขึ้นกับกรมท่า ต่อเมื่อ พ.ศ. 2435 จึงเปลี่ยนมารวมอยู่ในกรมศุลกากร

ในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐบาลเริ่มให้เลิกวิธีการผูกขาดโดยเปลี่ยนมาเป็นรัฐจัดเก็บภาษีอากรเอง ในระยะเริ่มแรกรัฐบาลมอบหน้าที่ให้กรมสรรพากรนอกเก็บภาษีภายในตามส่วนภูมิภาค สถานที่จัดเก็บได้เปลี่ยนไปจากโรงภาษีเป็นด่านภาษี วิธีการจัดเก็บใช้แบบอย่างของกรมศุลกากรกรุงเทพฯ จนกระทั่ง พ.ศ. 2461 กรมศุลกากรได้ตั้งด่านตรวจเป็นภาษีศุลกากรครั้งแรกขึ้นที่ปาดังเบซาร์ ต่อมาที่ทุ่งสงในปี พ.ศ. 2462 นอกจากนี้ ได้โอนด่านตรวจที่จังหวัดตรัง จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง จากรมสรรพากรมาขึ้นกับกรมศุลกากรในปี พ.ศ. 2461 และ ปี พ.ศ. 2462 โอนด่านตรวจในมณฑลปักษ์ใต้ทั้งหมดและเมืองจันทบุรีจากรมสรรพากรมาขึ้นกับกรมศุลกากร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาภาษีขาเข้าและขาออกตกอยู่ในหน้าที่จัดเก็บของกรมศุลกากรแต่ลำพัง

 


อ้างอิง

  1. ^

    รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คลังข้อมูลและบทสำรวจสถานะทางวิชาการ, สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2527), หน้า 3

  2. ^

    รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย คลังข้อมูลและบทสำรวจสถานะทางวิชาการ, สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2527), หน้า 103-106