โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
ภาษีกับเศรษฐศาสตร์
ภาษี เป็นเครื่องมือสำหรับจัดเก็บรายได้ของประเทศและใช้เป็นเครื่องมือสำหรับจัดการระบบเศรษฐกิจด้วย ภาษีจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนนโยบายการคลังของภาครัฐ รวมถึงมีอิทธิพลต่อการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม เพราะเมื่อกิจกรรมใดที่มีนโยบายภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง ปริมาณของกิจกรรมนั้นๆ ก็จะแปรผันขึ้นลงตามนโยบายภาษีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์
ดังนั้น รัฐจึงมักใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการลดกิจกรรมที่รัฐไม่พึงประสงค์ เช่น ถ้ารัฐไม่ชอบให้คนสูบบุหรี่ รัฐก็สามารถเพิ่มภาระภาษีสรรพสามิตสําาหรับบุหรี่ให้มีราคาสูงขึ้นเพื่อให้ผู้สูบบุหรี่รู้สึกว่าการสูบบุหรี่มีภาระที่สูงขึ้นจนรู้สึกไม่อยากสูบ
ในทางกลับกัน หากรัฐต้องการสนับสนุนกิจกรรมใด รัฐก็สามารถใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นกิจกรรมนั้นก็ได้ เช่น ถ้ารัฐอยากให้ประชาชนมีรถยนต์ Eco-car เป็นของตัวเอง รัฐก็สามารถให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสําหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ Eco-car เพื่อจูงใจให้ประชาชนซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นก็ได้
เมื่อพฤติกรรมของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายภาษีแล้ว จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการหรือไม่ จะเกิดผลกระทบอื่นตามมาแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป แต่ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์เองก็มีการกล่าวอ้างถึง ทฤษฎี Laffer Curve เพื่อกำหนดนโยบายภาษีและอัตราภาษีที่เหมาะสม
ภาษีกับบัญชี
นอกจากนี้ กฎหมายภาษีก็จะออกมาปรับใช้ในรูปของการบัญชีในที่สุด กล่าวคือ บัญชีจะต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กฎหมายภาษีกำหนดด้วย เช่น การกำหนดว่ารายได้ประเภทนี้ได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ หักค่าใช้จ่ายได้แค่ไหนอย่างไร เป็นต้น