โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
สำหรับผู้ที่มีรายได้จาก เงินปันผลหุ้น เครดิตภาษีเงินปันผล เป็นอีกสิทธิประโยชน์นึงที่มักถูกมองข้ามอยู่เสมอ เพราะเรามักจะปล่อยให้ถูก หักภาษี ณ ที่จ่าย ไปโดยไม่สนใจจะนำไป ยื่นภาษี เนื่องจากคิดว่าคำนวณยุ่งยาก แต่คุณรู้หรือไม่ว่าเครดิตภาษีเงินปันผลได้ช่วยให้ผู้เสียภาษีอย่างเราได้เงินคืนภาษีเพิ่มได้ราวกับมายากล
วิธีคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล
เครดิตภาษีเงินปันผลมีสูตรการคำนวณ ดังนี้1
เครดิตภาษีเงินปันผล = (มูลค่าปันผล × อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล) ÷ (100 − อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล)
ส่วนประเด็นว่าเงินปันผลที่ได้รับนั้นจ่ายจากอัตราภาษีเท่าไหร่ ถ้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมี บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) ทำหนังสือแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลมาให้อย่างละเอียด
ตัวอย่างการคำนวณ
ดังนั้น ถ้าบริษัท iTAX จำกัด (มหาชน) เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% และจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งมูลค่า ฿100,000 จะคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผลได้ดังนี้
เครดิตภาษีเงินปันผล = (มูลค่าปันผล × อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล) ÷ (100 − อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล)
เครดิตภาษีเงินปันผล = (฿100,000 × 20) ÷ (100 − 20)
เครดิตภาษีเงินปันผล = ฿2,000,000 ÷ 80 = 25,000
แปลว่า เงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับมา ฿100,000 มีเครดิตภาษีเงินปันผลอยู่ ฿25,000
ทางเลือกของนักลงทุน
สมมติว่า ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาคุณมีรายได้จากเงินปันผลหุ้นแต่เพียงอย่างเดียวเป็นเงิน ฿100,000 บาท (จ่ายจากอัตราภาษี 20%) คุณจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ฿10,000 คุณจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ได้แก่:
1. ถ้าคุณปล่อยให้เงินปันผล ฿100,000 นั้นเลยตามเลยโดยไม่ยื่นภาษี แม้คุณจะมีสิทธิทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่นั่นหมายความว่า คุณยอมเสียภาษีถึง ฿10,000 สำหรับรายได้ก้อนนี้
2. แต่เดี๋ยวก่อน! ถ้าคุณเลือกนำเงินปันผล ฿100,000 นั้นมายื่นภาษี แล้วใช้สิทธิหักเครดิตภาษีเงินปันผล ภายในกำหนดยื่นภาษี นอกจากคุณจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีจึงทำให้มีสิทธิ์ได้ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ฿10,000 คืนแล้ว คุณยังมีสิทธิ์ได้เครดิตภาษีอีก ฿25,000 ทำให้คุณได้เงินคืนภาษีรวมเป็นเงินถึง ฿35,000 เลยทีเดียว! (ได้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืน ฿10,000 + เครดิตภาษีเงินปันผล ฿25,000) จะเห็นได้ว่า กรณีนี้การใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผลประหยัดภาษีเยอะกว่าเห็นๆ
เงินปันผลที่ได้รับ ฿100,000 | ทางเลือกแรก ปล่อยให้ถูกหักภาษี เสียภาษี ฿10,000 |
ทางเลือกสอง ใช้เครดิตภาษีเงินปันผล ได้เงินคืนภาษี ฿35,000 (ได้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายคืน ฿10,000 + เครดิตภาษี ฿25,000) |
ต้องได้เงินปันผลแค่ไหนถึงจะคุ้ม?
แต่ก็มีคำถามอีกว่าแล้วต้องได้รับเงินปันผลเยอะแค่ไหนถึงควรจะปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่ต้องใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล?
คำตอบ คือ เมื่อมีคุณมีรายได้จากเงินปันผลมากกว่า ฿5,782,857.19 (คำนวณจากสมมติฐานว่าบริษัทที่จ่ายเงินปันผลนั้นเสียภาษี 20% และเราก็มีรายได้จากเงินปันผลเพียงทางเดียวโดยไม่มี ค่าลดหย่อน ใดๆ นอกจาก ค่าลดหย่อนส่วนตัว ฿60,000 โดยคุณจะได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล คืนจำนวน ฿1,445,714.30)
หมายความว่า ถ้าคุณยังมีรายได้จากเงินปันผลอย่างเดียวไม่ถึง 5.78 ล้านบาท การขอเครดิตภาษีเงินปันผล เป็นทางเลือกที่ประหยัดภาษีมากกว่าเสมอ แต่อย่างไรก็ดี อย่าลืมคำนวณภาษีของคุณอย่างละเอียดอีกครั้งเพราะตัวเลขอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยการคำนวณของแต่ละคน เช่น มีรายได้ทางอื่นด้วยไหม หรือมีค่าลดหย่อนเพิ่มเติมอีกรึเปล่า
เรื่องนี้ต้องพิสูจน์
จากสมมติฐานว่าบริษัทที่จ่ายเงินปันผลนั้นเสียภาษี 20% และเรามีรายได้จากเงินปันผลหุ้นเพียงทางเดียวโดยไม่มีค่าลดหย่อนใดๆ นอกจากค่าลดหย่อนส่วนตัว ฿60,000 เรามาลองใช้แอพ iTAX พิสูจน์กันดีกว่า
1. ใส่เงินปันผลจำนวน ฿5,782,857.19 ในช่อง อัตรา 20% ระบบจะกรอกภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% คือ ฿578,285.72 ให้อัตโนมัติ
2. ระบบจะบันทึกรายได้รวมเป็น ฿7,228,571.49 (เงินปันผลที่กรอกไว้ ฿5,782,857.19 + เครดิตภาษีเงินปันผลที่ต้องรวมเป็นเงินได้ด้วย ฿1,445,714.30)
3. ระบบคำนวณภาษีได้ ฿2,024,000.02 ก็จริง แต่เมื่อหักลบกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย ฿578,285.72 และเครดิตภาษีเงินปันผลอีก ฿1,445,714.30 แล้ว สุดท้ายค่าภาษีจะเป็น ฿0 พอดี นั่นหมายความว่าถ้าคุณได้เงินปันผลไม่ถึง ฿5,782,857.19 การใช้เครดิตภาษีเงินปันผลเป็นทางเลือกที่ช่วยให้คุณได้เงินคืนภาษีมากกว่า
สรุป
ถ้าคุณมีรายได้จากเงินปันผลหุ้นแล้วปีนี้ ก็อย่าลืมลองคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผลเพื่อเปรียบเทียบภาษีด้วย
iTAX ยินดีช่วยคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล เพื่อให้คุณได้เปรียบเทียบและได้รักษาสิทธิประโยชน์ส่วนนี้ของคุณได้ทันที พร้อมเตรียมแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ให้คุณด้วย โดยสามารถคำนวณผ่านแอป iTAX ก็ได้
ซึ่งปัจจุบัน iTAX รองรับการอัพโหลดไฟล์ Excel จากเว็บไซต์ TSD เรียบร้อยแล้ว! นอกจากนี้ ไม่ว่าจะรวมคำนวณภาษีแล้วคุ้มหรือไม่คุ้ม ข้อมูลเงินปันผลใน iTAX สามารถนำไปคำนวณเพื่อเพิ่มเพดานสิทธิ์ลดหย่อนประกันชีวิตแบบบำนาญและกองทุนรวมลดหย่อนภาษีได้ด้วย
ดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรีในรูปแบบ App ทั้งบนระบบ iOS และ Android
อ้างอิง
- ^
มาตรา 47 ทวิ ประมวลรัษฎากร