โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า ภาษีที่ดิน เป็นภาษีที่จัดเก็บเป็นรายปีตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (เช่น บ้าน อาคาร) ที่ครอบครอง โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), กรุงเทพมหานคร, เมืองพัทยา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดเก็บ1
ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ 13 มีนาคม 2562 และจะเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยอัตราภาษีจะคำนวณตามประเภทการใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ปีละ 0.01% ไปจนถึงปีละ 3% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง2
ปี 2567 กระทรวงมหาดไทยประกาศเลื่อนเก็บภาษีที่ดินออกไปอีก 2 เดือน 3
การมาของ ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างทำให้ต้องยกเลิกการเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีบำรุงท้องที่ด้วยเนื่องจากซ้ำซ้อนกัน4
ผู้เสียภาษี
ผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ 1) เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือ 2) ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลก็ได้5
ทั้งนี้ การดูว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะดูจากโฉนดที่ดิน ไม่ได้ดูตามทะเบียนบ้าน
ถ้าใครเป็นเจ้าของหรือครอบครองท่ีดินหรือส่ิงปลูกสร้างอยู่ในวันท่ี 1 ม.ค. ของปีไหน ก็ให้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้นไป6 โดยผู้เสียภาษีจะได้รับจดหมายแจ้งการประเมินภาษีว่าต้องจ่ายค่าภาษีทั้งหมดเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่
ในกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นมีเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันหลายคน ทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อค่าภาษีดังกล่าว โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนจะได้รับจดหมายแจ้งการประเมินภาษีว่าค่าภาษีทั้งหมดว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่
ถ้าเจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นเป็นคนละคนกัน ก็ให้เจ้าของที่ดินเสียภาษีเฉพาะส่วนของมูลค่าที่ดิน ส่วนเจ้าของสิ่งปลูกสร้างก็เสียภาษีเฉพาะส่วนของมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง7
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี
โดยทั่วไป ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง (เช่น โกดัง บ้าน อาคาร ที่คนสามารถอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้) จะต้องเสียภาษีโดยใช้มูลค่าทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยแยกตามรายการดังนี้8
- ท่ีดิน – ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ท่ีดิน
- ส่ิงปลูกสร้าง – ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง
- ส่ิงปลูกสร้างท่ีเป็นห้องชุด (คอนโด) – ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและส่ิงปลูกสร้าง อัตราภาษีท่ีจัดเก็บ และรายละเอียดอื่นท่ีจำเป็นในการจัดเก็บภาษีในแต่ละปี ณ สำนักงาน หรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของปีน้ัน9 โดยจะแสดงไว้ ณ สํานักงานหรือที่ทําการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานที่อื่นที่ประชาชนเข้าถึงได้ รวมถึงแสดงผ่านเว็บไซต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย10 ซึ่งโดยปกติแล้ว ราคาประเมินทุนทรัพย์จะเป็นราคาเดียวกับราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมท่ีดิน
กรณีที่ดินไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์
ก็ให้ประเมินจากราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินบริเวณใกล้เคียงที่มีสภาพคล้ายคลึงกันและมีระยะความลึกของแปลงท่ีดินใกล้เคียงกัน (กรณีเป็นที่ดินที่มีโฉนด หรือ น.ส. 3 ก.) หรือราคาที่ดินตามบัญชีกําหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินรายเขตปกครองของกรมธนารักษ์หรือสํานักงานธนารักษ์พื้นที่ (กรณีเป็นที่ดินไม่มีโฉนดหรือหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน)
ทั้งนี้ หากเป็นท่ีดินที่มีสภาพเป็นบ่อลึกจากระดับพื้นดินเกิน 3 เมตร บ่อท่ีเกิดจากการทําเหมือง และบ่อน้ําบาดาล ให้ใช้มูลค่า 25% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ ส่วนที่ดินท่ีมีแนวเขตเดินสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน ให้ใช้มูลค่า 30% ของราคาประเมินทุนทรัพย์11
ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์ ก็ให้ประเมินจากราคาประเมินทุนทรัพย์ของสิ่งปลูกสร้างของบัญชีเทียบเคียงส่ิงปลูกสร้างของกรมธนารักษ์หรือสํานักงานธนารักษ์พื้นท่ี แต่ถ้าเทียบเคียงไม่ได้จริงๆ (เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากที่มีในบัญชีสิ่งปลูกสร้างฯ จนเทียบเคียงกันไม่ได้ เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า สถานีรับส่งสัญญาณภาคพื้นดิน ฯลฯ) ก็จะแจ้งให้ผู้เสียภาษีนําส่งเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงมูลค่าสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบการพิจารณากําหนดราคาของส่ิงปลูกสร้างและจัดทําเป็นบัญชีส่ิงปลูกสร้างท่ีมีลักษณะพิเศษต่อไป
อนึ่ง ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างจะคิดภาษีเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น ไม่คิดจากทรัพย์สินอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นโรงงานก็นำเฉพาะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาคำนวณภาษีโดยไม่รวมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ต่างๆ
นอกจากนี้ สิ่งปลูกสร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จและยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จะไม่ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี
วิธีคำนวณภาษี
การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะใช้คำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น โดยใช้สูตรเบื้องต้น คือ12
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง – มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับยกเว้น = มูลค่าของฐานภาษี
มูลค่าของฐานภาษี × อัตราภาษี = ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
อนึ่ง กรณีที่ดินหลายแปลงมีอาณาเขตติดต่อกันและเป็นของเจ้าของเดียวกัน ให้คำนวณมูลค่าท่ีดินทั้งหมดรวมกันเป็นฐานภาษี13
การหักมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับยกเว้น
การหักมูลค่าของฐานภาษีเป็นสิทธิประโยชน์เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น ซึ่งจะได้รับเฉพาะกรณีต่อไปนี้เท่านั้น
- ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของท่ีดินหรือสิ่งปลูกสร้างท่ีใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม – ได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษีได้ ฿50 ล้าน14 แต่ในกรณีที่มีหลายแปลงแต่อยู่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันมากกว่า 1 แปลง ให้นำมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นหักด้วย ฿50 ล้าน โดยให้หักมูลค่าของที่ดินและส่ิงปลูกสร้างของแปลงที่มีมูลค่าสูงที่สุดก่อน แล้วหักมูลค่าของที่ดินและส่ิงปลูกสร้างท่ีมีมูลค่ารองลงมาตามลำดับ15
- ถ้าบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของท่ีดินหรือส่ิงปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นท่ีอยู่อาศัย และมีช่ืออยู่ในทะเบียนบ้านในวันท่ี 1 มกราคมของปีภาษีนั้น – ได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษีได้ ฿50 ล้าน16
- บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นท่ีอยู่อาศัย และมีช่ืออยู่ในทะเบียนบ้านในวันท่ี 1 มกราคมของปีภาษีนั้น – ได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษีได้ ฿10 ล้าน17
วิธีเสียภาษี
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช้วิธีประเมินภาษีโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ประเมินให้ และจะส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีภายในเดือน ก.พ. ของแต่ละปี18 และต้องชำระภาษีภายใน 30 เม.ย. ของปีนั้น19 ซึ่งค่าภาษีหากเป็นเงินก้อนตั้งแต่ 3,000 บาท สามารถขอผ่อนชำระเป็น 3 งวดเท่าๆ กันได้เป็นเวลา 3 เดือน โดยต้องยื่นหนังสือขอผ่อน ชำระภาษีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ สำนักงานหรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนชำระค่าภาษีงวดแรก20
อย่างไรก็ดี ในปี 2566 มีประกาศลดเลื่อนกำหนดการชำระภาษีออกไปถึง 30 มิ.ย. 2566 21
แบบประเมินภาษีจะประกอบด้วย
- รายการที่ดินหรือส่ิงปลูกสร้าง
- ราคาประเมินทุนทรัพย์
- อัตราภาษี
- จำนวนภาษีที่ต้องชำระ
สถานที่ชำระภาษี
- เทศบาล ชำระที่สำนักงานเทศบาล
- อบต. ชำระที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล
- กทม. ชำระที่สำนักงานเขต
- เมืองพัทยา ชำระที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
อย่างไรก็ดี ผู้บริหารท้องถิ่นอาจกำหนดให้ใช้สถานท่ีอื่นภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน้ันเป็นสถานที่สำหรับชำระภาษีได้ตามท่ีเห็นสมควร22
วันที่ชำระภาษีโดยปกติจะให้ถือเอาตามวันที่พนักงานเก็บภาษีลงลายมือช่ือในใบเสร็จรับเงิน23 แต่ถ้าชำระโดยวิธีอื่น เช่น ชำระโดยผ่านทางธนาคารให้ถือว่าวันท่ีธนาคารได้รับเงินค่าภาษีเป็นวันท่ีชำระภาษี24
การขอเงินคืนภาษี
ในกรณีที่คุณเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกินกว่าจำนวนท่ีต้องเสีย ไม่ว่าโดยความผิดพลาดของตนเองหรือจากการประเมินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คุณมีสิทธิขอเงินคืนภาษีได้ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ชำระภาษีโดยยื่นคำร้องต่อผู้บริหารท้องถิ่น25
ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ประเมินภาษีผิดพลาด คุณมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือน (เศษของเดือนของเงินปัดเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีท่ีได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ยื่นคำร้องขอรับคืนเงินจนถึงวันที่คืนเงิน ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่จะได้รับคืน26
อัตราภาษี
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างกำหนดอัตราภาษีจำแนกตามประเภทการใช้ประโยชน์และตัวผู้เสียภาษี27 ทั้งนี้ อัตราภาษีจะใช้คำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น
อนึ่ง หากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท ภาษีจะคำนวณตามสัดส่วนพื้นที่การใช้ประโยชน์ในท่ีดินหรือส่ิงปลูกสร้างแต่ละประเภท28
อย่างไรก็ดี ปี 2566 รัฐบาลยังประกาศลดภาษีที่ดินอีก 15% จากค่าภาษีที่คำนวณได้29
1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ต้องเป็นการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามหลักเกณฑ์ท่ีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร่วมกันประกาศกำหนด30
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้หมายความรวมถึงการปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำนาเกลือสมุทร การทำสวนป่า การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค หรือจำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม และให้รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมนั้นด้วย และระยะเวลาในการประกอบเกษตรกรรมให้รวมถึงช่วงเวลาพักการเกษตร เพื่อฟื้นฟูสภาพที่ดิน หรือการพักที่ดินระหว่างฤดูกาลผลิต หรือการตัดวงจรโรคด้วย
ทั้งนี้ ถ้าเป็นบริษัทต้องขึ้นทะเบียนว่าทำเกษตรกรรมแล้ว ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาต้องขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรแล้วหรือเป็นเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อื่นที่เพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ตามจำนวนขั้นต่ำที่เป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
ก. บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
พ.ศ. 2563-256531
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ไม่จำกัด | ยกเว้น |
พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป32
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿50 ล้าน | ยกเว้น33 |
>฿50 – ฿125 ล้าน | 0.01% |
>฿125 ล้าน – ฿150 ล้าน | 0.03% |
>฿150 ล้าน – ฿550 ล้าน | 0.05% |
>฿550 ล้าน – ฿1,050 ล้าน | 0.07% |
>฿1,050 ล้าน | 0.10% |
ข. กรณีอื่น
พ.ศ. 2563-256434
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿75 ล้าน | 0.01% |
>฿75 ล้าน – ฿100 ล้าน | 0.03% |
>฿100 ล้าน – ฿500 ล้าน | 0.05% |
>฿500 ล้าน – ฿1,000 ล้าน | 0.07% |
>฿1,000 ล้าน | 0.10% |
พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป35
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿75 ล้าน | 0.01% |
>฿75 ล้าน – ฿100 ล้าน | 0.03% |
>฿100 ล้าน – ฿500 ล้าน | 0.05% |
>฿500 ล้าน – ฿1,000 ล้าน | 0.07% |
>฿1,000 ล้าน | 0.10% |
หลักเกณฑ์ขั้นต่ำที่เข้าลักษณะใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
ปลูกพืช
การประกอบการเกษตรที่เป็นการทําไร่ การปลูกผัก การปลูกไม้ผลยืนต้น การปลูกสวนป่า การปลูกป่าเศรษฐกิจ แบบสวนเฉพาะ หรือการปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสมที่มีชนิดพืชดังต่อไปนี้ จะต้องประกอบการเกษตรให้ได้อัตราขั้นต่ำตามที่กําหนดไว้ในตารางนี้ จึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม36
ชนิดพืช | อัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตร (ต่อไร่) |
---|---|
กล้วยหอม | 200 ต้น |
กล้วยไข่ | 200 ต้น |
กล้วยน้ำว้า | 200 ต้น |
กะท้อนเปรี้ยว | 25 ต้น |
กะท้อนพันธุ์ทับทิม | 25 ต้น |
กะท้อนพันธุ์ปุยฝ้าย | 25 ต้น |
กาแฟ | 170 ต้น |
กาแฟพันธุ์โรบัสต้า | 170 ต้น |
กาแฟพันธุ์อราบิก้า | 533 ต้น |
กานพลู | 20 ต้น |
กระวาน | 100 ต้น |
โกโก้ | 150-170 ต้น |
ขนุน | 25 ต้น |
เงาะ | 20 ต้น |
จำปาดะ | 25 ต้น |
จันทร์เทศ | 25 ต้น |
ชมพู่ | 45 ต้น |
ทุเรียน | 20 ต้น |
ท้อ | 45 ต้น |
น้อยหน่า | 170 ต้น |
นุ่น | 25 ต้น |
บ๊วย | 45 ต้น |
ปาล์มน้ำมัน | 22 ต้น |
ฝรั่ง | 45 ต้น |
พุทรา | 80 ต้น |
แพสชั่นฟรุ๊ต (เสาวรส) | 400 ต้น |
พริกไทย | 400 ต้น |
พลู | 100 ต้น |
มะม่วง | 20 ต้น |
มะพร้าวแก่ | 20 ต้น |
มะพร้าวอ่อน | 20 ต้น |
มะม่วงหิมพานต์ | 45 ต้น |
มะละกอ (ยกร่อง) | 100 ต้น |
มะละกอ (ไม่ยกร่อง) | 175 ต้น |
มะนาว | 50 ต้น |
มะปราง | 25 ต้น |
มะขามเปรี้ยว | 25 ต้น |
มะขามหวาน | 25 ต้น |
มังคุด | 16 ต้น |
ยางพารา | 80 ต้น |
ลิ้นจี่ | 20 ต้น |
ลำไย | 20 ต้น |
ละมุด | 45 ต้น |
ลางสาด | 45 ต้น |
ลองกอง | 45 ต้น |
ส้มโอ | 45 ต้น |
ส้มโอเกลี้ยง | 45 ต้น |
ส้มตรา | 45 ต้น |
ส้มเขียวหวาน | 45 ต้น |
ส้มจุก | 45 ต้น |
สตอเบอรี่ | 10,000 ต้น |
สาลี่ | 45 ต้น |
สะตอ | 25 ต้น |
หน่อไม้ไผ่ตง | 25 ต้น |
หมาก (ยกร่อง) | 100-170 ต้น |
พืชกลุ่มให้เนื้อไม้ | 100 ต้น |
หมายเหตุ : (1) กรณีที่ไม่ปรากฏชนิดพืชตามบัญชีแนบท้ายนี้ ให้ใช้อัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่ โดยเทียบเคียงจากชนิดพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงที่สุด
(2) กรณีที่ไม่สามารถเทียบเคียงจากชนิดพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงตาม (1) ได้ให้พิจารณาตาม ลักษณะการประกอบการเกษตรในแต่ละท้องถิ่น
เลี้ยงสัตว์
การประกอบการเกษตรที่เป็นการเลี้ยงปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่น ๆ ที่มีชนิดสัตว์ ดังต่อไปนี้ ต้องประกอบการเกษตรให้ได้อัตราขั้นต่ำตามที่กําหนดไว้ในตารางนี้ จึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม37
ชนิดสัตว์ | พื้นที่คอกหรือโรงเรือน | การใช้ที่ดิน |
---|---|---|
โค | ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว | 1 ตัวต่อ 5 ไร่ |
กระบือโตเต็มวัย | ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว | 1 ตัวต่อ 5 ไร่ |
แพะ-แกะโตเต็มวัย | ขนาด 2 ตารางเมตรต่อตัว | 1 ตัวต่อ 1 ไร่ |
สุกรพ่อพันธุ์ | คอกเดี่ยว ขนาด 7.5 ตารางเมตรต่อตัว | |
สุกรแม่พันธุ์ | คอกเดี่ยว ขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อตัว | |
สุกรอนุบาล | ขนาด 0.5 ตารางเมตรต่อตัว | |
สุกรขุน | ขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อตัว | |
คอกคลอด | ใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 6 ตารางเมตรต่อตัว | |
ซองอุ้มท้อง | ใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2 ตารางเมตรต่อตัว | |
สัตว์ปีกเลี้ยงปล่อย (เป็ดและไก่) | 4 ตารางเมตรต่อตัว (ตามมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์) | |
กวาง | 2 ไร่ต่อตัว | |
หมูป่า | 5 ตารางเมตรต่อตัว (เลี้ยงในโรงเรือน)
0.25 ไร่ต่อตัว (เลี้ยงปล่อย) |
|
ผึ้ง | บริเวณที่มีพืชอาหารเลี้ยงผึ้ง เช่น เกสร และน้ําหวานดอกไม้ที่สมดุล กับจํานวนรังผึ้ง | |
จิ้งหรีด | บริเวณพื้นที่เพียงพอและเหมาะสมกับขนาดและจำนวนบ่อ |
หมายเหตุ: (1) กรณีที่ไม่ปรากฏชนิดสัตว์ตามบัญชีแนบท้ายนี้ให้ใช้อัตราขั้นต่ำของการเลี้ยงปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่น ๆ โดยเทียบเคียงจากชนิดสัตว์ที่มีลักษณะใกล้เคียงที่สุด
(2) กรณีที่ไม่สามารถเทียบเคียงจากชนิดสัตว์ที่มีลักษณะใกล้เคียงตาม (1) ได้ให้พิจารณาตามลักษณะการเลี้ยงปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่น ๆ ในแต่ละท้องถิ่น
เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
กรณีการประกอบการเกษตรที่เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ถือว่าการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม38
- พื้นที่บ่อดิน บ่อปูน กระชังบก บ่อพลาสติก โรงเพาะฟัก หรือพื้นที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในลักษณะ อื่นใด ที่ผู้ขุด ผู้สร้าง ผู้จัดท้า เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง มีความมุ่งหมายโดยตรงที่ใช้ท้าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- ที่ดินที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องที่มีกิจกรรมใช้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น บ่อพักน้ำ บ่อบ้าบัดน้ำ คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ คูน้ำ คันดินขอบบ่อ ถนน และให้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นใด ที่ใช้ประโยชน์ เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง บ้านหลังที่ 2 ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย ให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยแบบรายเดือน (เช่น บ้านเช่า อพาร์ทเม้นท์ หอพัก คอนโด เป็นต้น) และโฮมสเตย์ ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ สถานะของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วย เช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น 39
หมายเหตุ: ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่าง การพัฒนา หรือสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ขาย
ก. บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น (บ้านหลัก)
พ.ศ. 2563-256440
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿50 ล้าน | ยกเว้น41 |
>฿50 – ฿75 ล้าน | 0.03% |
>฿75 – ฿100 ล้าน | 0.05% |
>฿100 ล้าน | 0.10% |
พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป42
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿50 ล้าน | ยกเว้น43 |
>฿50 – ฿75 ล้าน | 0.03% |
>฿75 – ฿100 ล้าน | 0.05% |
>฿100 ล้าน | 0.10% |
ข. บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น (บ้านหลัก)
พ.ศ. 2563-256444
มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿10 ล้าน | ยกเว้น45 |
>฿10 – ฿50 ล้าน | 0.02% |
>฿50 – ฿75 ล้าน | 0.03% |
>฿75 – ฿100 ล้าน | 0.05% |
>฿100 ล้าน | 0.10% |
พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป46
มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿10 ล้าน | ยกเว้น47 |
>฿10 – ฿50 ล้าน | 0.02% |
>฿50 – ฿75 ล้าน | 0.03% |
>฿75 – ฿100 ล้าน | 0.05% |
>฿100 ล้าน | 0.10% |
ค. กรณีอื่น เช่น บ้านหลังที่สอง (บ้านรอง)
พ.ศ. 2563-256448
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿50 ล้าน | 0.02% |
>฿50 – ฿75 ล้าน | 0.03% |
>฿75 – ฿100 ล้าน | 0.05% |
>฿100 ล้าน | 0.10% |
พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป49
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿50 ล้าน | 0.02% |
>฿50 – ฿75 ล้าน | 0.03% |
>฿75 – ฿100 ล้าน | 0.05% |
>฿100 ล้าน | 0.10% |
3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น เช่น ใช้เชิงพาณิชย์
พ.ศ. 2563-256450
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿50 ล้าน | 0.30% |
>฿50 – ฿200 ล้าน | 0.40% |
>฿200 – ฿1,000 ล้าน | 0.50% |
>฿1,000 – ฿5,000 ล้าน | 0.60% |
>฿5,000 ล้าน | 0.70% |
พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป51
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿50 ล้าน | 0.30% |
>฿50 – ฿200 ล้าน | 0.40% |
>฿200 – ฿1,000 ล้าน | 0.50% |
>฿1,000 – ฿5,000 ล้าน | 0.60% |
>฿5,000 ล้าน | 0.70% |
4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ
ที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ต้องเสีย ภาษีที่ดิน คือ ที่ดินที่โดยสภาพแล้วสามารถทําประโยชน์ได้ แต่ไม่มีการทําประโยชน์ในที่ดินน้ันตลอดปีที่ผ่านมา (เว้นแต่เกิดจากเหตุธรรมชาติหรือเหตุพ้นวิสัยจนไม่สามารถทำประโยชน์ได้) หรือที่ดินที่โดยสภาพสามารถทําประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมได้
แต่การทําประโยชน์ตลอดปีที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประกาศกําหนดร่วมกัน52
สิ่งปลูกสร้างรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ต้องเสียภาษีที่ดินฯ คือ ส่ิงปลูกสร้างท่ีโดยสภาพสามารถทําประโยชน์ได้ แต่ถูกทิ้งร้างและไม่ใช้ประโยชน์ในสิ่งปลูกสร้างนั้นตลอดปีท่ีผ่านมา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างหรือปรับปรุงเสร็จแล้วและโดยสภาพสามารถทําประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมหรือเป็นที่อยู่อาศัยหรือทําประโยชน์อื่นได้แต่ไม่ใช้ประโยชน์ตลอดปีท่ีผ่านมา53
พ.ศ. 2563-256454
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿50 ล้าน | 0.30% |
>฿50 – ฿200 ล้าน | 0.40% |
>฿200 – ฿1,000 ล้าน | 0.50% |
>฿1,000 – ฿5,000 ล้าน | 0.60% |
>฿5,000 ล้าน | 0.70% |
พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป55
มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿50 ล้าน | 0.30% |
>฿50 – ฿200 ล้าน | 0.40% |
>฿200 – ฿1,000 ล้าน | 0.50% |
>฿1,000 – ฿5,000 ล้าน | 0.60% |
>฿5,000 ล้าน | 0.70% |
อนึ่ง ถ้าทิ้งร้างว่างเปล่าเวลา 3 ปีติดต่อกัน อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นอีก 0.3% และจะขึ้นภาษีอีก 0.3% ในทุกๆ 3 ปี แต่กำหนดเพดานภาษีท่ีเสียรวมท้ังหมดสูงสุดไม่เกิน 3%56
อย่างไรก็ดี ที่ดินที่อยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อทําประโยชน์ หรือสิ่งปลูกสร้างท่ีอยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงที่ดินหรือส่ิงปลูกสร้างที่ถูกรอนสิทธิในการทําประโยชน์โดยกฎหมายหรือโดยคําส่ังหรือคําพิพากษาของศาล และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างท่ีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง จะได้รับยกเว้นไม่ถือเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรกร้างว่างเปล่า57
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับยกเว้น ภาษีที่ดิน
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่อไปนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง58
- ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐซึ่งใช้ในกิจการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ หรือในกิจการสาธารณะ ทั้งนี้ โดยมิได้ใช้หาผลประโยชน์
- ทรัพย์สินท่ีเป็นที่ทำการขององค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษขององค์การ สหประชาชาติ หรือองค์การระหว่างประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยมีข้อผูกพันที่ต้องยกเว้นภาษีให้ตามสนธิสัญญา หรือความตกลงอื่นใด
- ทรัพย์สินที่เป็นที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลของต่างประเทศ ทั้งนี้ ให้เป็นไป ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน
- ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย
- ทรัพย์สินที่เป็นศาสนสมบัติไม่ว่าของศาสนาใดที่ใช้เฉพาะเพื่อการประกอบศาสนกิจหรือ กิจการสาธารณะ หรือทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่ของสงฆ์ นักพรต นักบวช หรือบาทหลวง ไม่ว่าในศาสนาใด หรือทรัพย์สินที่เป็นศาลเจ้า ทั้งน้ี เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
- ทรัพย์สินท่ีใช้เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
- ทรัพย์สินที่เป็นของมูลนิธิหรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามท่ีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศรายชื่อเป็นองค์กรการกุศลสาธารณะแล้ว59 ท้ังน้ี เฉพาะที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์
- ทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขท่ีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด
- ทรัพย์ส่วนกลางท่ีมีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมของอาคารชุด (ส่วนกลางของคอนโด)
- ท่ีดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรท่ีดิน
- ที่ดินอันเป็นพื้นท่ีสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง60 ได้แก่
- ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินของบุคคลซึ่งได้รับเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าข้ึน
- ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจที่ยังมิได้ใช้ในกิจการของรัฐวิสาหกิจและยังมิได้ใช้หาผลประโยชน์
- ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินว่างเปล่าในสนามบินรอบบริเวณทางวิ่ง ทางขับ หรือลานจอดอากาศยาน ท่ีกันไว้เพื่อความปลอดภัย
- ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างท่ีใช้เป็นทางรถไฟหรือทางรถไฟฟ้าซึ่งใช้ในกิจการของการรถไฟหรือ การรถไฟฟ้าโดยตรง
- ทรัพย์สินที่ใช้สําหรับการสาธารณูปโภคและทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันในโครงการของการเคหะแห่งชาติ
- ทรัพย์สินของเอกชนที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ตํามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกําหนด
- สิ่งปลูกสร้างที่เป็นบ่อสําหรับใช้ในระบบบําบัดน้ําเสียที่ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องกับอาคาร
- สิ่งปลูกสร้างที่เป็นบ่อน้ําที่ใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ
- สิ่งปลูกสร้างที่เป็นถนน ลาน และร้ัว
- ที่ดินท่ีมีกฎหมายกําหนดห้ามมิให้ทําประโยชน์
- ทรัพย์สินที่เป็นที่ทําการของสํานักงานเศรษฐกิจและการค้าของต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
- สิ่งปลูกสร้างของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ในโครงการศูนย์ราชการ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งก่อสร้างโดยใช้เงินจากการระดมทุนด้วยวิธีการ แปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เฉพาะส่วนท่ี
- กรมธนารักษ์เช่าเพื่อจัดให้เป็นที่ทำการของหน่วยงานของรัฐ
- หน่วยงานของรัฐซึ่งมีท่ีทำการตาม 1. ใช้สําหรับการสาธารณูปโภค หรือใช้ประโยชน์ร่วมกันในโครงการ
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับสิทธิลดภาษี
ลดภาษี 15% (เฉพาะปี 2566)
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างทุกประเภทในปี 2566 ได้รับสิทธิลดภาษีลง 15% จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คำนวณได้61 เพื่อลดภาระและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่62
ลดภาษี 50%
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่อไปนี้ได้รับสิทธิลดภาษีลง 50% จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คำนวณได้63
- ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด ที่เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วย การทะเบียนราษฎร ทั้งนี้ เฉพาะทรัพย์สินที่บุคคลดังกล่าวได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองมาโดย ทางมรดก และได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นแล้วก่อนวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562
- ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงผลิตไฟฟ้า และโรงผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้า
- ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นเขื่อนและพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับเขื่อน ที่ใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า
ลดภาษี 90%
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่อไปนี้ได้รับสิทธิลดภาษีลง 90% จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คำนวณได้64
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สถาบันการเงินประชาชน หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้รับมา เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของหน่วยงานดังกล่าว
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นโครงการจัดสรร เพื่อที่อยู่อาศัยหรือการอุตสาหกรรม เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินดังกล่าว
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นอาคารชุด (คอนโด) เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดดังกล่าว
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับจัดสรรที่ดิน อาคารชุด หรือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแล้ว และผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตยังไม่ได้ขายเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2563
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เฉพาะที่ใช้เป็นที่ตั้งตามแผนผังแสดงบริเวณและอาคารที่ระบุในรายการข้อกำหนดจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้น
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในกิจการของโรงเรียนเอกชนในระบบ โรงเรียเอกชนนอกระบบ ประเภทสอนศาสนาหรือประเภทศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) หรือประเภทสถาบันศึกษาปอเนาะ เฉพาะที่ใช้เป็นที่ตั้งตามแผนผังแสดงบริเวณและอาคารที่ระบุในรายการตราสารจัดตั้งโรงเรียนนั้น
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นสถานที่ให้บริการแก่ประชาชน เป็นการทั่วไปเฉพาะเพื่อ
- การเล่นกีฬาตามชนิดที่สามารถขอจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้
- สวนสัตว์
- สวนสนุกที่มีเครื่องเล่นที่ได้รับอนุญาต
- ที่จอดรถของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยที่จัดให้สำหรับผู้โดยสารรถไฟฟ้า
- ที่ดินที่เป็นลานจอดรถโดยสารสาธารณะในสถานีขนส่งผู้โดยสาร
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในสนามบินที่ใช้เป็นทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดอากาศยาน ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ตั้งของถนนหรือทางยกระดับที่เป็นทางพิเศษ หรือเป็นทางหลวงสัมปทาน
บทลงโทษ
เบี้ยปรับ
เบี้ยปรับ คือ ค่าปรับที่เกิดจากการชำระภาษีไม่ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งแบ่งกรณีได้ดังนี้
- ไม่ได้ชำระภาษีภายในเวลาท่ีกำหนด และได้รับหนังสือแจ้งเตือน – เสียเบี้ยปรับ 40% ของจำนวนภาษีค้างชำระ65
- ไม่ได้ชำระภาษีภายในเวลาท่ีกำหนด แต่ชำระภาษีตามเวลาที่แจ้งไว้ตามหนังสือแจ้งเตือน – เสียเบี้ยปรับ 20% ของจำนวนภาษีค้างชำระ66
- ไม่ได้ชำระภาษีภายในเวลาท่ีกำหนด แต่ชำระภาษีก่อนจะได้รับหนังสือแจ้งเตือน – เสียเบี้ยปรับ 10% ของจำนวนภาษีค้างชำระ67
เงินเพิ่ม
เงินเพิ่ม คือ ดอกเบี้ยที่เกิดจากการชำระภาษีล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด โดยจะคิดในอัตรา 1% ต่อเดือน (เศษของเดือนของเงินปัดเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีท่ีค้างชำระโดยไม่คิดทบต้น โดยเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีจนถึงวันที่ชำระภาษี ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่จะชำระ (แต่ถ้าได้รับการขยายกำหนดเวลาชำระภาษี และชำระภาษีภายในกำหนดนั้น อัตราเงินเพิ่มจะลดลงเหลือ 0.5% ต่อเดือน)68
โทษทางอาญา
การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี อาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ปรับสูงสุด ฿40,00069 และในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดก็อาจส่งผลให้กรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกันด้วย70
ข้อยกเว้น
หากเป็นกรณีที่ชำระภาษีล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดเนื่องจากประชาชนไม่ได้รับใบประเมินเรียกเก็บภาษี หรือเนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาในการชำระภาษีออกไปเอง ผู้เสียภาษีไม่มีความผิดจึงไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
การอุทธรณ์
ในกรณีที่ผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษี สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อผู้บริหารท้องถิ่นได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีหรือการเรียกเก็บภาษี71
- เทศบาล ยื่นต่อนายกเทศมนตรี
- อบต. ยื่นต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
- กทม. ยื่นต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- เมืองพัทยา ยื่นต่อนายกเมืองพัทยา
เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย
- หลายคนเข้าใจผิดว่ากรมสรรพากรทำหน้าที่เก็บ ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง แต่ความจริงแล้วหน่วยงานที่จำเก็บ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), กรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา
- ถ้าเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย (บ้าน คอนโด) หลายแห่ง หลายคนยังเข้าใจผิดว่าถ้าบ้านทุกหลังมูลค่าไม่เกิน ฿10-฿50 ล้าน ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ความจริงแล้วสิทธิดังกล่าวจะยกเว้นให้เฉพาะต้องเป็นที่อยู่อาศัยหลักที่ตัวเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น (บ้านหลัก) ซึ่งโดยปกติจะมีอยู่ได้แค่แห่งเดียว ดังนั้น ที่อยู่อาศัยอื่นที่ไม่มีชื่อเราอยู่ในทะเบียนบ้าน (บ้านรอง) จะต้องเสียภาษีด้วยอย่างแน่นอน
- ทรัพย์ส่วนกลางท่ีมีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมของอาคารชุด (ส่วนกลางของคอนโด) ได้รับยกเว้นภาษี แต่ห้องที่อยู่อาศัยของเราไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของคอนโดจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษี
- การประเมินภาษีไม่ได้ดูที่ราคาขายของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง แต่ดูที่มูลค่าตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของทางราชการเป็นหลัก
- ในกรณีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม โดยปกติเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคนได้รับจดหมายแจ้งค่าภาษีที่ดินของที่แปลงเดียวกัน โฉนดใบเดียวกัน และมีข้อความเหมือนกัน หลายคนจึงเข้าใจผิดว่าต่างคนต่างถูกประเมินภาษีเป็นการส่วนตัวและต่างคนต่างต้องจ่ายภาษีตามจำนวนที่ปรากฏตามจดหมายที่ได้รับทุกคน แต่ความจริงแล้วค่าภาษีนั้นเป็นเพียงค่าภาษีรวมที่เจ้าของทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น สิ่งที่ถูกต้องคือเจ้าของทุกคนต้องตกลงร่วมกันว่าค่าภาษีตามหนังสือที่ได้รับนั้นจะแบ่งกันจ่ายอย่างไรก็ได้ เช่น ที่ดินมีเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมทั้งหมด 4 คน ถ้าเจ้าของทั้ง 4 คนได้รับแจ้งค่าภาษี 2,000 บาท ไม่ได้แปลว่าทั้ง 4 คนต้องจ่ายค่าภาษีคนละ 2,000 บาท เพราะที่ถูกต้องคือ ทั้ง 4 คน ต้องร่วมกันรับผิดชอบค่าภาษี 2,000 บาท นี้โดยจะแบ่งเท่าๆ กันคนละ 500 บาท หรือวิธีอื่นก็ได้ แต่สุดท้ายต้องมอบหมายให้เจ้าของคนใดคนหนึ่งดำเนินการชำระก็เป็นอันเรียบร้อยแล้ว
อ้างอิง
- ^
มาตรา 7 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 43 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
- ^
มาตรา 3 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 5 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 9 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 48 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 35 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 39 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
กฎกระทรวง กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์อัตราภาษีและรายละเอียดอื่นในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
กฎกระทรวง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคํานวณมูลค่าที่ดินหรือส่ิงปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์ พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 42 วรรคแรก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 42 วรรคสอง และมาตรา 94 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 40 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
- ^
มาตรา 41 วรรคแรก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 41 วรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 44 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 46 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 52 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวง การผ่อนชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ประจำปี พ.ศ. 2566
- ^
มาตรา 49 วรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 49 วรรคท้าย พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 51 วรรคท้าย พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 54 วรรคแรกและวรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 54 วรรคสี่ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 37 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562, มาตรา 3 พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564
- ^
มาตรา 38 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดเก็บภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีการใช้ประโยชน์หลายประเภท
- ^
พระราชกฤษฎีกา ลดภาษีสาหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566
- ^
ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
- ^
มาตรา 96 พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 3(1) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564
- ^
มาตรา 40 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 94(1) พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 3(1) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564
- ^
บัญชีแนบท้าย ก. ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
- ^
บัญชีแนบท้าย ข. ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
- ^
บัญชีแนบท้าย ค. ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
- ^
ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่ออง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นท่ีอยู่อาศัย
- ^
มาตรา 94(2) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 41 วรรคแรก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 3(2)(ก) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564
- ^
มาตรา 41 วรรคแรก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 94(3) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 41 วรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 3(2)(ข) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564
- ^
มาตรา 41 วรรคสอง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 94(4) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 3(2)(ค) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564
- ^
มาตรา 94(5) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 3(3) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564
- ^
กฎกระทรวง กําหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างท่ีทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทําประโยชน์ต์ามควรแก่สภาพ พ.ศ. 2562
- ^
กฎกระทรวง กําหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างท่ีทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทําประโยชน์ต์ามควรแก่สภาพ พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 94(6) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 3(4) พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564
- ^
มาตรา 43 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
กฎกระทรวง กําหนดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างท่ีทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทําประโยชน์ต์ามควรแก่สภาพ พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 8 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องยกเว้นภาษีที่ดินหรือส่ิงปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของมูลนิธิ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศล
- ^
กฎกระทรวง กําหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 3 และมาตรา 4 พระราชกฤษฎีกา ลดภาษีสาหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566
- ^
หมายเหตุท้ายพระราชกฤษฎีกา ลดภาษีสาหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566
- ^
มาตรา 3 พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563
- ^
มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563
- ^
มาตรา 68 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 69 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 68 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 70 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 88 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 89 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
- ^
มาตรา 73 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562