นายกฯ สั่งลุย เก็บภาษี สินค้านำเข้า ทุกชิ้นแม้ราคาไม่เกิน 1,500 บาท สกัดสินค้าต่างชาติทะลัก สร้างความเป็นธรรมให้ SME ไทย คาดกำหนดให้แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์เป็นผู้นำส่งภาษี ร่างกฎหมายเตรียมบังคับใช้ภายใน พ.ค. 2567 ขอให้กระทรวงการคลังทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูผลกระทบ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
- ครม.เห็นชอบ ยกเว้นภาษี โทเคนดิจิทัล เพื่อการลงทุน
- นำ รายได้จากต่างประเทศ เข้าไทยปีไหนเสียภาษีปีนั้น เริ่ม 1 ม.ค.67
2 เมษายน 2567 – นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตนได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง เร่งดำเนินการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่นำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท จากเดิมที่ไม่มีการเรียกเก็บเพราะได้รับยกเว้นภาษี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในไทยที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าต่างประเทศทะลักเข้ามาในไทยโดยไม่ต้องเสียภาษีเหมือนผู้ประกอบการในประเทศ ทั้งนี้ ตนได้ขอให้กระทรวงการคลังทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูผลกระทบ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
นายกฯ มอบ รมช.คลัง เก็บภาษี สินค้านำเข้า ราคาไม่เกิน 1,500 คาดมีผล พ.ค.นี้
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เร่งศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในเรื่องนี้ ไม่ให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่ต้องไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังจะดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้า โดยไม่มีข้อยกเว้นสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาและทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อยในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาตามข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศกำหนดกติกาสำหรับการส่งสินค้าข้ามพรมแดน โดยให้ยกเว้นการเก็บภาษีอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าระหว่างประเทศ
“ในขณะอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้จะเริ่มมีการเก็บภาษี VAT ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อสร้างบรรยากาศการค้าที่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการภายในประเทศหรือต่างประเทศที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเดียวกัน”
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ขายในต่างประเทศกับผู้ขายในประเทศไทย ทั้งในแง่การแข่งขันและการจัดเก็บภาษี โดยยังคงหลักการการอำนวยความสะดวกให้แก่การค้าระหว่างประเทศเอาไว้
คาดให้เก็บ VAT ผ่านแพลตฟอร์มขายของออนไลน์
นอกจากนี้ ปัจจุบัน กรมสรรพากรอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ในประเทศ และต่างประเทศที่ผู้ขายในต่างประเทศขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม เพื่อให้การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามแนวทางนี้เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและสอดคล้องกันกับกลไกการเก็บภาษีขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ (OECD) โดยการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านแพลตฟอร์ม (Vendor Collection Model) ให้แพลตฟอร์มเป็นผู้จัดส่งภาษีให้รัฐ ซึ่งเป็นกลไกที่ทั่วโลกเริ่มบังคับใช้เพื่อรองรับการขยายตัวของ e-commerce
ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรจะนำเสนอกฎหมายกำหนดให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มในประเทศ และแพลตฟอร์มต่างประเทศ รวมถึงบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนดมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากการขายสินค้าที่มีมูลค่าต่ำของผู้ขายในต่างประเทศให้แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย เพื่อนำส่งให้แก่กรมสรรพากรเป็นรายเดือนเช่นเดียวกันกับการขายสินค้าของผู้ขายในประเทศไทย
“กรอบระยะเวลาการดำเนินการว่ากรมสรรพากรจะนำเสนอร่างกฎหมายต่อกระทรวงการคลังในเดือนพฤษภาคม 2567 เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป และในระหว่างที่รอขั้นตอนตามกฎหมายของกรมสรรพากรนั้น กระทรวงการคลังจะมีมาตรการในการจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำผ่านกรมศุลกากร”
ส่วนสินค้าที่มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท โดยไม่ผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ แต่เข้ามาทางหน้าด่านของกรมศุลกากร ก็ต้องเก็บภาษีที่หน้าด่าน