iTAX pedia

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (ยกเลิกแล้ว)

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของ “เงินได้ที่ต้องเสียภาษี”1 (ไม่ว่าจะเอามารวมยื่นภาษีด้วยหรือไม่) และไม่เกิน ฿500,000 สำหรับคนที่ซื้อกองทุน LTF ซึ่งสิทธิลดหย่อนสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2562 โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องถือครบ 7 ปีปฏิทิน โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2559 – 31 ธ.ค. 25622

โดยภายหลัง LTF หมดอายุแล้ว คณะรัฐมนตรีจะนำ กองทุน SSF มาแทนที่โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป (รอประกาศเป็นกฎหมาย)3 กำไรจากการขายกองทุน LTF จะได้รับยกเว้นภาษีด้วย4 แต่เงินปันผลจากกองทุน LTF ยังคงเสียภาษีตามปกติในฐานะ เงินได้ประเภทที่ 8 ทั้งเงินค่าซื้อกองทุน LTF และกำไรจากการขายกองทุน LTF เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ค่าลดหย่อน

คนที่ซื้อกองทุน LTF สามารถนำเงินนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดเพดานให้หักลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปี แต่ไม่เกิน ฿500,000 (ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่าก็ให้หักลดหย่อนตามนั้น)

เช่น

เงินได้ที่ต้องเสียภาษีนี้ กรมสรรพากร เปิดโอกาสให้รวมทั้งที่ยื่นเสียภาษีตามปกติและเลือกไม่ยื่นภาษีด้วย เช่น มีรายได้จากเงินเดือน ฿1,000,000 และเงินได้จากดอกเบี้ย ฿1,000,000 (ที่ปล่อยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว)

กรณีนี้

เงินได้ที่ต้องเสียภาษีคือ ฿2,000,000 (เงินเดือนที่ต้องยื่นภาษีตามปกติ ฿1,000,000 + ดอกเบี้ยที่เลือกไม่ยื่นภาษีก็ได้ ฿1,000,000) ซึ่งจะใช้ ฿2,000,000 เป็นฐานสำหรับคำนวณเพดานสิทธิประโยชน์ LTF ต่อไป5

กำไรได้รับยกเว้นภาษี

กำไรจากการขายกองทุน LTF ที่ถือจนครบ 7 ปีปฏิทินจะได้รับยกเว้นภาษี แต่เงินปันผลที่จ่ายจากกองทุน LTF ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเพราะเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 อนึ่ง ถ้าทำผิดเงื่อนไข เช่น ขายก่อนจะถือครบ 7 ปีปฏิทิน กำไรจากการขายกองทุน LTF จะต้องเอาไปเสียภาษีด้วยในฐานะเงินได้ประเภทที่ 8

เงื่อนไขการได้รับสิทธิ

การซื้อกองทุน LTF เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี คุณจะต้องถือหน่วยลงทุนไว้โดยไม่ขายจนกว่าจะครบ 7 ปีปฏิทิน (หรืออย่างน้อย 5 ปี กับ 2 วันแต่ต้องคาบเกี่ยวให้ได้ 7 ปีปฏิทิน) หรือจนกว่าตัวเองเสียชีวิตหรือทุพพลภาพก่อน โดยจะซื้อขั้นต่ำกี่บาทก็ได้

ถ้าเพิ่งซื้อ LTF เป็นปีแรกแล้วซื้อเกินสิทธิ ส่วนที่เกินสิทธิจะไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ และแม้จะถือจนครบ 7 ปีปฏิทิน กำไรส่วนที่เกินสิทธินั้นก็จะต้องนำมาเสียภาษีอยู่ดี คุณควรหารายได้เพิ่มเพื่อเพิ่มเพดานสิทธิหรือรีบขายส่วนที่เกินทิ้งภายในปีนั้นโดยเสียภาษีจากกำไรให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้มีปัญหาในภายหลังในปีภาษีอื่นๆ

ถ้าเคยซื้อ LTF มาตั้งแต่ปีก่อนๆ แล้วปีนี้เผลอซื้อเกินสิทธิ ส่วนที่เกินสิทธิจะไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ และแม้จะถือจนครบ 7 ปีปฏิทิน กำไรส่วนที่เกินสิทธินั้นก็จะต้องนำมาเสียภาษีอยู่ดี และหากตัดสินใจขาย LTF ตอนนี้เลย กฎหมายจะใช้หลักเข้าก่อน-ออกก่อน (FIFO) กล่าวคือ ต้องคำนวณกำไรโดยใช้ต้นทุนของ LTF ที่ซื้อมาครั้งแรกเป็นฐานในการคำนวณ

หากตัดสินใจขาย LTF ก่อนจะครบกำหนด กฎหมายจะใช้หลักเข้าก่อน-ออกก่อน (FIFO) กล่าวคือ ต้องคำนวณกำไรโดยใช้ต้นทุนของ LTF ที่ซื้อมาครั้งแรกเป็นฐานในการคำนวณ และต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับจากสิทธิลดหย่อนภาษีปีที่ใช้สิทธิด้วย

เช่น ถ้าปีที่ซื้อ LTF ทำให้เสียภาษีถูกลง ฿10,000 ดังนั้น ในปีที่ขาย LTF ผิดเงื่อนไข คุณจะต้องคืนภาษี ฿10,000 นั้นพร้อมเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) ในอัตรา 1.5% ต่อเดือนโดยคำนวณย้อนกลับไปตั้งแต่วันพ้นกำหนดยื่นภาษีในปีที่ยื่นภาษีเพื่อใช้สิทธิลดหย่อน LTF กองนี้เลย

สำหรับการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF เพื่อลดหย่อนภาษีนั้น คุณจำเป็นที่จะต้องศึกษาเงื่อนไขการซื้อกองทุน เงื่อนไขที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ และอย่าลืมศึกษาผลตอบแทนและความเสี่ยงของกองทุนประกอบด้วย #เพราะการลงทุนไม่ใช่เรื่องตลก และหากคุณไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อกองทุน LTF กองไหนดี? iTAX shop ช่วยคุณได้ ไม่ว่าคุณจะอยากได้กองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดหรือต้องการคำปรึกษาจากนักลงทุนมืออาชีพ เราก็มีบริการครบ!!

เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง

  1. ^

    ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 257) พ.ศ. 2558

  2. ^

    กฎกระทรวงฉบับที่ 317 (พ.ศ. 2559) และ ข้อ 2(66) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  3. ^

    ไฟเขียวกองทุน SSF แทน LTF เพิ่มลดหย่อน RMF เป็น 30% www.thansettakij.com

  4. ^

    ข้อ 2(67) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

  5. ^

    คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF), 11 ม.ค. 2559