โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567-2568 หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า “ค่าจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นใหม่” ใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้ ฿10,000 ต่อจำนวนค่าก่อสร้างบ้านใหม่ที่จ่ายจริงทุกหนึ่งล้านบาท แต่รวมแล้วไม่เกิน ฿100,000 (จำกัดค่าก่อสร้างบ้านใหม่ไม่เกินหนึ่งหลัง ค่าก่อสร้างสูงสุดไม่เกิน ฿10,000,000) ทั้งนี้ เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านใหม่ตามสัญญาจ้างที่ได้กระทำขึ้นและเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2568 และได้เสียอากรแสตมป์โดยวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยจะได้สิทธิในปีภาษีที่ก่อสร้างเสร็จ1
ค่าสร้างบ้านใหม่ 2567 – 2568 เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มีใช่นิติบุคคล2
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
ผู้ที่จ่ายเงินค่าก่อสร้างบ้านใหม่ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2568 สามารถนำเงินค่าสร้างบ้านใหม่ไปใช้เป็น ค่าลดหย่อน ได้จำนวน ฿10,000 ต่อค่าก่อสร้างทุกหนึ่งล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมแล้วจะใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน ฿100,000 (คิดจากค่าก่อสร้างบ้านไม่เกิน ฿10 ล้านบาท) โดยจำกัดค่าก่อสร้างบ้านไม่เกินหนึ่งหลัง3
เช่น จ่ายเงินค่าสร้างบ้านใหม่ไป ฿5,900,000 จะนำไปเป็นค่าลดหย่อนได้ ฿50,000 ส่วนเศษค่าสร้างบ้านที่เหลืออีก ฿900,000 นั้นยังไม่ถึงจำนวนหนึ่งล้านบาท จึงยังไม่สามารถนำไปลดหย่อนได้เพราะกฎหมายจำกัดการให้สิทธิลดหย่อนได้จำนวน ฿10,000 ต่อค่าก่อสร้างทุกหนึ่งล้านบาทเท่านั้น
กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร
กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ทุกคนโดยเฉลี่ยตามส่วนของจำนวนผู้มีเงินได้ 4
เช่น บ้านใหม่มีเจ้าของร่วม 3 คน จ่ายเงินค่าสร้างบ้านใหม่ไป ฿6,000,000 สิทธิลดหย่อนที่เกิดขึ้น ฿60,000 นี้ให้เฉลี่ยตามส่วนของจำนวนเจ้าของทั้งสามคน ทำให้ได้สิทธิลดหย่อนคนละ ฿20,000 (ค่าลดหย่อน ฿60,000 ÷ 3 คน)
กรณีสามีภริยาร่วมกันทำสัญญาจ้างโดยมีเงินได้ฝ่ายเดียว
กรณีสามีภริยาร่วมกันทำสัญญาจ้างโดยสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้สามีหรือภริยาที่มีเงินได้ได้สิทธิลดหย่อนเต็มจำนวน ฿10,000 ต่อทุกจำนวนหนึ่งล้านบาทตามจำนวนเงินค่าก่อสร้างที่จ่ายจริง แต่รวมแล้วใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน ฿100,000 5
กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และต่างฝ่ายต่างใช้สิทธิสร้างบ้านใหม่ของตัวเอง
สามีภริยาแยกยื่นภาษี
กรณีต่างฝ่ายต่างยื่นภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างได้สิทธิลดหย่อนเป็นจำนวน ฿10,000 ต่อทุกจำนวนหนึ่งล้านบาท ตามจำนวนแต่ละฝ่ายที่จ่ายค่าสร้างบ้านของตนไปจริง แต่รวมแล้วใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน ฿100,000 6
สามีภริยายื่นภาษีรวมกัน
กรณีสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน ให้ผู้มีเงินได้ได้สิทธิลดหย่อนเป็นจำนวน ฿10,000 บาท ต่อทุกจำนวนหนึ่งล้านบาท ตามจำนวนค่าสร้างบ้านที่ตนจ่ายจริงแต่รวมแล้วใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน ฿100,000 และยังได้สิทธิลดหย่อนส่วนของสามีหรือภริยาได้เป็นจำนวนอีก ฿10,000 บาท ต่อทุกจำนวนหนึ่งล้านบาท ตามจำนวนค่าสร้างบ้านที่สามีหรือภริยาจ่ายจริง แต่รวมแล้วใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน ฿100,000 7
เงื่อนไขการรับสิทธิ
คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนค่าสร้างบ้านใหม่ ได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้
- ผู้รับเหมาก่อสร้างหรือผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)8
- ต้องไม่ใช่การซื้อบ้านจากโครงการบ้านใหม่ (ผู้รับจ้างจะต้องไม่เป็นผู้ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ) และต้องไม่ใช้วิธีแยกทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยออกจากกัน9
- การก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นใหม่นี้ ไม่รวมถึงกรณีการเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด ขยาย ซ่อมแซม หรือรื้อถอนอาคาร10
ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้จะได้รับสิทธิลดหย่อนค่าสร้างบ้านใหม่ในปีภาษีที่ก่อสร้างอาคารเสร็จ (ไม่ใช่ปีที่ได้รับใบกำกับภาษีหรือปีที่จ่ายค่าก่อสร้าง) โดยให้พิจารณาจากวันสิ้นสุดของการก่อสร้างในสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร หรือใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง11
บทลงโทษกรณีทำผิดเงื่อนไข
ผู้มีเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนค่าสร้างบ้านใหม่แล้ว ต่อมาทำผิดเงื่อนไข ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมสำหรับปีภาษีที่ได้นำค่าจ้างก่อสร้างบ้านใหม่ไปลดหย่อนภาษีพร้อมชำระเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย)
หลักฐานที่ต้องใช้
- ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ที่ระบุค่าจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัย12
- สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัย13 ที่ได้เสียอากรแสตมป์โดยวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแล้ว14 และ
- ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร หรือใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคาร15
เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย
- หลายคนเข้าใจผิดว่า สิทธิ์ลดหย่อนค่าสร้างบ้านใหม่ สามารถขอรับเป็นเงินสดคืนได้ที่ผู้รับเหมาได้เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการขอใช้สิทธิลดหย่อนค่าสร้างบ้านใหม่จะต้องทำโดยการ ยื่นภาษีประจำปี ให้ กรมสรรพากรในช่วงต้นปีได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น
- หลายคนเข้าใจผิดว่า สิทธิ์ลดหย่อนค่าสร้างบ้านใหม่ คือ เงินคืนภาษีจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม7% (VAT 7% Refund) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิทธิ์ลดหย่อนค่าสร้างบ้านใหม่นี้เป็นสิทธิที่นำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- หลายคนเข้าใจผิดว่า สิทธิ์ลดหย่อนค่าสร้างบ้านใหม่ ฿10,000 – ฿100,000 คือ เงินคืนภาษีจากรัฐ ฿10,000 ถึง ฿100,000 เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวน เงินได้ และ อัตราภาษี ของแต่ละคนด้วย
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี | สิทธิได้เงินคืนภาษีสูงสุด |
---|---|---|
≤฿150,000 | ยกเว้น | ฿0 |
>฿150,000 – ฿300,000 | 5% | ฿500 – ฿5,000 |
>฿300,000 – ฿500,000 | 10% | ฿1,000 – ฿10,000 |
>฿500,000 – ฿750,000 | 15% | ฿1,500 – ฿15,000 |
>฿750,000 – ฿1,000,000 | 20% | ฿2,000 – ฿20,000 |
>฿1,000,000 – ฿2,000,000 | 25% | ฿2,500 – ฿25,000 |
>฿2,000,000 – ฿5,000,000 | 30% | ฿3,000 – ฿30,000 |
>฿5,000,000 | 35% | ฿3,500 – ฿35,000 |
คุณสามารถค้นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ iTAX shop
แอป iTAX คำนวณภาษีและวางแผนภาษี
ตัวช่วยคำนวณภาษีเพื่อเงินคืนภาษีสูงสุด โหลดฟรี!
อ้างอิง
- ^
ข้อ 1 กฎกระทรวง ฉบับที่ 393 (พ.ศ. 2567)
- ^
ข้อ 2 กฎกระทรวง ฉบับที่ 393 (พ.ศ. 2567)
- ^
ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)
- ^
ข้อ 2 (1) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)
- ^
ข้อ 2 (2) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)
- ^
ข้อ 2 (3) (ก) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)
- ^
ข้อ 2 (3) (ข) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)
- ^
ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)
- ^
ข้อ 1 (1) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)
- ^
ข้อ 1 (2) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)
- ^
ข้อ 4 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)
- ^
ข้อ 3 (1) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)
- ^
ข้อ 3 (2) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)
- ^
ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)
- ^
ข้อ 3 (3) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 445)