โครงสร้างราคาน้ำมัน ประกอบด้วย ราคาหน้าโรงกลั่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนอนุรักษ์พลังงาน ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และค่าการตลาด
- ภาษีลาภลอย คืออะไร? “คลัง” พิจารณาแนวทางจัดเก็บอีกครั้ง
- ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) 40% ประกาศเป็นกฎหมายแล้ว
โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง มีภาษีอะไรบ้าง? ประชาชนอาจสงสัยว่า “ทำไมน้ำมันแพง” ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล ที่ขายในราคาปลีกหน้าปั๊มประกอบด้วยภาษีและต้นทุนต่างๆ หลายรายการ ดังนี้
โครงสร้างราคาน้ำมัน ของประเทศไทยประกอบด้วยต้นทุนอะไรบ้าง?
- ราคาหน้าโรงกลั่น – ประเทศไทยอ้างอิงจากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นของตลาดสิงคโปร์ ซึ่งมาจากต้นทุนน้ำมันดิบ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของโรงกลั่น
- ภาษีสรรพสามิต – เป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงโดยกรมสรรพสามิต โดยอัตราภาษีจะเป็นไปตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันแต่ละชนิด
- ภาษีบำรุงเทศบาล – เป็นภาษีที่ต้องจ่ายให้หน่วยงานท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร เทศบาล ตามที่หน่วยงานท้องถิ่นนั้นประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2497 ซึ่งโดยปกติจะคิดในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง – มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น น้ำมันบางชนิดอาจถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราสูง ในขณะที่น้ำมันบางชนิดนอกจากจะไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ แล้ว ยังอาจได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ ด้วย
- กองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน – มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งโดยปกติจะจัดเก็บในอัตราลิตรละ 0.0050 บาท
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) – เป็นภาษีการบริโภคที่จัดเก็บเมื่อมีการขายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยกรมสรรพากร ซึ่งในโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีการเรียกเก็บ VAT 7% จากราคาขายส่งครั้งแรกและเรียกเก็บ VAT เพิ่มเติมอีกครั้งตอนขายปลีกจากโดยจะคำนวณ VAT 7% จากค่าการตลาด
- ค่าการตลาด – กำไรของผู้ประกอบการธุรกิจค้าน้ำมัน
ตัวอย่างการคำนวณ โครงสร้างราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ โครงสร้างราคาน้ำมันอาจเปลี่ยนแปลงได้เป็นรายวันเนื่องจากปัจจัยต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น
- ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
- การปรับอัตรากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
- การอุดหนุนชดเชยโดยภาครัฐ
- ภาษีมูลค่าเพิ่มที่สามารถเปลี่ยนแปลงตามราคาขายส่ง-ปลีก เป็นต้น
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จะเผยแพร่โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงรายวัน ซึ่งจัดทำขึ้นเผยแพร่ให้สาธารณะใช้เพื่อการอ้างอิง โดยสามารถยกตัวอย่างโครงสร้างราคาน้ำมันจนเป็นราคาขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันได้ดังนี้
ตัวอย่างวิธีคำนวณราคาขายปลีก: ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ขายปลีก 41.28 บาท/ลิตร (8 กรกฎาคม 2565)
ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ขายปลีก 41.28 บาทต่อลิตร ประกอบด้วยต้นทุนดังต่อไปนี้
- ราคาหน้าโรงกลั่น 27.1242 บาท
- ภาษีสรรพสามิต 5.8500 บาท
- ภาษีบำรุงเทศบาล 0.5850 บาท
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 0.0900 บาท
- กองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.0050 บาท
- ภาษี VAT ขายส่ง 2.3558 บาท
- ค่าการตลาด 4.9253 บาท
- ภาษี VAT ขายปลีก 0.3448 บาท
ข้อสังเกต
- ต้นทุนจาก 1 – 5 รวมแล้วจะคำนวณเป็นราคาขายส่ง 33.6542 บาท ซึ่งจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากราคาขายส่ง คำนวณได้ 2.3558 บาท ดังนั้น ราคาขายส่งแบบรวม VAT แล้ว กลายเป็น 36.0100 บาท
- ค่าการตลาด 4.9253 บาท เป็นฐานสำหรับคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตอนขายปลีก ซึ่งจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากค่าการตลาด คำนวณได้ 0.3448 บาท ซึ่งทั้งค่าการตลาดและภาษี VAT ขายปลีก จะนำไปรวมกับราคาขายส่งแบบรวม VAT แล้ว กลายเป็น ราคาขายปลีก 41.28 บาทต่อลิตร
ตัวอย่างวิธีคำนวณราคาขายปลีกแบบได้รับการอุดหนุนราคาน้ำมัน: ราคาน้ำมันดีเซล ขายปลีก 34.94 บาท/ลิตร (8 กรกฎาคม 2565)
ราคาน้ำมันดีเซล ขายปลีก 34.94 บาทต่อลิตร ประกอบด้วยต้นทุนดังต่อไปนี้
- ราคาหน้าโรงกลั่น 32.8258 บาท
- ภาษีสรรพสามิต 1.3400 บาท
- ภาษีบำรุงเทศบาล 0.1340 บาท
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง -5.5600 บาท (ได้รับการชดเชยราคาน้ำมัน)
- กองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.0050 บาท
- ภาษี VAT ขายส่ง 2.0121 บาท
- ค่าการตลาด 3.9094 บาท
- ภาษี VAT ขายปลีก 0.2737 บาท
ข้อสังเกต
- ต้นทุนจาก 1 – 5 รวมแล้วจะคำนวณเป็นราคาขายส่ง 28.7448 บาท ซึ่งจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากราคาขายส่ง คำนวณได้ 2.0121 ดังนั้น ราคาขายส่งแบบรวม VAT แล้ว กลายเป็น 30.7570 บาท
- ค่าการตลาด 3.9094 บาท เป็นฐานสำหรับคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตอนขายปลีก ซึ่งจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากค่าการตลาด คำนวณได้ 0.2737 บาท ซึ่งทั้งค่าการตลาดและภาษี VAT ขายปลีก จะนำไปรวมกับราคาขายส่งแบบรวม VAT แล้ว กลายเป็น ราคาขายปลีก 34.94 บาทต่อลิตร
- แม้ว่าต้นทุนน้ำมันดิบของน้ำมันดีเซลแพงกว่าน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ แต่เนื่องจากได้รับการชดเชยราคาน้ำมัน ประกอบกับมีค่าการตลาดที่ต่ำกว่า ทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลถูกกว่าน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์