ผู้เสียภาษีหลายคนคงจะรู้อยู่แล้วว่า หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) สำคัญแค่ไหนต่อการยื่นภาษี แต่ถึงอย่างนั้นหลายๆ คนก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับใบหัก ณ ที่จ่ายอยู่ มาดูกันดีกว่าว่าความเข้าใจที่คุณมีต่อใบ 50 ทวินั้น ตรงกับความจริงแค่ไหน เริ่มที่
1. ใบ 50 ทวิ คืออะไร? มีไว้เพื่ออะไร?
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือใบหักภาษี ณ ที่จ่าย คือเอกสารที่เป็นหลักฐานว่า ผู้มีเงินได้ (ผู้รับเงิน) ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามที่กฎหมายกำหนดเรียบร้อยแล้ว และเป็นเอกสารที่เมื่อคุณได้รับแล้วจะต้องเก็บไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีต่อไป
อีกหนึ่งเรื่องที่อยากให้ทุกคนรู้คือ ชื่อเล่นของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือ ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย คือ “ใบ 50 ทวิ” ไม่ใช่ “ทวิ 50” อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ
2. ใบ 50 ทวิ ขอได้ที่ไหน?
คนทำงานหลายคนรู้ว่าใบหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเอกสารสำคัญที่ต้องใช้เมื่อถึงเวลายื่นภาษี แต่ถึงอย่างนั้นเราก็มักจะได้รับคำถามชวนงงอยู่เสมอว่า หนังสือหัก ณ ที่จ่ายสามารถขอได้จากไหน?, สามารถขอที่กรมสรรพากรได้มั้ย? ทีมงาน iTAX ขอบอกตรงนี้เลยว่า
คุณสามารถขอใบรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ ใบ 50 ทวิ ได้ที่ บริษัทที่คุณทำงานอยู่ หรือ บริษัทที่เป็นผู้ว่าจ้างคุณ (กรณีที่เป็นอาชีพอิสระ) เท่านั้น
เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องเป็นผู้ที่ทำการจ่ายเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ไม่ว่าการจ่ายเงินนั้นจะอยู่ในรูปแบบการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส ค่านายหน้า ฯลฯ ก็ตาม
นั่นหมายความว่า หากคุณต้องการหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย คุณจะต้องไปขอที่บริษัทที่คุณทำงานอยู่ หรือ บริษัทที่เป็นผู้ว่าจ้างคุณ (กรณีอาชีพอิสระ) หรือจำง่ายๆ ว่า “รับเงินค่าจ้าง (เงินเดือน) จากใคร ให้ขอใบ 50 ทวิ ที่คนนั้น” ไม่สามารถขอจากคนหรือหน่วยงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจ้างงานหรือจ่ายค่าจ้างแก่คุณ และไม่สามารถขอที่กรมสรรพากรได้
3. อาชีพอิสระ ต้องใช้ใบ 50 ทวิ ยื่นภาษีมั้ย?
แม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็นพนักงานบริษัท แต่หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษี ก็ต้องยื่นภาษีประจำปีด้วย แน่นอนว่าใบหักภาษี ณ ที่จ่ายก็สำคัญกับคุณเช่นกัน เพราะคุณต้องใช้หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นหลักฐานในการ ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี เหมือนพนักงานบริษัทหรือมนุษย์เงินเดือนคนอื่นๆ เช่นกัน
นั่นหมายความว่า แม้คุณประกอบอาชีพอิสระ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายก็เป็นเอกสารที่คุณไม่มีไม่ได้ และเมื่อถึงเวลาต้องยื่นภาษี คุณจะต้องรวบรวมใบ 50 ทวิทุกใบที่คุณได้รับจากผู้ว่าจ้างในปีภาษี (ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค.) ให้ครบทุกใบ เพื่อให้การยื่นภาษีของคุณครบถ้วนและไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาที่เกิดจากการยื่นภาษีไม่ครบ จนส่งผลให้คุณต้องเจอกับ ค่าปรับ เงินเพิ่ม หรือ ภาษีย้อนหลังได้
4. ใบ 50 ทวิ หายต้องทำยังไง?
กรณีที่บริษัทหรือผู้ว่าจ้างออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้คุณแล้ว แต่คุณทำหายไปก่อนที่จะทำการยื่นภาษี หรือไม่ว่าจะทำหายไปเพราะกรณีใดๆ ก็ตาม หากคุณต้องการใบ 50 ทวิอีกครั้ง คุณจะต้องติดต่อบริษัทหรือผู้ว่าจ้างที่เป็นผู้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่คุณ
พูดง่ายๆ ก็คือ คุณเคยรับหนังสือหัก ณ ที่จ่ายจากบริษัทไหนหรือรับกับใคร หากต้องการสำเนาก็ต้องกลับไปขอเอกสารที่บริษัทหรือผู้ว่าจ้างคนนั้น ไม่สามารถขอสำเนาใบหักภาษี ณ ที่จ่ายจากบุคคล บริษัท หรือ หน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องได้
5. ไม่มี ใบ 50 ทวิ ยื่นภาษีได้มั้ย?
หลายคนอาจจะคิดว่า เราสามารถยื่นภาษีได้โดยที่ไม่ต้องมีหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้เพียงสลิปเงินเดือนที่ได้รับมาตลอดทั้งปีก็ได้ เพราะในขั้นตอนการ ยื่นภาษีออนไลน์ เราจะยังไม่ต้องส่งใบหัก ณ ที่จ่ายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก็ได้ แต่คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่า การยื่นภาษีโดยไร้ใบ 50 ทวิมันจะจบแค่นั้น? และมั่นใจได้มากแค่ไหนว่า เจ้าหน้าที่สรรพากรจะไม่ขอให้คุณส่งเอกสารเพิ่มเติม?
iTAX อยากชี้ให้คุณเห็นว่า หากคุณทำการยื่นภาษีโดยที่ไม่มีหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น มีความเสี่ยงที่คุณจะยื่นภาษีผิดพลาดมากเกินไป และหากข้อมูลภาษีที่คุณยื่นไปไม่ตรงกับข้อมูลที่เจ้าหน้าที่สรรพากรมี คราวนี้เรื่องอาจจะวุ่นวายกว่าที่คุณคิด เพราะคุณอาจจะต้องเริ่มต้นยื่นภาษีใหม่ทั้งหมด หรือไม่ก็อาจจะต้องจ่ายเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม เพราะยื่นภาษีไม่ครบก็ได้
ที่เราพูดแบบนี้เพราะว่า หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ได้เป็นเพียงเอกสารที่ระบุข้อมูลรายได้ ข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย และค่าเบี้ยประกันสังคม (รวมถึงข้อมูลการถูกหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ที่คุณจ่ายไปตลอดทั้งปีไว้เท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลสำคัญที่คุณจะต้องใช้เมื่อยื่นภาษีด้วย เช่น ข้อมูลบริษัทหรือนายจ้าง เลขประจำตัวผู้จ่ายเงินได้ (เลขประจำตัวผู้เสียภาษีนิติบุคคล) ประเภทของเงินได้ เป็นต้น
นั่นหมายความว่า หากคุณตัดสินใจยื่นภาษีโดยที่ไม่มีหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โอกาสที่คุณจะยื่นภาษีผิดก็มีมากขึ้น และคุณอาจจะต้องวุ่นวายกับการยื่นภาษีมากกว่าเดิม ฉะนั้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ก่อนยื่นภาษีเราอยากให้คุณเก็บรักษาใบ 50 ทวิให้ดีที่สุด เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องเจอกับเรื่องน่าปวดหัวทีหลัง
6. ใบ 50 ทวิ ต้องได้เมื่อไหร่?
ระยะเวลาการได้รับหนังสือรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย นั้นขึ้นอยู่กับว่า คุณมีรายได้ในรูปแบบไหน เช่น
-
ทำงานประจำที่เดิมตลอด 1 ปี ไม่มีเปลี่ยนงาน
ถ้าคุณเป็นพนักงานประจำที่ทำงานบริษัทหรือองค์กรเดิมตลอดปี ไม่มีการเปลี่ยนงานระหว่างปี กฎหมายกำหนดให้ นายจ้างหรือบริษัทจะต้องออกใบ 50 ทวิ ให้ลูกจ้างภายในวันที่ 15 ก.พ. ปีถัดไป (อ้างอิง มาตรา 50 ทวิ (2) ประมวลรัษฎากร)
-
กรณีเปลี่ยนงานระหว่างปี
มนุษย์เงินเดือนที่เปลี่ยนงานระหว่างปี อาจจะคุ้นเคยกับการได้หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากที่ทำงานเดิมช่วงต้นปีถัดไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากคุณออกจากงานหรือเปลี่ยนงานระหว่างปี กฎหมายกำหนดให้ นายจ้างหรือบริษัทจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน (อ้างอิง มาตรา 50 ทวิ (2) ประมวลรัษฎากร)
-
อาชีพอิสระ หรือ รายได้อื่นๆ
กรณีนี้ คุณจะต้องได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินให้คุณ เพราะกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงิน (ผู้ว่าจ้าง) จะต้องออกใบหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้รับเงิน หรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทันที (อ้างอิง มาตรา 50 ทวิ (1),(3) ประมวลรัษฎากร) นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่คุณได้รับเงินค่าจ้าง คุณจะต้องได้ใบ 50 ทวิ คู่กันด้วยเสมอ
ย้ำอีกครั้งว่า หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ถือเป็นเอกสารสำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีง่ายขึ้น เพราะคุณสามารถนำตัวเลขที่ระบุในใบ 50 ทวิไปกรอกและยื่นแบบภาษีได้ทันที
และไม่ว่าคุณจะยังเป็นมือใหม่ในการยื่นภาษี หรือ ยื่นภาษีมาอย่างเชี่ยวชาญแล้วก็ตาม คุณสามารถเลือกยื่นภาษีผ่าน iTAX Pro ได้แล้ว (ฟรีทั้ง iOS และ Android เหมือนเดิม)