โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล คือ บุคคลประเภทหนึ่งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายซึ่งไม่ได้เป็น บุคคลธรรมดา (ส่วนมากมักอยู่ในรูปบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด) แต่กฎหมายให้ถือว่ามีสถานะเป็นเสมือนบุคคลทั่วไปและสามารถทำกิจกรรมหลายอย่างได้เหมือนบุคคลทั่วไป เช่น ทำสัญญาซื้อขายได้ มีเจ้าของทรัพย์สินได้ แต่จะไม่สามารถทำกิจกรรมบางอย่างเหมือนบุคคลธรรมดาได้ เช่น ใช้สิทธิเลือกตั้ง บวชเป็นพระภิกษุ จดทะเบียนสมรส รับบุตรบุญธรรม เป็นต้น
โดยปกติ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรายได้จะมีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ด้วย ไม่ว่าจะตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือตามกฎหมายต่างประเทศ1
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายไทยมักอยู่ในรูปแบบ
- บริษัทจำกัด
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด
- ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว
- บริษัทมหาชน
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ
ถ้าบริษัทหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในต่างประเทศ เข้ามาทำกิจกรรมบางอย่างในไทยแล้วมีรายได้ก็มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย
อื่นๆ ที่ถือว่าเป็นผู้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
นอกจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะหมายถึงนิติบุคคลข้างต้นแล้ว กฎหมายยังหมายความรวมถึงกิจการรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลด้วย ได้แก่
มูลนิธิและสมาคมที่ยังไม่เป็นองค์กรการกุศลสาธารณะ
มูลนิธิและสมาคม หากยังไม่ได้รับการประกาศให้เป็นองค์กรการกุศลสาธารณะแล้วมีรายได้เกิดขึ้นจะไม่ได้รับยกเว้นภาษี ทำให้มูลนิธิและสมาคมที่ยังไม่เป็นองค์กรการกุศลสาธารณะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย
กิจการร่วมค้า (Joint Venture)
กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ไม่ว่าจะเป็นการกิจการทางการค้าร่วมกันระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคลด้วยกัน หรือแม้แต่ระหว่างบริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา หากกิจการร่วมค้านั้นมีรายได้ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย
กิจการทางการค้าหรือหากำไรของรัฐบาลต่างประเทศและองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ
ถ้ากิจการทางการค้าหรือหากำไรของรัฐบาลต่างประเทศและองค์การของรัฐบาลต่างประเทศนั้นเข้ามาในไทยแล้วมีรายได้ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยด้วย
กิจการทางการค้าหรือหากำไรของนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
กิจการทางการค้าหรือหากำไรของนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศนั้น ถ้าเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศจะถือเป็นบริษัทหรือหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรซึ่งอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทันที แม้ว่าในประเทศที่ตั้งขึ้นนั้นจะไม่มีสถานะเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วน มูลนิธิ หรือสมาคมก็ตาม เช่น กองทุนรวมต่างประเทศ ดังนั้น ถ้านิติบุคคลนั้นเข้ามาในไทยแล้วมีรายได้ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย
นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย2
นิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
เป็นที่น่าสังเกตว่านิติบุคคลไทยบางประเภทก็ยังที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี ซึ่งมักจะเป็นนิติบุคคลอื่นตามกฎหมายไทยที่ไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนฯ และไม่ใช่ส่วนราชการโดยตรง เช่น เนติบัณฑิตไทย สภาทนายความ สหกรณ์ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย นิติบุคคลอาคารชุด เป็นต้น จะไม่มีสถานะเป็นผู้เสียภาษีที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะแม้จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลแต่ก็ไม่ใช่บริษัท ห้างหุ้นส่วน มูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
นอกจากนี้หน่วยงานส่วนราชการที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลก็ไม่มีสถานะต้องเสียภาษีเงินได้ เช่นกัน เช่น กระทรวง จังหวัด อบต. เป็นต้น
ทั้งนี้นิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ยังรวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็น “องค์การของรัฐบาล” เช่น ธนาคารออมสิน ธอส. ธกส. ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายพิเศษ (แต่ถ้ารัฐวิสาหกิจนั้นไม่ใช่ “องค์การของรัฐบาล” แต่เป็นบริษัท/ห้างหุ้นส่วน ซึ่งโดยมากจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐมีทุนอยู่เกิน 50% เช่น การบินไทย บขส. TOT ธ.กรุงไทย เป็นต้น แบบนี้ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเพราะเป็นบริษัท)
ส่วนองค์การมหาชน (ซึ่งมักไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรเหมือนรัฐวิสาหกิจ) จะไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แม้จะระบบการบริหารจะไม่อยู่รูปแบบราชการก็ตาม
ทำธุรกิจอยู่ จดบริษัทเลยดีมั้ย?
สอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล
- การจดทะเบียนบริษัท
- ตรายาง จำเป็นแค่ไหนต่อ การจดทะเบียนบริษัท
- ข้อแตกต่างของการจดทะเบียนบริษัท และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่คนทำธุรกิจควรรู้
- วัตถุประสงค์บริษัท กับการจดทะเบียนบริษัท