โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-tax invoice) เป็นใบกำกับภาษีรูปแบบหนึ่งที่อยู่ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงจำนวน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คำนวณได้จากมูลค่าสินค้าหรือบริการ โดยไม่ต้องออกในรูปแบบกระดาษ โดยปัจจุบันประเทศไทยมี 2 ระบบ ได้แก่ ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt1 และระบบ e-Tax Invoice by email2
ทั้งนี้ การออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันยังเป็นภาคสมัครใจ แต่ต้องขออนุญาตอธิบดีกรมสรรพากรก่อนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิออกเป็นแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ทรอนิกส์ได้ หากออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เองโดยไม่ได้ขออนุญาตก่อน จะไม่นับเป็นใบกำกับภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย
องค์ประกอบของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
โดยปกติ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องประกอบด้วยรายการต่างๆ ครบถ้วนเหมือนใบกำกับภาษีแบบกระดาษ ได้แก่3
- คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
- ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี (และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้า/บริการให้ชัดแจ้ง
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
อย่างไรก็ตาม ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะต้องอยู่ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น PDF เป็นต้น
1. ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt
ลักษณะของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ที่ถูกต้อง
โดยปกติ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะต้องประกอบด้วยรายการต่างๆ ครบถ้วนเหมือนใบกำกับภาษีแบบกระดาษ
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่ได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt สามารถตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นได้ดังนี้
- ผู้ซื้ออาจได้รับไฟล์จากช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ใดก็ได้ เช่น ช่องทางอีเมล หรือแอปที่ผู้ประกอบการกำหนด
- ไฟล์ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบ PDF
- คุณสามารถตรวจสอบความถูกต้องของไฟล์ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับจากผู้ขายได้ที่เว็บไซต์ สพธอ. https://validation.teda.th/webportal/v2/#/validate โดยอัพโหลดไฟล์ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับเพื่อตรวจสอบ
คุณสมบัติของผู้ประกอบการมีสิทธิ์สมัครใช้งานระบบ e-Tax invoice & e-Receipt
- เป็นผู้ประกอบการจด VAT แล้ว (บุคคลธรรมดา หรือบริษัทก็ได้) หรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับ รวมถึงหน่วยงานของรัฐ
- ไม่จำกัดยอดขายต่อปี
- มีระบบควบคุมภายในที่ดี โดยมีวิธีการสร้าง ส่ง และเก็บรักษาข้อมูลที่เชื่อถือได้
- ไม่ได้ใช้ระบบ E-Tax invoice by Email
- มีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) ตามมาตรฐานที่ สพธอ. กำหนด
วิธีการยื่นคำขอใช้ระบบ e-Tax invoice & e-Receipt
- ดาวน์โหลดโปรแกรม Ultimate Sign & Viewer ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร (etax.rd.go.th) และติดตั้งไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งาน
- เชื่อมต่ออุปกรณ์ Token USB หรือเครื่อง HSM ที่จัดเก็บใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์
- ลงทะเบียนโดยระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ระบบจะแสดงชื่อสถานประกอบการและที่ตั้งสำนักงานให้ตรวจสอบข้อมูลระบุอีเมลที่ใช้ในการติดต่อกรมสรรพากร เมื่อบันทึกครบถ้วนแล้วให้ยืนยันข้อมูลโดยการลงลายมือชื่อดิจิทัล
- ตรวจสอบอีเมลเพื่อทำการยืนยันการลงทะเบียน และกำหนดรหัสผ่าน (Password) ด้วยตนเอง ระบบจะแจ้งสิทธิ์การใช้งานผ่านทางอีเมลที่แจ้งไว้
- กรมสรรพากรอนุมัติให้มีบัญชีผู้ใช้งานประเภทผู้ประกอบการ (Corporate)
2. ระบบ e-Tax Invoice by Email
ระบบ e-Tax Invoice by Email จะรองรับเฉพาะการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ทางอีเมลสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กเท่านั้น โดยระบบนี้ไม่สามารถรองรับการออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้
ลักษณะของใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice by Email ที่ถูกต้อง
โดยปกติ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะต้องประกอบด้วยรายการต่างๆ ครบถ้วนเหมือนใบกำกับภาษีแบบกระดาษ
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่ได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จากระบบ e-Tax Invoice by Email สามารถตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นได้ดังนี้
- ต้องได้รับจากช่องทางอีเมลเท่านั้น
- อีเมลดังกล่าวต้องส่งจาก csemail@etax.teda.th
- ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จากระบบ e-Tax Invoice by Email ที่ถูกต้อง จะต้องใช้ชื่ออีเมลว่า <ประทับรับรองทางเวลาเรียบร้อย>[วันที่ออกใบกำกับภาษีเป็นวันเดือนปีพ.ศ.][INV][เลขที่ใบกำกับภาษี] เช่น
- ชื่ออีเมล <ประทับรับรองทางเวลาเรียบร้อย>[02012566][INV][056-2666] หมายความว่าคุณได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เลขที่ 056-2566 ลงวันที่ 02 มกราคม 2566 เป็นต้น
- ในอีเมลที่คุณได้รับจะต้องมีไฟล์ใบกำกับภาษีที่ข้อความครบถ้วนถูกต้องและได้รับการประทับรับรองเวลาทางอีเมล (time stamp) แล้ว
- ตรวจสอบว่าไฟล์ใบกำกับภาษีที่แนบมากับอีเมลดังกล่าวได้รับการประทับรับรองเวลาถูกต้องแล้ว ได้ที่เว็บไซต์ https://validation.etax.teda.th
คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์สมัครใช้งานระบบ e-Tax invoice by Email
- เป็นผู้ประกอบการจด VAT แล้ว (บุคคลธรรมดา หรือบริษัทก็ได้)
- ยอดขายไม่เกิน 30 ล้านบาท ต่อปี ตั้งแต่ในปีภาษี 2558 หรือรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 1 ม.ค. 2558
- ลงทะเบียนกับเว็บกรมสรรพากรแล้ว (คำร้อง ก.อ.01)
- ไม่ได้ใช้ระบบ e-Tax invoice & e-Receipt
- ไม่มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ไม่มีประวัติการออกหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
- ตัวเองมีอีเมล
- ลูกค้ามีอีเมล
วิธีการยื่นคำขอใช้ระบบ e-Tax Invoice by Email
- เข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/27659.html
- กรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและตรวจสอบข้อมูล
- แจ้งอีเมลที่ใช้ในการติดต่อกับกรมสรรพากร
- ยืนยันอีเมลที่ลงทะเบียนมาภายใน 7 วันทำการ หรือยื่นคำขอใหม่ถ้าต้องการแก้ไขข้อมูล
- พิมพ์เอกสาร กอ.01 และลงลายมือชื่อให้เรียบร้อย
- แสกนใบ กอ.01 ที่เซ็นแล้วพร้อมหลักฐานประกอบการสมัคร เพื่อนำไปอัพโหลดเข้าเว็บไซต์กรมสรรพากร
- รอเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบความถูกต้อง
- เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว กรมสรรพากรจะจัดส่งเอกสารยืนยันทางไปรษณีย์พร้อมรหัสยืนยัน (Activate Code)
- นำรหัสยืนยัน (Activate Code) ที่ได้รับทางไปรษณีย์ไปยืนยันตัวตนทางเว็บไซต์กรมสรรพากรและกำหนดรหัสผ่านใหม่ภายใน 15 วันทำการ
- แจ้งอีเมลที่ประสงค์จะใช้สำหรับสร้างและส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
เอกสารประกอบการยื่นคำขอ
- คำขอ ก.อ.01 (ทำได้บนเว็บไซต์แล้ว print ออกมาได้เลย)
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือน นับถึงวันส่งเอกสาร
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจลงนาม ที่ลงลายมือชื่อในแบบ ก.อ.01
ทั้งนี้ วิธีส่งเอกสารใช้วิธี upload และดำเนินการผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรได้ทั้งหมด
อ้างอิง
- ^
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 15) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์
- ^
ระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Tax Invoice by Email พ.ศ. 2560
- ^
มาตรา 86/4 ประมวลรัษฎากร