Contents

เงินได้ประเภทที่ 2

335,255 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

เงินได้ประเภทที่ 2 คือ เงินได้พึงประเมิน ในรูปของ เงินค่าจ้างทั่วไป ค่าคอมมิชชั่น หรือค่าตอบแทนที่คุณไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้านายลูกน้อง ที่ทำให้ผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในวงการภาษีบางครั้งก็เรียกว่า เงินได้ 40(2)1

อย่างไรก็ดี ถ้าคุณมีคู่สมรสที่จะแยกยื่นภาษีเองอยู่แล้ว คุณสามารถเลือกให้คู่สมรสนำเงินได้ประเภทนี้ของคุณไปยื่นเป็นรายได้ของเขาแทนก็ได้2

การหักค่าใช้จ่าย

เงินได้ประเภทที่ 2 จะหัก ค่าใช้จ่าย ได้วิธีเดียว คือ หักแบบเหมา 50% แต่สูงสุดไม่เกิน ฿100,0003

แต่ถ้ามีทั้งเงินได้ประเภทที่ 2 และ เงินได้ประเภทที่ 1 (เช่น เงินเดือนจากงานประจำ) ด้วย จะหักค่าใช้จ่ายได้แบบเหมาได้เพียงวิธีเดียว โดยหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน แต่จะหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดไม่เกิน ฿100,0004

(เงินได้ประเภทที่ 1 + เงินได้ประเภทที่ 2) x 50% = ค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน ฿100,000

ดังนั้น วิธีคิดง่ายๆ คือ ทันทีที่เรามีเงินได้ประเภทที่ 1 และ เงินได้ประเภทที่ 2 รวมกันเกิน ฿200,000 คุณจะหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดแค่ ฿100,000 เท่านั้น

ตัวอย่าง

ถ้าคุณมีเงินได้จากค่านายหน้าตลอดท้ังปี ฿360,000 เมื่อกฎหมายอนุญาตให้คุณหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% ได้เพียงทางเดียวเท่าน้ัน คุณจึงน่าจะหักค่าใช้จ่ายสำหรับค่านายหน้าของคุณได้

฿360,000 x 50% = ฿180,00

แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดเพดานให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับค่านายหน้าได้สูงสุดเพียง ฿100,000 ดังน้ัน เราจึงหักค่าใช้จ่ายสำหรับค่านายหน้าได้

-฿180,000- ฿100,000 เท่าน้ัน

อะไรเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ได้บ้าง?

โดยทั่วไป เงินได้ประเภทที่ 2 จะครอบคลุมถึงรายได้ในรูปค่าตอบแทนการรับจ้างทั่วไปที่คุณไม่มีความสัมพันธ์เป็นเจ้านายลูกน้อง และไม่เข้าข่าย การประกอบวิชาชีพอิสระ เช่น

  • ค่านายหน้า ค่าคอมมิชชั่น หรือค่าตอบแทนของเซลส์แมน, ตัวแทนประกันชีวิต, นักธุรกิจขายตรง, นักธุรกิจเครือข่าย และอาชีพอื่นที่คุณไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือลูกน้อง
  • ค่าตอบแทนของพริตตี้, พิธีกร, Model, MC, PG, PC ตามงานโชว์ตัวหรืองาน Event ต่างๆ
  • รับงานรีวิวสินค้า หรือ Advertorial หรือ Sponsored post ในโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook, Instagram, Twitter, Youtube
  • ค่าปรึกษาของผู้ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพแพทย์/พยาบาล, ที่ปรึกษากฎหมาย, วิศวกร, สถาปนิก, นักบัญชี หรือนักประณีตศิลปกรรม
  • ผู้ว่าจ้างหาที่อยู่ให้โดยไม่คิดค่าเช่า หรือออกเงินค่าเช่าบ้านให้ (ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างของคุณไม่ใช่หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งเบื้องต้นจะคิดเป็นมูลค่า 20% ของค่าจ้างตลอดทั้งปี5
  • ผู้ว่าจ้างเคลียร์ภาระหนี้สินให้คุณ
  • เบี้ยประชุม ค่าสอน ค่าสอบที่หน่วยงานเอกชนจ่ายให้คุณ
  • ค่าปรึกษาของผู้ประกอบวิชาชีพอิสระที่ไม่ได้คิดตามความยากง่ายและปริมาณงาน เช่น ค่าวิชาชีพทางการแพทย์/พยาบาลอื่นๆที่เหมาจ่ายเป็นรายเดือน หรือไม่เข้าข่ายการประกอบวิชาชีพอิสระ (เงินได้ประเภทที่ 6)
  • ค่าจ้างการสร้างผลงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา และสุดท้ายผู้ว่าจ้างจะเป็นเจ้าของสิทธิ์ขาดในงานนั้น เช่น รับจ้างเขียนคอลัมน์, แต่งเพลง, เขียน website, software ฯลฯ
  • ค่าตอบแทนของผู้ประกาศข่าว โฆษก พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการในสถานบันเทิง ผู้บรรยายหรือนักพากย์ ผู้จัดการส่วนตัวของนักแสดงสาธารณะ ผู้กำกับการแสดง ผู้จัดการทีมกีฬา ผู้ฝึกสอนนักกีฬาหรือบุคคลที่ทำหน้าที่ทำนองเดียวกัน
  • เงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับจากผู้ว่าจ้างและเกี่ยวข้องกับการรับจ้างทั่วไป

ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไร มีรายได้มาจากช่องทางไหนบ้าง คุณจะต้องให้ความสำคัญกับการคำนวณและวางแผนภาษีด้วย และหากคุณไม่รู้ว่าจะต้อง คำนวณภาษี หรือ วางแผนภาษีจากตรงไหน คุณสามารถใช้บริการ iTAX application เพื่อคำนวณภาษีและวางแผนภาษีได้แม้ไม่มีความรู้เรื่องภาษีเลยก็ตาม นอกจากนี้ คุณยังสามารถ ค้นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี ได้อีกด้วย อยากรู้ว่ารายได้แบบเรา ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ คลิกเลย!!


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 40(2) ประมวลรัษฎากร

  2. ^

    ข้อ 2.2 หน้า 2-3 คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสามีและภริยา (ฉบับที่ 2),www.rd.go.th

  3. ^

    มาตรา 42 ทวิ ประมวลรัษฎากร

  4. ^

    มาตรา 42 ทวิ ประมวลรัษฎากร

  5. ^

    คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 23/2533