Contents
ภาษีป้าย (ภาษีท้องถิ่น)
โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
ภาษีป้าย เป็นภาษีที่จัดเก็บเป็นรายปีตามขนาดป้าย โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), กรุงเทพมหานคร, เมืองพัทยา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดเก็บ1
ผู้เสียภาษี
ผู้เสียภาษีป้าย คือ เจ้าของป้าย 2 แต่ถ้าไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย หรือเจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่าเจ้าของป้ายเป็นใคร ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้เสียภาษีป้าย3
อนึ่ง ถ้าไม่สามารถหาตัวผู้ครอบครองป้ายได้ ให้ถือว่าเจ้าของอาคาร หรือสถานที่ หรือที่ดินที่ป้ายติดอยู่นั้น เป็นเจ้าของป้ายตามลำดับ และมีหน้าที่เป็นผู้เสียภาษีป้าย4
ป้ายที่ต้องเสียภาษี
“ป้าย” ที่ต้องเสียภาษีป้ายนั้น หมายถึง ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึกหรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น5 รวมถึงป้ายที่ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าที่ขนาดเกิน 3 ตารางเมตร6
วิธีคำนวณภาษี
สูตรการคำนวณภาษีป้ายเบื้องต้น คือ
ค่าภาษีป้าย = หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี × อัตราภาษีป้าย
การคำนวณพื้นที่ป้าย
1. ป้ายที่มีขอบเขตกำหนดได้
ป้ายที่มีขอบเขตกําหนดได้ คือ ป้ายที่มีขอบเขตชัดเจน ให้คํานวณพื้นท่ีของป้ายเป็น ตร.ซม. โดยให้นำส่วนท่ีกว้างที่สุด (ใช้หน่วยเป็น ซม.) คูณกับส่วนท่ียาวท่ีสุด (ใช้หน่วยเป็น ซม.) เพื่อคำนวณพื้นที่ของป้าย7
2. ป้ายที่ไม่มีขอบเขตกำหนดได้
ป้ายที่ไม่มีขอบเขตกําหนดได้ คือ ป้ายที่แสดงข้อความ ชื่อ ยี่ห้อ โดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน เช่น เขียนไว้บนผนังอาคาร หรือกำแพง เป็นต้น ให้คํานวณพื้นท่ีของป้ายเป็น ตร.ซม. โดยให้วัดจากตัวอักษร ภาพหรือ เครื่องหมายท่ีอยู่ริมสุดเป็นขอบเขตสําหรับกําหนดความกว้างท่ีสุดและยาวที่สุด (ใช้หน่วยเป็น ซม.) เพื่อคํานวณพื้นที่ของป้าย8
หมายเหตุ
- ถ้าคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้วมีเศษเกินกึ่งหนึ่ง (เกิน 250 ตร.ซม. ขึ้นไป) ให้ปัดขึ้นเป็นอีก 500 ตร.ซม.9 เช่น พื้นที่ของป้ายขนาด 760 ตร.ซม. ให้ปัดเศษขึ้นเป็น 1,000 ตร.ซม.
- ถ้าคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้วมีเศษไม่เกินกึ่งหนึ่ง (250 ตร.ซม. พอดีหรือต่ำกว่า) ให้ปัดทิ้ง10 เช่น พื้นที่ของป้ายขนาด 750 ตร.ซม. ให้ปัดเศษทิ้ง เป็น 500 ตร.ซม.
อัตราภาษี
ภาษีป้ายจะกำหนดอัตราภาษีตามขนาดพื้นที่ป้ายและลักษณะของข้อความที่ปรากฏตามป้ายด้วย โดยแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้11
ป้ายประเภท 1 – ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน
(ก) ป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ คิดอัตรา 10 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
(ข) ป้ายทั่วๆ ไปที่ไม่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ คิดอัตรา 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
ตัวอย่าง
ป้ายมีข้อความว่า
บริษัท สปา จำกัด
อยู่บนแผ่นป้ายธรรมดา ติดตั้งเมื่อเดือนมกราคม ขนาดกว้าง 200 ซม. x ยาว 250 ซม. จะคำนวณภาษีป้ายได้ดังนี้
- พื้นที่ป้าย 200 ซม. × 250 ซม. = 50,000 ตร.ซม.
- หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี = พื้นที่ป้าย (ตร.ซม.) ÷ 500
- หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี = 100
- อัตราภาษีป้ายประเภท 1 (ข) คิดอัตรา 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. (อัตราภาษีของป้ายที่มีอักษรไทยล้วนอยู่บนป้ายทั่วๆ ไปที่ไม่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้)
- ค่าภาษีป้าย = หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี × อัตราภาษีป้าย
- ค่าภาษีป้าย = 100 × 5
สรุป ค่าภาษีป้าย = 500 บาท
ป้ายประเภท 2 – ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ (รวมถึงเลขอารบิก) หรือมีอักษรไทยปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่น
(ก) ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ ติดอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
(ข) ป้ายทั่วๆ ไปที่ไม่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ คิดอัตรา 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
หมายเหตุ: ป้ายประเภทนี้ อักษรไทยทุกตัวต้องอยู่ตำแหน่งบนสุด
ตัวอย่าง
ป้ายมีข้อความว่า
บริษัท สปา จำกัด
SPA CO.,LTD.
อยู่บนแผ่นป้ายธรรมดา ติดตั้งเมื่อเดือนมกราคม ขนาดกว้าง 150 ซม. x ยาว 175 ซม. จะคำนวณภาษีป้ายได้ดังนี้
- พื้นที่ป้าย 150 ซม. × 175 ซม. = 26,250 ตร.ซม.
- หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี = พื้นที่ป้าย (ตร.ซม.) ÷ 500
- หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี = 26,250 ÷ 500
- หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี = 52.5
- เนื่องจากพื้นที่ของป้ายมีเศษไม่เกินกึ่งหนึ่งของ 500 ตร.ซม. จึงต้องปัดเศษ 0.5 ทิ้ง แล้วค่อยนำเลข 52 ไปคูณอัตราภาษีป้าย
- อัตราภาษีป้ายประเภท 2 (ข) คิดอัตรา 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. (อัตราภาษีของป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ (รวมถึงเลขอารบิก) หรือมีอักษรไทยปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่น อยู่บนป้ายทั่วๆ ไปที่ไม่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้)
- ค่าภาษีป้าย = หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี × อัตราภาษีป้าย
- ค่าภาษีป้าย = 52 × 26
สรุป ค่าภาษีป้าย = 1,352 บาท
ป้ายประเภท 3 – ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพหรือมีเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
(ก) ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ คิดอัตรา 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
(ข) ป้ายทั่วๆ ไปที่ไม่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ คิดอัตรา 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
ตัวอย่าง
ป้ายมีข้อความว่า
SPA CO.,LTD.
บริษัท สปา จำกัด
อยู่บนแผ่นป้ายธรรมดา ติดตั้งเมื่อเดือนมกราคม ขนาดกว้าง 125 ซม. x ยาว 130 ซม. จะคำนวณภาษีป้ายได้ดังนี้
- พื้นที่ป้าย 125 ซม. × 135 ซม. = 16,875 ตร.ซม.
- หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี = พื้นที่ป้าย (ตร.ซม.) ÷ 500
- หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี = 16,875 ÷ 500
- หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี = 33.75
- เนื่องจากพื้นที่ของป้ายมีเศษเกินกึ่งหนึ่งของ 500 ตร.ซม. จึงต้องปัดเศษ 0.75 ขึ้นเป็นจำนวนเต็ม 34 แล้วไปคูณอัตราภาษีป้าย
- อัตราภาษีป้ายประเภท 3 (ข) คิดอัตรา 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. (อัตราภาษีของป้ายที่ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพหรือมีเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ อยู่บนป้ายทั่วๆ ไปที่ไม่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความเครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้)
- ค่าภาษีป้าย = หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี × อัตราภาษีป้าย
- ค่าภาษีป้าย = 34 × 50
สรุป ค่าภาษีป้าย = 1,700 บาท
เทียบเคียงตัวอย่างจาก หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0808.3/ว7621 ลว 21 ธันวาคม 2563
สรุปอัตราภาษีป้าย
(ก) ป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนข้อความได้ | (ข) ป้ายปกติทั่วไป | |
ป้ายประเภท 1 | 10 บาท/500 ตร.ซม. | 5 บาท/500 ตร.ซม. |
ป้ายประเภท 2 | 52 บาท/500 ตร.ซม. | 26 บาท/500 ตร.ซม. |
ป้ายประเภท 3 | 52 บาท/500 ตร.ซม. | 50 บาท/500 ตร.ซม. |
ทั้งนี้ อัตรานี้ใช้บังคับสำหรับป้ายที่ต้องเสียภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 256412
อนึ่ง หากคำนวณภาษีป้ายๆ หนึ่งแล้วได้ต่ำกว่า 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาท13
กรณีป้ายติดตั้งบนอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่นและมีพื้นที่เกิน 2 ตารางเมตร
หากเป็นป้ายที่ติดตั้งบนอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่นและมีพื้นที่เกิน 2 ตารางเมตร ป้ายดังกล่าวจะต้องมีข้อความที่แสดงชื่อและที่อยู่ของเจ้าของป้ายท่ีเป็นตัวอักษรไทยที่มุมขวาด้านล่างของป้ายด้วย14
อย่างไรก็ตาม หากข้อความที่แสดงชื่อและที่อยู่ของเจ้าของป้ายนั้นมีส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดอยู่นอกขอบเขตของป้าย ให้คิดภาษีส่วนที่มีข้อความดังกล่าวท่ีอยู่นอกเขตป้ายตามอัตราของป้ายที่มีอักษรไทยล้วน แต่ถ้าส่วนที่อยู่นอกขอบเขตของป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน 10% ของป้ายให้ได้รับยกเว้นภาษีป้าย15
ป้ายที่ได้รับยกเว้นภาษี
ป้ายต่อไปนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้าย16
- ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ
- ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือที่สิ่งหุ้มห่อหรือบรรจุสินค้า
- ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
- ป้ายที่แสดงไว้ที่คนหรือสัตว์
- ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้ เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตารางเมตร17 แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
- ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่น
- ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ
- ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- ป้ายของโรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น
- ป้ายของผู้ประกอบการเกษตรซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน
- ป้ายของวัดหรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ
- ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ
- ป้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง18 ได้แก่
- ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนนหรือรถแทรกเตอร์
- ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อน
- ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ โดยมีพื้นที่ไม่เกิน 500 ตร.ซม.
ข้อสังเกต
- หากเป็นป้ายในห้างสรรพสินค้า แต่มีขนาดเกิน 3 ตารางเมตรจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีป้าย
- แม้จะเป็นป้ายบอกทางไปรีสอร์ท ถ้าป้ายบอกทางดังกล่าวมีชื่อรีสอร์ทรวมด้วย ก็ต้องเสียภาษีป้าย
- แม้จะเป็นป้ายบอกทางไปโรงเรียนเอกชน ถ้าป้ายบอกทางดังกล่าวมีชื่อโรงเรียนรวมอยู่ด้วย ก็ต้องเสียภาษีป้าย
- ถ้าป้ายนั้นเป็นป้ายที่มีคนถือ ไม่ต้องเสียภาษีป้าย
วิธีเสียภาษี
ภาษีป้ายจะเรียกเก็บเป็นรายปี โดยเจ้าของป้ายจะต้องยื่นแบบ ภ.ป.1 ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี19 และเมื่อได้รับการแจ้งประเมินค่าภาษีป้ายแล้ว ต้องชำระภาษีภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน20
ทั้งนี้ ก่อนติดตั้งป้ายต้องขออนุญาตผู้บริหารท้องถิ่นก่อนติดตั้งป้าย โดยมีขั้นตอน ดังนี้
- ยื่นขออนุญาต โดยแจ้งขนาด พร้อมด้วยภาพถ่ายหรือภาพสเกตช์ของป้าย และแผนผังที่ตั้งของป้ายกับเทศบาล สำนักงานเขต หรือ อบต.
- ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี โดยต้องใช้เอกสารประกอบ ดังต่อไปนี้
- บัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่ทะเบียนการค้า
- หนังสือรับรองนิติบุคคล (กรณีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล)
- รูปถ่ายป้าย พร้อมขนาดกว้าง × ยาว
- ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
ในกรณีที่เคยยื่นแบบ ภ.ป.1 แล้ว ให้นำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีป้ายจากปีที่แล้วมาแสดงด้วย
กรณีติดป้ายเป็นปีแรก
อย่างไรก็ตาม โดยปกติเจ้าของป้ายจะต้องเสียภาษีป้ายเป็นรายปีเต็มจำนวน แต่ถ้าเป็นป้ายที่เพิ่งเริ่มติดตั้งหรือแสดงเป็นปีแรก ให้เสียภาษีป้ายตั้งแต่วันเริ่มติดตั้งหรือแสดงจนถึง 31 ธ.ค. ของปีนั้น และให้คิดภาษีป้ายเป็นรายงวด งวดละ 3 เดือนของปี โดยเริ่มเสียภาษีป้ายตั้งแต่งวดที่ติดตั้งป้ายจนถึงงวดสุดท้ายของปี21
ดังนั้น หากติดป้ายใหม่เป็นปีแรก การจ่ายภาษีป้ายจึงแบ่งได้เป็น 4 ช่วง ดังนี้
- ติดป้ายระหว่างมกราคม – มีนาคม จะเสียภาษีป้ายเต็มจำนวน 100%
- ติดป้ายระหว่างเมษายน – มิถุนายน จะเสียภาษีป้าย 75% ของอัตราภาษีป้ายทั้งปี
- ติดป้ายระหว่างกรกฎาคม – กันยายน จะเสียภาษีป้าย 50% ของอัตราภาษีป้ายทั้งปี
- ติดป้ายระหว่างตุลาคม – ธันวาคม จะเสียภาษีป้าย 25% ของอัตราภาษีป้ายทั้งปี
เช่น ถ้าเพิ่งติดป้ายปีแรกเมื่อวันที่ 15 เมษายน จะต้องเสียภาษีป้ายเป็นจำนวน 75% ของอัตราภาษีป้ายทั้งปี
สถานที่ชำระภาษี
- เทศบาล
- องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
- กรุงเทพมหานคร (ติดต่อสำนักงานเขต)
- เมืองพัทยา
ขอผ่อนค่าภาษีกรณีต้องชำระตั้งแต่ 3,000 บาท ได้ 3 งวด
หากมีค่าภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 3,000 บาท ผู้เสียภาษีสามารถขอผ่อนชำระได้ 3 งวด งวดละ 1 เดือน เป็นจำนวนงวดละเท่าๆ กันได้22
การขอคืนภาษี
หากพบว่าตนเองไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีป้าย หรือชำระไว้เกิน สามารถขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินได้ โดยต้องยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่นภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เสียภาษีป้าย23
การอุทธรณ์
ถ้าเจ้าของป้ายซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีป้ายที่ได้รับการแจ้งการประเมินภาษีป้ายแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้อง คุณสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่นได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน24
อ้างอิง
- ^
มาตรา 9 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
มาตรา 7 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
มาตรา 18 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
มาตรา 18 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
มาตรา 6 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2542)
- ^
บัญชีอัตราภาษีป้าย (6)(ก) พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
บัญชีอัตราภาษีป้าย (6)(ข) พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
บัญชีอัตราภาษีป้าย (7)(ก) พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
บัญชีอัตราภาษีป้าย (7)(ก) พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
ข้อ 2 กฎกระทรวง กําหนดอัตราภาษีป้าย พ.ศ. 2563
- ^
ข้อ 3 กฎกระทรวง กําหนดอัตราภาษีป้าย พ.ศ. 2563
- ^
บัญชีอัตราภาษีป้าย (7)(ข) พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
มาตรา 7 วรรคสาม พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2535)
- ^
มาตรา 8 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2542)
- ^
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535)
- ^
มาตรา 12 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
มาตรา 19 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
มาตรา 7 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
มาตรา 19 ทวิ พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
มาตรา 24 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510
- ^
มาตรา 30 พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510