Contents

กิจการร่วมค้า (Joint Venture)

39,139 views

โดย ผศ. ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

กิจการร่วมค้า (Joint Venture) เป็นผู้เสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประเภทหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและโดยสภาพเองก็ไม่ได้เป็นนิติบุคคลด้วยก็ตาม1 หากกิจการร่วมค้านั้นมีรายได้ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย

การตั้งกิจการร่วมค้า

โดยปกติ กิจการร่วมค้าจะเกิดจากการรวมเพื่อการค้าหรือหากำไรของกิจการตั้งแต่ 2 กิจการขึ้นไป โดยการรวมตัวดังกล่าวอาจเป็นการตั้งกิจการทางการค้าร่วมกันระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคลด้วยกัน หรือแม้แต่ระหว่างบริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดาก็ได้ ซึ่งสรุปรูปแบบได้เป็น 7 รูปแบบ ได้แก่

  • บริษัท + บริษัท
  • บริษัท + หุ้นส่วนนิติบุคคล
  • หุ้นส่วนนิติบุคคล + หุ้นส่วนนิติบุคคล
  • บริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล + นิติบุคคลรูปแบบอื่น
  • บริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล + บุคคลธรรมดา
  • บริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล + ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน
  • บริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล + คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

อย่างไรก็ดี กิจการร่วมค้าลักษณะนี้จะต้องขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีภายใน 60 วันนับแต่วันที่ทำสัญญากิจการร่วมค้า2

ข้อได้เปรียบเชิงภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการร่วมค้า เมื่อเทียบกับการร่วมลงทุนโดยการตั้งเป็นบริษัทใหม่

  • โดยปกติ ส่วนใหญ่กิจการร่วมค้าที่ทำโครงการขนาดใหญ่มักไม่จดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่กัน เพราะเริ่มง่าย เลิกง่าย ไม่เสียเวลาจดทะเบียน ไม่มีค่าธรรมเนียม และเหตุผลสำคัญคือประหยัดภาษีกว่า เนื่องจากไม่มีภาระต้องตั้งสำรอง 5% ทุกครั้งที่จะมีการจ่ายเงินปันผลจนกว่าจะมีเงินสำรอง 10%3 เพราะไม่ใช่บริษัทจำกัด ซึ่งจะทำให้บริษัทผู้เข้าร่วมจะได้รับเงินปันผลมากกว่าแบบจดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่
  • การไม่จดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่ แต่ใช้รูปแบบกิจการร่วมค้ายังช่วยให้บริษัทต่างประเทศได้รับยกเว้นภาษีจากเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรที่จ่ายจากกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในไทยทั้งจำนวนไม่ว่าผู้รับจะเป็นบริษัทไทยหรือต่างประเทศหรือแม้แต่ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็ได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย4 ซึ่งต่างจากการใช้สิทธิคำนวณภาษีจากการรับเงินปันผลตามมาตรา 65 ทวิ (10) ตามประมวลรัษฎากร ที่อาจไม่ได้รับยกเว้นเสียภาษีทั้งจำนวน
  • ในทางกลับกัน หากไม่เลือกใช้รูปแบบกิจการร่วมค้า แต่ใช้วิธีตั้งเป็นบริษัทใหม่ที่ร่วมทุนกัน เวลาจ่ายเงินกลับมาให้นิติบุคคลที่เป็นบริษัทไทย ไม่ว่าจะจ่ายเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมค้า หากถือหุ้นครบ 3 เดือนก่อนวันปิดสมุดจ่ายเงินปันผลและถือต่อครบ 3 เดือนหลังวันปิดสมุดฯ จะได้รับยกเว้นภาษีจากเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรนั้น โดยถ้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่มีหุ้นในบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลอย่างน้อย 25% ก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินปันผลทั้งหมด แต่ถ้าไม่ใช่ จะได้รับยกเว้นครึ่งเดียว5 ซึ่งด้วยเงื่อนไขนี้จะทำให้บริษัทผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทต่างชาติถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% เพราะไม่ใช่บริษัทไทย6 ซึ่งเสียเปรียบกว่าวิธีไม่ตั้งบริษัทไทย
  • อย่างไรก็ดี การเป็นกิจการร่วมค้าจะต้องมีการร่วมทุนกันหรือระบุในสัญญากับบุคคลภายนอกว่าตัวเองเป็นกิจการร่วมค้าหรือไม่แบ่งแยกค่าตอบแทนเอาไว้อย่างชัดเจน มิเช่นนั้นจะกลายเป็นสัญญาร่วมงาน (Consortium Agreement) ซึ่งจะไม่นับเป็นกิจการร่วมค้า กล่าวคือถือว่าต่างคนต่างทำงาน ต่างรับค่าตอบแทนกัน ดังนั้น รายได้ที่เกิดขึ้นจะต้องแยกฝ่ายต่างแยกยื่นในนามของตัวเองเพราะเวลารับเงินต้องแยกจ่าย เวลากำไรหรือขาดทุนก็ไม่เกี่ยวข้องกัน

อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 39 ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    มาตรา 3 เอกาทศ ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2(2) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร

  3. ^

    มาตรา 1201 และ 1202 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

  4. ^

    มาตรา 5 ทวิ พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

  5. ^

    มาตรา 65 ทวิ (10) ประมวลรัษฎากร

  6. ^

    มาตรา 70 ประมวลรัษฎากร