Contents

สิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ

178,657 views

โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร

สิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ใช้สำหรับยกเว้นเงินได้ ฿190,000 แรกให้ผู้เสียภาษีที่มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์1 หรือผู้เสียภาษีที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ2 โดยสามารถนำไปใช้สิทธิ์ยกเว้นเงินได้ประเภทใดก็ได้ที่ตนเองได้รับระหว่าง ปีภาษี

สิทธิประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


วิธีใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรกบนแอป iTAX

แอป iTAX รองรับการคำนวณสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก ทั้งกรณีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์และกรณีมีบัตรประจำตัวผู้พิการ

การใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก กรณีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์

หากต้องการใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก กรณีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ iTAX จะคำนวณสิทธิลดหย่อนให้อัตโนมัติโดยคำนวณตามวัน เดือน ปีเกิด ที่กรอกไว้

วิธีแก้ไข ‘วันเกิด’ เพื่อรับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรกบนแอป iTAX

ในกรณีที่อายุครบ 65 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่กรอกข้อมูลวันเกิดตอนแรกไว้ไม่ถูกต้อง และต้องการแก้ไขเพื่อรับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก คุณสามารถแก้ไขวันเดือนปีเกิดให้ถูกต้องได้ ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ค่าลดหย่อน – ส่วนตัว’
  3. กด
  4. ที่หัวข้อ ‘วันเกิด’ » กรอก วัน เดือน ปีเกิด ที่ถูกต้อง
  5. กด Done

จากนั้นแอปจะแสดงสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรกและคำนวณภาษีใหม่ให้อัตโนมัติ

การใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก กรณีมีบัตรประจำตัวผู้พิการ

หากต้องการใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก กรณีมีบัตรประจำตัวผู้พิการ iTAX จะคำนวณสิทธิลดหย่อนให้อัตโนมัติโดยคำนวณตามข้อมูลสถานะการมีบัตรประจำตัวผู้พิการที่คุณกรอกไว้

วิธีแก้ไข ‘สถานะการมีบัตรประจำตัวผู้พิการ’ เพื่อรับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรกบนแอป iTAX

ในกรณีที่มีบัตรประจำตัวผู้พิการอยู่แล้ว แต่กรอกข้อมูลตอนแรกไว้ไม่ถูกต้อง และต้องการแก้ไขเพื่อรับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก คุณสามารถแก้ไขสถานะการมีบัตรประจำตัวผู้พิการให้ถูกต้องได้ ดังนี้

  1. ในหน้าแรก (Home) กดที่ »  ค่าลดหย่อน
  2. เลือก ‘ค่าลดหย่อน – ส่วนตัว’
  3. กด
  4. ที่หัวข้อ ‘คุณมีบัตรประจำตัวผู้พิการรึเปล่า?’ » เลือก ‘มี’
  5. เลือก ‘รับทราบฯ’ » กด ‘ยินยอม’
  6. กด Done

จากนั้นแอปจะแสดงสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรกและคำนวณภาษีใหม่ให้อัตโนมัติ


สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ผู้มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ หรือผู้พิการสามารถนำสิทธิยกเว้นเงินได้ ฿190,000 แรกของตนไปหักออกจากเงินได้ประเภทใดก็ได้ที่ตนได้รับระหว่างปีภาษี เช่น ถ้ามีเงินได้จากเงินเดือนตลอดทั้งปี ฿200,000 และเงินได้จากดอกเบี้ย ฿200,000

คุณสามารถเลือกใช้สิทธิ์ยกเว้นเงินได้นี้ออกจากเงินเดือนทั้งหมด ฿190,000 ไปเลยก็ได้ ซึ่งจะทำให้เหลือเงินได้จากเงินเดือนสำหรับเสียภาษีเพียง ฿10,000 หรือใช้สิทธิ์ยกเว้นเงินได้จากเงินเดือนเพียง ฿100,000 แล้วใช้สิทธิ์ที่เหลืออีก ฿90,000 สำหรับยกเว้นเงินได้จากดอกเบี้ยอีกก็ได้ขึ้นอยู่กับการวางแผนของผู้เสียภาษีเอง

เงื่อนไขการรับสิทธิ

กรณีสูงอายุ

  • มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ในปีที่ยื่นภาษี3
  • อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น4
  • การใช้สิทธิ์ยกเว้นต้องแสดงรายการเงินได้และจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นั้นตอนยื่นภาษี5

กรณีพิการ

  • มีบัตรประจำตัวคนพิการในปีที่ยื่นภาษี6
  • อยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีภาษีนั้น7
  • การใช้สิทธิ์ยกเว้นต้องแสดงรายการเงินได้และจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นั้นตอนยื่นภาษี8

แบบฟอร์มที่ต้องใช้

  • ใบแสดงสิทธิการได้รับยกเว้นเงินได้ กรณีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือกรณีคนพิการ อายุไม่เกิน 65 ปี

ข้อสังเกต

อย่างไรก็ดี เมื่อรับสิทธิแล้ว อาจมีผลต่อสิทธิในการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ เช่น หากได้รับรายได้จากเงินเดือนตลอดทั้งปีเป็นเงินจำนวน ฿200,000 ในกรณีปกติจะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% คิดเป็นเงิน ฿100,000

แต่เมื่อหักสิทธิยกเว้นเงินได้ ฿190,000 แรกไปแล้ว จะเหลือเงินได้เพื่อคำนวณภาษี ฿10,000 บาท การหักค่าใช้จ่ายจึงคิดจากฐาน ฿10,00 บาทแทน ทำให้กรณีนี้จะหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ ฿10,000 หลังหักสิทธิประโยชน์ไปแล้ว จึงหักค่าใช้จ่ายได้เพียง ฿5,000

แต่ในกรณีใช้สิทธิลดหย่อน RMF, SSF หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ การใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,0000 บาทแรกนี้ ไม่มีผลต่อการคำนวณเพดานสิทธิลดหย่อนแต่อย่างใด กล่าวคือ ใช้ตัวเลขรายได้ก่อนหัก 190,000 บาทแรกเป็นฐานในการคำนวณสิทธิลดหย่อน เช่น ถ้าอายุครบ 65 ปี หรือมีบัตรประจำตัวผู้พิการจะได้สิทธิยกเว้นเงินได้ 190,0000 บาทแรก ทำให้รายได้ 1,000,000 บาท ถูกหักเหลือ 810,000 บาท เพื่อนำมาคำนวณภาษี
แต่เวลาคำนวณสิทธิลดหย่อน SSF, RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญ จะใช้ฐาน 1,000,000 บาท มาคำนวณเพดานสิทธิ (ไม่ใช่ 810,000 บาท)

ทั้งนี้ ระบบ iTAX รองรับการคำนวณภาษีสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการได้ คุณไม่จำเป็นต้องเสียเวลาคิดเอง ไม่ว่าคุณต้องการ คำนวณภาษี หรือวางแผนภาษี ก็สามารถใช้บริการ iTAX ได้เช่นกัน และยังสามารถ ค้นหาวิธีลดหย่อนภาษี ที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณได้ด้วย

ดาวน์โหลด iTAX application สำหรับคำนวณภาษีได้ฟรีในรูปแบบ App ทั้งบนระบบ iOS และ Android


อ้างอิง

  1. ^

    มาตรา 42 (17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2 (72) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 150)

  2. ^

    มาตรา 42 (17) ประมวลรัษฎากร, ข้อ 2 (81) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509),  ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 197)

  3. ^

    ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 150)

  4. ^

    ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 150)

  5. ^

    ข้อ 5 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 150)

  6. ^

    ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 197)

  7. ^

    ข้อ 1 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 197)

  8. ^

    ข้อ 5 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 197)