หากเราเป็นฝ่าย โอนเงินผิดบัญชี ให้ติดต่อธนาคารต้นทางของเรา เพื่อสอบถามเอกสารที่ต้องใช้สำหรับขอเงินคืน หากมีคนโอนเงินเข้ามาผิดบัญชี เราไม่ควรโอนเงินกลับเอง เพราะอาจจะเป็นกลลวงของมิจฉาชีพ
- เช็คใบสั่งออนไลน์ จ่ายค่าปรับจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- วิธีขึ้นรางวัลสลากดิจิทัล เมื่อถูกรางวัลสลาก 80 บาทที่ซื้อบนเป๋าตัง
โดยปกติ การโอนเงินผิดบัญชีสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ณ ขณะโอนเงินที่สาขาของธนาคาร โอนผ่านทางตู้ ATM หรือโอนผ่านแอป mobile banking ของธนาคารต่างๆ ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้ทำเอกสารเผยแพร่วิธีการดำเนินการที่ถูกต้องเมื่อเกิดกรณีโอนเงินผิดบัญชี โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
โอนเงินผิดบัญชี ต้องติดต่อธนาคารก่อนเสมอ
ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายโอนเงินหรือรับโอนเงิน หากเกิดเหตุโอนเงินผิดบัญชี โดยปกติแล้วธนาคารจะไม่มีอำนาจในการดึงเงินกลับคืนเข้าบัญชีต้นทางทันที ธนาคารจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับโอนผิดก่อน ดังนั้น จึงสามารถสรุปแนวทางการดำเนินการหากมีการโอนเงินผิดได้เป็น 2 กรณี
1. เราเป็นฝ่ายโอนเงินผิดบัญชี – เราโอนเงินเข้าบัญชีปลายทางให้ผิดคน
ปลายทางเป็นคนรู้จักของเราอยู่แล้ว
หากเราโอนเงินผิดบัญชีไปบัญชีคนรู้จัก เช่น โอนหาญาติหรือเพื่อนที่สนิทกัน คุณสามารถพูดคุยเพื่อขอให้เขาโอนเงินคืนกลับมาให้ได้เลย
ปลายทางเป็นบุคคลแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก
หากเราโอนเงินผิดบัญชีไปบัญชีให้คนที่ไม่รู้จักกัน ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
- เตรียมข้อมูลเบื้องต้น เช่น
- วันเวลาที่โอนเงินผิด
- จำนวนเงินที่โอนผิด
- ช่องทางการโอนเงิน
- สลิปใบบันทึกรายการจากตู้ ATM
- สลิปโอน (e-slip) จากแอป mobile banking ของธนาคาร
- ติดต่อธนาคารต้นทางที่คุณเป็นเจ้าของบัญชีที่โอนเงินออก เพื่อให้ข้อมูลสำหรับทำเรื่องขอเงินคืนจากบัญชีปลายทาง
- สอบถามเอกสารที่ธนาคารจำเป็นต้องใช้ เนื่องจากแต่ละธนาคารอาจใช้เอกสารไม่เหมือนกัน เช่น ใบคำร้องขอตรวจสอบการโอนเงินผิดบัญชี สำเนาบัตรประชาชน หรือกรณีโอนเงินผิดไปต่างธนาคาร ธนาคารบางแห่งอาจขอใบแจ้งความจากสถานีตำรวจเป็นหลักฐาน
- เมื่อธนาคารรับเรื่องและรับเอกสารหลักฐานทั้งหมดแล้ว ธนาคารจะดำเนินการติดต่อกับติดต่อบัญชีปลายทางเพื่อให้ความยินยอมโอนเงินคืนกลับมาต่อไป โดยจะแจ้งระยะเวลาการดำเนินการให้ทราบว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่
กรณีผู้รับโอนยินยอมคืนเงิน
- ธนาคารจะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับเรา
กรณีผู้รับโอนปฏิเสธไม่ยินยอมคืนเงินให้หรือติดต่อผู้รับโอนไม่ได้
- ให้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อออกคำสั่งทางกฎหมายให้ธนาคารฝั่งผู้รับโอนอายัดบัญชีปลายทาง หรือเปิดเผยข้อมูลบัญชีปลายทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
2. มีคนอื่นโอนเงินผิดบัญชี เข้าบัญชีเรา – เขาโอนเงินเข้าบัญชีปลายทางให้ผิดคน
ต้นทางเป็นคนรู้จักของเราอยู่แล้ว
หากคนรู้จักโอนเงินผิดบัญชีมาให้บัญชีเรา เช่น ญาติหรือเพื่อนที่สนิทกันโอนมาหาคุณ คุณสามารถพูดคุยเพื่อดำเนินการโอนเงินคืนกลับไปให้เจ้าของบัญชีได้เลย
ต้นทางเป็นบุคคลแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก
หากเป็นคนที่ไม่รู้จักกันโอนเงินผิดบัญชีเข้าบัญชีของเรา ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
- ห้ามโอนเงินกลับเองโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะเป็นแผนของมิจฉาชีพที่ใช้บัญชีของคุณเป็นทางผ่านสำหรับโอนเงินผิดกฎหมาย หรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟอกเงิน ทำให้บัญชีของคุณกลายเป็น “บัญชีม้า” โดยไม่ตั้งใจ
- ติดต่อธนาคารของคุณโดยตรง เพื่อตรวจสอบก่อนว่ามีเงินโอนเข้ามาผิดบัญชีจริงหรือไม่
กรณีคุณยินยอมคืนเงิน
- หากพบว่าเงินที่โอนเข้ามาผิดบัญชีจริง คุณสามารถให้ความยินยอมแก่ธนาคารของคุณเพื่อโอนเงินกลับไปให้เจ้าของบัญชีต่อไป
กรณีคุณปฏิเสธไม่ยินยอมคืนเงินหรือเพิกเฉย
- หากคุณเพิกเฉยไม่ให้ความยินยอมหรือนำเงินที่โอนมาผิดไปใช้ เจ้าของเงินสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้เช่นกัน
ข้อควรระวังกรณีมีคนอื่นโอนเงินผิดเข้าบัญชีเรา
ธนาคารแห่งประเทศไทยย้ำเตือนว่า หากเป็นบัญชีของคนไม่รู้จักโอนเข้าผิดบัญชีมาหาคุณ คุณไม่ควรโอนเงินกลับเอง เพราะอาจเป็นกลลวงของมิจฉาชีพที่จะใช้บัญชีเราเป็นทางผ่านในการโอนเงินผิดกฎหมาย หรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟอกเงิน ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “บัญชีม้า” ก็เป็นได้ โดยมิจฉาชีพจะขอให้โอนเงินเข้าอีกบัญชีหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นคนละธนาคาร คนละชื่อบัญชี โดยอ้างเหตุผลว่าโอนผิดบัญชีไปแล้ว ไหนๆ จะต้องโอนเงินใหม่ ก็ฝากให้เราช่วยโอนเลยแล้วกัน ทำให้คุณทำเรื่องผิดกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ